backup og meta

เกมสำหรับเด็ก วัยเรียน เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการอย่างเหมาะสม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/06/2022

    เกมสำหรับเด็ก วัยเรียน เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการอย่างเหมาะสม

    เด็กวัยเรียนเป็นวัยที่เหมาะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เนื่องจากสมองและร่างกายกำลังพัฒนาอย่างเต็มที่ นอกจากการเรียนหนังสือแล้ว การให้เด็กได้ทำกิจกรรมอย่าง เกมสำหรับเด็ก ที่เหมาะกับเด็กวัยเรียน เช่น เกมเก้าอี้ดนตรี เกมวิ่งไล่จับ เกมซ่อนหา เกมต่อจิกซอว์ ยังมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย กระตุ้นพัฒนาการและการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น ทักษะด้านสังคม ทักษะด้านความคิด ของเด็กได้เป็นอย่างดี ทั้งยังให้ความเพลิดเพลินและช่วยให้เด็กได้คลายเครียดด้วย โดยเด็กจะเริ่มเล่นรวมกับผู้อื่นได้ตั้งแต่อายุ 3 ปี และเริ่มเล่นอย่างมีกติกาได้ตั้งแต่อายุ 5 ปี

    เกมสำหรับเด็ก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กวัยเรียน

    เกมสำหรับเด็ก ที่อาจช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กวัยเรียนได้ อาจมีดังนี้

    1. เกมที่ช่วยเสริมสร้างทักษะการเข้าสังคม

    เด็กในวัยเรียนมักเข้าสังคมและใช้เวลาร่วมกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ การเล่นเกมร่วมกันจะทำให้เด็กได้เรียนรู้กฎระเบียบข้อตกลงที่มีร่วมกันในสังคม ได้ฝึกการใช้เหตุผลเมื่ออยู่ในสังคม และเรียนรู้ที่จะยอมรับผลแพ้ชนะผ่านการเล่นเกม เกมที่อาจช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านสังคมให้กับเด็ก มีดังนี้

    เกมส่งต่อมันร้อน

    ให้เด็ก ๆ นั่งล้อมวงกันเป็นวงกลมพร้อมเปิดเพลงประกอบ จากนั้นให้เด็กผลัดกันส่งต่อมันร้อน (อาจเป็นลูกบอลหรือกระดาษที่ขยำเป็นก้อนกลม) ไปให้คนข้าง ๆ เรื่อย ๆ ให้เร็วที่สุด จนกว่าเสียงดนตรีจะหยุด หากเพลงหยุดแล้วผลมันร้อนอยู่ที่ใคร คนนั้นต้องออกจากวงกลมไป เล่นไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเหลือผู้เล่นคนสุดท้าย ซึ่งจะกลายเป็นผู้ชนะของเกมนี้

    เกมเก้าอี้ดนตรี

    เป็นเกมที่ใช้อุปกรณ์เป็นเก้าอี้และเสียงเพลง โดยจัดวางเก้าอี้หลายตัวเป็นวงกลม หันส่วนที่นั่งออกด้านนอกในลักษณะที่หันหลังชนกันเป็นวงกลม ให้เก้าอี้มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนผู้เล่น 1 คน เมื่อเสียงเพลงดังขึ้น ให้ทุกคนเดินเป็นวงกลมรอบ ๆ เก้าอี้ หรือใครจะเต้นก็ได้ เมื่อเพลงหยุด ผู้เล่นต้องนั่งเก้าอี้ตัวที่ว่างอยู่ให้ทัน หากใครไม่สามารถแย่งเก้าอี้ได้ทัน ก็ต้องออกจากการเล่นเกมในรอบนั้นไป ในแต่ละรอบจะต้องเก็บเก้าอี้ออกไป 1 ตัว และเกมจะดำเนินไปในลักษณะนี้เรื่อย ๆ จนกระทั่งเหลือผู้เล่น 2 คนสุดท้ายและเหลือเก้าอี้เพียงแค่ 1 ตัว หากใครสามารถนั่งเก้าอี้ตัวสุดท้ายได้จะถือเป็นผู้ชนะ

    2. เกมที่เสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย

    เกมสำหรับเด็ก ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายสำหรับเด็กวัยเรียนมีทั้งเกมในร่มและกลางแจ้ง คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนให้เด็ก ๆ ได้วิ่งเล่นอย่างอิสระ เพราะนอกจากจะเพลิดเพลินแล้ว ยังทำให้เด็กได้ออกกำลังกาย ได้ขยับร่างกายทุกส่วน ช่วยพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะในการเคลื่อนไหวและการทรงตัว แถมเด็กยังได้สานสัมพันธ์กับเพื่อนในวัยเดียวกัน เกมที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายให้กับเด็กวัยเรียน มีดังนี้

    เกมซ่อนหา

    เกมนี้แบ่งออกเป็นฝ่ายหาและฝ่ายซ่อน เริ่มจากเลือกสถานที่เล่นที่มีพื้นที่และมุมในการซ่อนตัวเยอะ แล้วให้เป่ายิงฉุบว่าใครจะเป็นฝ่ายหา โดยจะมีฝ่ายหา 1 คน ส่วนคนที่เหลือจะเป็นฝ่ายซ่อน เมื่อได้ฝ่ายหาแล้วให้ฝ่ายหานับถอยหลังตามเวลาที่กำหนด อาจจะนับถอยหลังจาก 50 ไปจนถึง 1 เพื่อให้เวลาฝ่ายซ่อนไปซ่อนตัวตามที่ต่าง ๆ คนที่ถูกหาเจอเป็นคนแรกก็ต้องมาเป็นฝ่ายหาในตาต่อไป อย่างไรก็ตาม ควรเล่นเกมนี้ในพื้นที่ที่ปลอดภัย ไม่เข้าไปซ่อนตัวในที่ลับตาคนหรือเสี่ยงอันตราย

    เกมวิ่งไล่จับ

    เกมสำหรับเด็ก แบบไทย ๆ ที่มีการละเล่นมาช้านาน มีวิธีการเล่นที่เข้าใจง่ายคือ ใครโดนแตะคนนั้นเป็นคนวิ่งไล่จับ เริ่มจากเป่ายิงฉุบหาคนที่จะเป็นผู้ไล่จับคนแรก เมื่อได้มาแล้วให้คนที่เป็นคนไล่จับวิ่งไปจับหรือแตะตัวเพื่อน เพื่อนคนไหนถูกจับหรือแตะตัว จะต้องเป็นคนวิ่งไล่คนต่อไป และจะไม่สามารถแตะคนที่ทำให้ตัวเองเป็นคนวิ่งไล่จับได้ ต้องไปแตะเพื่อนคนอื่น เกมสำหรับเด็กวัยเรียนเกมนี้สามารถเล่นได้เรื่อย ๆ ไม่กำหนดเวลา ส่วนใหญ่จะเลิกเล่นเมื่อทุกคนเหนื่อยจนไม่มีแรงเล่นแล้ว

    3. เกมที่เสริมสร้างพัฒนาการทางความคิดและสติปัญญา

    คุณพ่อคุณแม่อาจมองหาเกมที่ช่วยฝึกทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ ช่วยให้เด็กฝึกคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และเรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ทั้งยังอาจช่วยฝึกการทำงานประสานกันของมือและตาด้วย เกมที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางความคิดและสติปัญญาของเด็กวัยเรียน มีดังนี้

    เกมต่อจิกซอว์

    จิกซอว์เป็นเกมประกอบชิ้นส่วนของรูปภาพต่าง ๆ เช่น รูปการ์ตูนสัตว์ รูปสถานที่ จิกซอว์แต่ละชิ้นส่วนจะมีรูปร่างที่แตกต่างกัน แต่สามารถนำมาประกอบเข้าด้วยกันจนเป็นภาพขนาดใหญ่ได้อย่างพอดี การให้เด็กเล่นต่อจิกซอว์จะช่วยฝึกสมาธิได้ คุณพ่อคุณแม่อาจแนะนำวิธีการเล่นต่อจิกซอว์ให้เด็กคร่าว ๆ เพื่อให้เด็กเข้าใจวิธีการเล่น เมื่อเด็กเล่นเกมนี้บ่อย ๆ จะช่วยพัฒนาความคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลของเด็กได้

    เกมกระดานหรือบอร์ดเกม

    เกมกระดานสำหรับเด็ก เช่น เกมเศรษฐี เกมบันไดงู เกมกระดานสืบสวน มีระดับความยากง่ายในการเล่นหลายระดับ และแต่ละเกมมีวิธีการเล่นที่ไม่เหมือนกัน เหมาะสำหรับการพัฒนาทักษะด้านความคิดให้กับเด็ก ช่วยให้เด็กฝึกทักษะในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา รวมไปถึงฝึกการมีไหวพริบ การวางแผน และการตัดสินใจ ทั้งนี้ ควรเลือกเกมกระดานให้เหมาะสมกับอายุของเด็ก เด็กวัยเรียนอาจเหมาะกับเกมกระดานที่เข้าใจง่าย เล่นเพลิน ใช้เวลาไม่นาน เมื่อเล่นเก่งขึ้นหรือโตขึ้นแล้ว อาจค่อยเลื่อนระดับเป็นเกมวางแผนกลยุทธ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น

    ข้อแนะนำในการเล่น เกมสำหรับเด็ก อย่างปลอดภัย

    การดูแลให้เด็กเล่นเกมอย่างปลอดภัย อาจทำได้ดังนี้

  • ให้ความสนใจกับการทำกิจกรรมของเด็ก แต่ไม่ควรไปก้าวก่ายการละเล่นเกมของเด็กมากเกินไป เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ด้วยตัวเอง อีกทั้งการได้ฝึกทักษะใหม่ ๆ อาจช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เด็กได้ด้วย
  • ควรจัดเตรียมสภาพแวดล้อมของพื้นที่เล่นของเด็กให้สะอาดและปลอดภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
  • หากเกมที่เด็กเล่นมีอุปกรณ์ประกอบ ควรสอนให้เด็กใช้อุปกรณ์อย่างถูกวิธีและเก็บอุปกรณ์ให้เข้าที่หลังเล่นเสร็จทุกครั้ง เพื่อสร้างวินัยที่ดีและลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ
  • การเล่นนอกบ้านอาจเกิดอันตรายที่ไม่คาดคิดได้ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้เด็ก ๆ อยู่ด้วยกันตลอดเวลา ไม่แยกไปอยู่คนเดียว และควรกำหนดบริเวณที่สามารถออกไปเล่น อาจเป็นแค่บริเวณบ้านในละแวกใกล้เคียง ที่สามารถกลับมาที่บ้านได้สะดวก ในกรณีที่มีคนแปลกหน้าเข้ามาใกล้หรือมีคนได้รับบาดเจ็บ
  • เมื่อออกไปเล่นนอกบ้านในช่วงกลางวันที่มีแดดร้อนจัด ควรให้เด็กทาครีมกันแดดเสมอ โดยควรทาครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 30 เป็นอย่างต่ำ ก่อนออกแดดอย่างน้อย 15- 30 นาที และทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง หรือบ่อยกว่านั้นเนื่องจากเหงื่ออาจชะล้างครีมกันแดดออกได้
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา