backup og meta

รักการอ่าน ประโยชน์ และวิธีฝึกลูกให้รักการอ่าน

รักการอ่าน ประโยชน์ และวิธีฝึกลูกให้รักการอ่าน

การอ่าน เป็นหนึ่งในวิธีส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย ระบบประสาทและสมอง สติปัญญา จิตใจและอารมณ์ ที่เหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันด้วย ยิ่งคุณพ่อคุณแม่ฝึกให้ลูก รักการอ่าน ได้เร็วเท่าใด ก็อาจยิ่งส่งผลให้ลูกมีสุขภาพดี และใช้ชีวิตในสังคมได้ง่ายขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การฝึกทักษะการอ่านให้ลูกอาจต้องคำนึงถึงช่วงวัยและความสนใจของลูกด้วย เพื่อให้ลูกรู้สึกสนุกกับการอ่าน ไม่รู้สึกกดดันเกินไป และรักการอ่านได้ในที่สุด

ประโยชน์ของการรักการอ่าน

การฝึกให้ลูกรักการอ่าน อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพและทักษะในการใช้ชีวิตของลูก ดังนี้

ช่วยส่งเสริมการทำงานของสมองและระบบประสาท

เด็กที่อ่านหนังสือเป็นประจำ อาจมีพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทที่เติบโตสมวัย โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Brain Connectivity เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลระยะสั้นและระยะยาวของการอ่านนวนิยายต่อการทำงานของสมอง โดยให้กลุ่มตัวอย่างเข้ารับการสแกนสมอง จากนั้นหยุดอ่านหนังสือใด ๆ เป็นเวลา 5 วัน ก่อนจะเริ่มอ่านนิยายวันละ 1/9 ของเนื้อหาทั้งหมดในช่วงเย็นติดต่อกันเป็นเวลา 9 วัน เมื่ออ่านนิยายจบแล้ว ก็ให้หยุดอ่านอีก 5 วัน ผลปรากฏว่า สมองแต่ละส่วนสามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้ดีขึ้น โดยเฉพาะสมองที่เกี่ยวข้องกับการจับใจความ และความสามารถในการเข้าใจทัศนะผู้อื่น (Perspective-taking) ซึ่งความสามารถดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่อาจทำให้ลูกรู้จักใส่ใจหรือเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น

ช่วยให้ลูกเรียนรู้คำศัพท์ได้ดีขี้น

การอ่านหนังสือเป็นประจำและหลากหลาย อาจช่วยให้ลูกได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ และมีคลังคำศัพท์ไว้ใช้ติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรียกได้ว่า ยิ่งอ่านมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีคำศัพท์ในคลังมากเท่านั้น โดยงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Learning Disabilities เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 ทำการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของการอ่านจับใจความและการอ่านหนังสือเป็นประจำต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้คำศัพท์ในเด็กและวัยรุ่น อายุ 8-16 ปี พบว่า เด็กที่อ่านหนังสือเป็นประจำ โดยเริ่มฝึกตั้งแต่ยังเด็ก และอ่านแบบจับใจความได้คล่อง สามารถเรียนรู้และจดจำคำศัพท์ได้ดีและหลากหลายกว่าเด็กที่อ่านจับใจความไม่เก่ง และคำศัพท์ที่เด็กกลุ่มนี้รู้ยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหลายด้าน ทั้งการทำข้อสอบ การสมัครเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา การสมัครงาน เป็นต้น

ช่วยให้ลูกนอนหลับได้ง่ายขึ้น

หากคุณพ่อคุณแม่งดให้ลูกจ้องหน้าจอมือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ตก่อนนอน แล้วหันมาอ่านหนังสือแทน เช่น อ่านนิทานก่อนนอน อาจทำให้ลูกนอนหลับได้ง่ายขึ้น เนื่องจากการอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลาย และเมื่อให้ลูกอ่านหนังสือก่อนนอนจนติดเป็นนิสัย อาจช่วยปรับนาฬิกาชีวภาพในร่างกายของลูกให้สมดุลขึ้น ทำให้สมองรับรู้ว่าถึงเวลานอนแล้ว ต่างจากการจ้องหน้าจอก่อนนอน ที่อาจทำให้ลูกนอนหลับยาก เนื่องจากแสงจากหน้าจออาจส่งผลให้สมองหลั่งสารเมลาโทนินได้น้อยลง เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เมื่อร่างกายมีระดับเมลาโทนินสูงจะช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น และนอนหลับได้นานขึ้น

ช่วยคลายเครียด

การอ่านนอกจากจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกได้แล้ว ยังอาจช่วยคลายเครียดได้ด้วย โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of College Teaching and Learning เมื่อปี พ.ศ. 2552 ทำการศึกษาการจัดการความเครียดด้วยการเล่นโยคะ การเสพสื่อตลก และการอ่านหนังสือ ของนักเรียนนักศึกษา ผลการศึกษาพบว่า การอ่านหนังสือ 30 นาที มีประสิทธิภาพในการช่วยลดระดับความดันโลหิต ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และคลายเครียดได้เทียบเท่ากับการเล่นโยคะและเสพสื่อตลก

พัฒนาการด้านการอ่านของเด็กแต่ละช่วงวัย

โดยปกติแล้ว เด็กแต่ละช่วงวัย ควรมีพัฒนาการหรือทักษะด้านการอ่านดังต่อไปนี้

เด็กแรกเกิดจนถึง 18 เดือน

  • เข้าใจประโยคง่าย ๆ
  • ตามองหนังสือและพยายามเปิดหน้าหนังสือ
  • เลียนแบบการพูด
  • เด็กอายุประมาณ 1 ขวบ จะเริ่มพูดเป็นคำ ๆ ได้ เริ่มจำคำศัพท์ในหนังสือได้

เด็กอายุ 18 เดือนถึง 3 ปี

  • ชอบให้อ่านหนังสือเล่มเดิมให้ฟังบ่อย ๆ
  • พยายามพูดคำหรือประโยคจากหนังสือเล่มโปรด
  • เลียนแบบการออกเสียงของผู้ใหญ่
  • มักขอให้ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟัง
  • เด็กอายุประมาณ 2 ขวบ จะพูดได้ประมาณ 250-350 คำ หรือพูด 2 คำติดกันได้
  • เด็กอายุประมาณ 3 ขวบ จะพูดได้ประมาณ 800-1,000 คำ หรือเริ่มพูดเป็นวลีหรือประโยค

เด็กอายุ 3-5 ปี

  • จับหนังสือเป็น จับหนังสือถูกด้าน และเปิดหน้าหนังสือเองได้
  • ออกเสียงวรรณยุกต์ได้ถูกต้องมากขึ้น
  • พูดเป็นประโยคได้คล่องขึ้น
  • พยายามจดจำและเขียนตัวอักษรต่าง ๆ

วิธีฝึกให้ลูก รักการอ่าน

วิธีต่อไปนี้ อาจช่วยฝึกให้ลูกรักการอ่านได้

เริ่มฝึกให้ลูกรักการอ่านให้เร็วที่สุด

เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ทักษะการอ่านได้ตั้งแต่ยังเป็นทารก โดยคุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังช้า ๆ ด้วยเสียงดังฟังชัด และอ่านซ้ำหลาย ๆ รอบ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้คำศัพท์และวิธีออกเสียงคำศัพท์นั้น ๆ หนังสือที่เหมาะสำหรับเด็กทารก อายุ 1-12 เดือน ไปจนถึงวัยเตาะแตะ อายุ 1-3 ขวบ อาจเป็นหนังสือนิทานภาพ ที่มีรูปภาพชัดเจน สีสันสดใส ข้อความไม่ยาวเกินไป และในระหว่างอ่านหนังสือกับลูก แนะนำให้ใช้โทนเสียงที่หลากหลายและเหมาะสมกับตัวละครแต่ละตัว พร้อมกับชี้ให้ลูกดูตัวละครหรือสิ่งของต่าง ๆ ในหนังสือไปด้วย หากเป็นสัตว์ ก็อาจลองทำเสียงเลียนแบบสัตว์นั้น ๆ ให้ลูกฟัง หรือหากเป็นคำกิริยา ก็อาจแสดงท่าทางให้ลูกเห็นด้วย เพื่อดึงดูดความสนใจของลูก และทำให้เขาได้พัฒนาทักษะหลาย ๆ ด้านไปพร้อมกัน ทั้งการฟัง การมองเห็น การจดจำ เป็นต้น

เตรียมหนังสือไว้รอบบ้าน

การมีสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ วางไว้รอบบ้าน อาจช่วยให้ลูกคุ้นชินกับหนังสือมากขึ้น และหากคุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือเหล่านั้นให้ลูกเห็นบ่อย ๆ อาจช่วยให้ลูกรู้สึกว่าหนังสือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน และหยิบหนังสือที่วางไว้ในบ้านมาอ่านเองโดยไม่ต้องขอหรือบังคับให้ทำ แต่ทั้งนี้ อาจต้องเลือกหนังสือที่มีภาพและเนื้อหาเหมาะสมกับเด็กแต่ละวัยด้วย

สำหรับเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกหนังสือที่ทำจากผ้า หรือพลาสติก เพราะค่อนข้างทนแรงดึงหรือแรงกระชากของเด็กได้ดี จากนั้นอาจทำชั้นหนังสือเล็ก ๆ ที่มีสีสันสดใส ตกแต่งลวดลายการ์ตูนให้ลูก สีสันและลวดลายบนชั้นหนังสืออาจช่วยดึงดูดสายตาลูกได้ และทำให้พวกเขาหันมาหยิบจับหนังสือในชั้นไปเปิดดูหรือเปิดอ่านมากขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องแน่ใจว่าชั้นหนังสือสำหรับลูกติดตั้งอย่างแน่นหนา และทำจากวัสดุที่ปลอดภัย ไม่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เช่น ชั้นล้มทับลูก ลูกกระแทกขอบชั้น

สลับกันอ่านหนังสือบ้าง

หากลูกเริ่มอ่านออกเสียงได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจลองให้ลูกอ่านหนังสือให้ฟังบ้าง สำหรับเด็กเล็กอาจให้ชี้และอ่านออกเสียงเป็นคำ ๆ และค่อย ๆ ให้อ่านเป็นประโยคยาวขึ้นตามวัยของลูก และระหว่างอ่านหนังสือด้วยกัน อาจชวนลูกพูดคุยหรือถามคำถามเกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือ เช่น “หนูคิดว่าทำไมแมวถึงทำแบบนั้น” “ลูกคิดว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น” เพื่อให้ลูกได้ฝึกทักษะในการคิดวิเคราะห์ และฝึกจินตนาการไปด้วย

ให้ลูกฝึกอ่านจนเป็นกิจวัตรประจำวัน

การฝึกให้ลูกอ่านหนังสือบ่อยจนเป็นกิจวัตร อาจทำให้ลูกรักการอ่านได้ในที่สุด ในช่วงแรก คุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูกอ่านหนังสือเป็นเวลาสัก 15 นาทีก่อนนอน หรือชวนลูกอ่านหนังสือตอนนั่งรถ ก่อนจะค่อย ๆ เพิ่มช่วงเวลาและระยะเวลาในการอ่านหนังสือให้มากขึ้น และในระหว่างชวนลูกอ่านหนังสือ ควรจำกัดสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจของลูกและตัวเองด้วย เช่น ควรปิดทีวี ไม่เล่นมือถือระหว่างอ่านหนังสือ เพื่อให้ลูกมีสมาธิและจดจ่อกับการอ่านหนังสือที่สุด

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

5 Benefits of reading as little as 20 pages per day. https://www.sacap.edu.za/blog/applied-psychology/benefits-of-reading/. Accessed February 9, 2022

Effects of a Novel on Connectivity in the Brain. https://www.liebertpub.com/doi/10.1089/brain.2013.0166. Accessed February 9, 2022

Reading and Health Benefits. https://www.researchgate.net/publication/329601541_Reading_and_Health_Benefits. Accessed February 9, 2022

Sleep tips: 6 steps to better sleep. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/in-depth/sleep/art-20048379. Accessed February 9, 2022

Bedtime mobile phone use and sleep in adults. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0277953615302458. Accessed February 9, 2022

Matthew effects in young readers: reading comprehension and reading experience aid vocabulary development. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21772058/. Accessed February 9, 2022

Stress Management Strategies For Students: The Immediate Effects Of Yoga, Humor, And Reading On Stress. https://www.researchgate.net/publication/229431397_Stress_Management_Strategies_For_Students_The_Immediate_Effects_Of_Yoga_Humor_And_Reading_On_Stress. Accessed February 9, 2022

How to teach your child to love reading. https://www.unicef.org/parenting/child-care/teach-your-child-to-love-reading. Accessed February 9, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

21/03/2022

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เล่านิทาน ให้ลูกฟังก่อนนอน มีประโยชน์อย่างไร

สไตล์การเรียนรู้ คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อเด็ก ๆ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 21/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา