backup og meta

เด็ก กับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    เด็ก กับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย

    เด็ก คือวัยที่เริ่มตั้งแต่ช่วงแรกเกิดไปจนถึงก่อนเข้าวัยแรกรุ่น หรืออายุต่ำกว่า 19 ปี โดยเด็กจะมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม วัยเด็กจึงเป็นวัยสำคัญที่ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ และได้ฝึกฝนทักษะเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่าง ๆ เป็นพิเศษ โดยการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กนั้นควรเริ่มตั้งแต่ในครอบครัว ด้วยการพูดคุย การเล่น การอ่านหนังสือ ดูแลโภชนาการ การออกกำลังกาย และการนอนหลับ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการตามช่วงวัยที่สมบูรณ์แข็งแรงมากขึ้น

    เด็ก และพัฒนาการแต่ละช่วงวัย

    เด็กทารก

    เด็กทารก (อายุแรกเกิดถึง 1 ปี) เป็นวัยที่เริ่มมีพัฒนาการทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคมตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนออกสู่โลกภายนอก

    พัฒนาการทางร่างกาย

    ทารกเริ่มพัฒนาร่างกายตั้งแต่ตอนปฏิสนธิและกลายเป็นตัวอ่อน โดยสมองจะพัฒนาเป็นอันดับแรก ตามด้วยอวัยวะภายในส่วนอื่น ๆ เช่น หัวใจ ตับ ไต ลำไส้ รวมถึงอวัยวะภายนอก เช่น แขน ขา ลำตัว ดวงตา ซึ่งอวัยวะเหล่านี้จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องในแต่ละสัปดาห์ของการตั้งครรภ์จนถึงครบกำหนดคลอด เมื่อทารกออกมาสู่โลกภายนอก ร่างกายก็ยังคงเจริญเติบโตและพัฒนาต่อไป ทั้งระบบภูมิคุ้มกัน ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ผม การเคลื่อนไหวและการทรงตัว ซึ่งพัฒนาการทางร่างกายเหล่านี้อาจจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือดูแลจากครอบครัวด้วย

    พัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์ และสังคม

    ในขณะที่เด็กอยู่ในครรภ์ อารมณ์ของแม่อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์ และสังคมของเด็ก เด็กจะรับรู้ถึงอารมณ์ของแม่ได้ ความไม่สบายของท่านั่งหรือท่านอนของแม่ และรับรู้ถึงการพูดคุย โดยเด็กอาจตอบสนองการสื่อสารและอารมณ์ด้วยพฤติกรรมการถีบ เตะ พลิกตัว หรือม้วนตัว

    เมื่อลืมตาดูโลก เด็กจะได้เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เช่น การคลาน การยิ้ม การโบกมือลา การพูดคุย การเดิน ซึ่งในช่วงวัยนี้ยังจำเป็นที่ต้องได้รับแรงสนับสนุนและความรักความอบอุ่นจากคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยส่งเสริมทักษะและการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ

    เด็กในช่วงขวบปีแรกชอบที่จะเรียนรู้ มีสมาธิในการมองไปรอบ ๆ มักหยิบสิ่งของเข้าปาก หรือออกสำรวจสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เด็กจะมีกระบวนการเรียนรู้ด้านความจำ ภาษา การคิด และการใช้เหตุผลง่าย ๆ เริ่มพูดคุยด้วยคำสั้น ๆ เช่น แม่ พ่อ มีพัฒนาการทางด้านสังคม เช่น การแสดงความรัก การกอด การไว้วางใจพ่อแม่ การเล่นหรือพูดคุยกับเด็กจึงช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านสังคมมากขึ้นได้

    เด็กวัยหัดเดินหรือเด็กก่อนวัยเรียน

    เด็กวัยหัดเดิน (อายุ 1-5 ปี) อัตรการพัฒนาทางร่างกายของเด็กวัยนี้อาจช้าลงเมื่อเทียบกับวัยทารก แต่พัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์และสังคมจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

    พัฒนาการทางร่างกาย

    เด็กวัยหัดเดินอายุระหว่าง 1-2 ปี จะเติบโตอย่างรวดเร็ว อาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 2-4 กิโลกรัม และส่วนสูงอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 8-12 เซนติเมตร จากนั้นอัตราการเติบโตจะช้าลงเมื่ออายุระหว่าง 2-5 ปี แต่ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การทรงตัว และการประสานงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่จะพัฒนามากขึ้น เช่น การใช้มือและนิ้วหยิบสิ่งของ การเดิน การวิ่ง

    พัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์ และสังคม

    เด็กวัยหัดเดินในช่วงอายุ 1-2 ปี จะจดจำผู้คนและสิ่งของรอบตัว รวมถึงจดจำเหตุการณ์ล่าสุดได้ดี เด็กจะเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมหรือการพูดของคนรอบข้าง มีจินตนาการมากขึ้น และเมื่ออายุ 2-5 ปี เด็กจะเริ่มมีทักษะทางความคิด ความเข้าใจ สามารถเรียนรู้ตัวอักษร ตัวเลข สีและสัญลักษณ์ได้มากขึ้น

    พัฒนาการทางอารมณ์และสังคมของเด็กวัยนี้ยังคงต้องได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว เด็กจะพัฒนาความสัมพันธ์และความรักกับคนในครอบครัว แต่ก็ต้องการความเป็นอิสระมากขึ้น เมื่อเข้าสู่อายุ 2-5 ปี เด็กมักเริ่มตัดสินใจด้วยตัวเอง ชอบทำอะไรด้วยตัวเอง รู้จักทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น เริ่มสร้างมิตรภาพกับเด็กคนอื่น และเริ่มรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เด็กจะเชื่อฟังกฎเกณฑ์จากพ่อแม่หรืออาจลองต่อต้านกฎเกณฑ์ และหากทำผิด เด็กจะเริ่มรู้สึกผิดกับการกระทำเหล่านั้นเริ่มเรียนรู้เหตุผลง่าย ๆ ได้

    เด็กวัยเรียน

    เด็กวัยเรียน (อายุ 6-12 ปี) ในช่วงวัยนี้พัฒนาการทางร่างกายจะเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดทั้งความสูง น้ำหนัก และรูปร่าง รวมถึงพัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์และสังคมด้วย เด็กจะเริ่มอยากเป็นจุดสนใจและต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อนมากขึ้น

    พัฒนาการทางร่างกาย

    การเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กวัยเรียนจะมั่นคงขึ้น และกล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น การประสานงานของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะมือและตา ความสมดุลของร่างกาย และความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออาจแตกต่างกันแล้วแต่บุคคล ส่วนพัฒนาการด้านส่วนสูง น้ำหนัก และรูปร่างก็อาจขึ้นอยู่กับพันธุกรรม โภชนาการ การนอนหลับอย่างพอเพียง และการออกกำลังกายที่อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก

    เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงบางคนอาจเริ่มมีพัฒนาการทางเพศเมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ เช่น เต้านมขยาย มีขนรักแร้ ขนหัวหน่าว ขนหน้าอก อัณฑะและองคชาตใหญ่ขึ้น (หากเด็กหญิงมีหน้าอกก่อน 8 ขวบ, เด็กชายมีอัณฑะใหญ่ขึ้นก่อน 10 ขวบ แนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์เพิ่มเติม)

    พัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์ และสังคม

    เด็กวัยเรียนจะเรียนรู้ทางภาษาและจดจำคำได้มากขึ้น จึงควรสอนเด็กวันนี้ด้วยประโยคที่เรียบง่ายแต่รูปประโยคครบถ้วน ในแต่ละประโยคอาจมีคำประมาณ 5-7 คำ จะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้และจดจำได้ดีขึ้น โดยใช้ภาษาตรงไปตรงมาอย่างสุภาพ เด็กวัยเรียนสามารถเรียนรู้หลักไวยากรณ์และการออกเสียงในประโยคที่ซับซ้อนได้มากขึ้นตามวัย การเปลี่ยนแปลงทางสติปัญญา อารมณ์และสังคมของเด็กนี้แต่ละคนอาจแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่มีพัฒนาการ ดังนี้

    เด็กอายุ 6-8 ปี อาจต้องการความเป็นอิสระจากพ่อแม่ เริ่มคิดถึงอนาคต อยากเป็นจุดสนใจ ให้ความสำคัญกับมิตรภาพ ต้องการการยอมรับจากผู้อื่น

    เด็กอายุ 9-12 ปี เริ่มมีมิตรภาพและความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงที่ซับซ้อนมากขึ้น เริ่มรู้สึกกดดันจากคนรอบข้าง รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายตัวเองเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เช่น เต้านมขยาย มีขนขึ้น ให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตามากขึ้น อยากเป็นอิสระจากครอบครัวมากขึ้น และให้ความสนใจกับสิ่งที่ตัวเองรู้สึกว่าสำคัญมากขึ้น

    แนวทางการเลี้ยงเด็ก

    การเลี้ยงเด็กแต่ละช่วงวัยอาจแตกต่างกัน ตามพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา แต่แนวทางการเลี้ยงเด็กดังต่อไปนี้อาจช่วยให้เด็กมีความสุข สุขภาพดี และมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่สมบูรณ์ตามวัย

    • แสดงความรัก ความอบอุ่น และความอ่อนโยนภายในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ เช่น การอุ้ม การกอด การบอกรักกันภายในครอบครัว ยินดีเมื่อเด็กทำดี เมื่อเด็กทำผิดก็ตักเตือนโดยไม่ใช้ความรุนแรง
    • ปลูกฝังให้แบ่งปันสิ่งของ หนังสือ ทำกิจกรรมร่วมกัน และพูดคุยกับเด็ก เพื่อให้เด็กมีส่วนร่วมและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว
      • เด็กทารก เช่น พูดคุยกับทารกอยู่เสมอ อ่านหนังสือการ์ตูนง่าย ๆ เปิดเพลงให้ทารกฟัง
      • เด็กก่อนวัยเรียน เช่น ร่วมอ่านหนังสือนิทานที่มีจำนวนคำไม่มาก มีภาพประกอบ พูดคุยและเล่นของเล่นด้วยกัน
      • เด็กวัยเรียน เช่น แนะนำหนังสือที่เกี่ยวกับการเรียนมากขึ้น แต่ควรเลือกให้เหมาะกับระดับชั้นเรียนของเด็ก หรืออาจแนะนำหนังสือผ่อนคลายสมองบ้าง พร้อมทั้งแบ่งเวลาพูดคุยกันในครอบครัว อาจถามถึงปัญหาที่โรงเรียนหรือแลกเปลี่ยนความสนใจกับเด็ก เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและรู้สึกมีส่วนร่วมกับทุกคนในครอบครัว
  • ส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก ทั้งโภชนาการ การออกกำลังกาย การนอนหลับอย่างพอเพียงมีประสิทธิภาพ ให้ความรู้เรื่องการใช้ชีวิตและความปลอดภัยในสังคม
    • เด็กทารก เช่น ไม่ควรวางสิ่งของที่ทารกสามารถหยิบเข้าปากได้ จนอาจเกิดทางเดินหายใจอุดกั้นในช่วง 6 เดือนแรก ควรให้ทารกกินนมแม่เป็นหลัก
    • เด็กก่อนวัยเรียน เช่น ส่งเสริมให้เด็กเล่นกับคนอื่น รู้จักแบ่งปัน และสร้างมิตรภาพ
    • เด็กวัยเรียน เช่น สอนให้เด็กรู้จักอันตรายบนท้องถนน การจราจร การดูแลร่างกายตนเอง ความสะอาด เช่น ล้างมือก่อนกินอาหาร
  • มีกิจวัตรประจำวันและกฎของบ้าน เพื่อฝึกให้เด็กมีระเบียบมากขึ้น
  • เด็กก่อนวัยเรียน ฝึกให้เด็กรู้จักกฎระเบียบ เช่น การดูโทรทัศน์เป็นเวลา เข้านอนให้เป็นเวลา เก็บของเล่นเข้าที่เมื่อเล่นเสร็จ
  • เด็กวัยเรียน อาจเพิ่มกฎระเบียบของบ้านที่ชัดเจนมากขึ้นตามวัย เช่น สามารถไปเล่นข้างนอกได้แต่ต้องกลับบ้านก่อน 6 โมงเย็น
  • สร้างวินัยให้เด็กอย่างเหมาะสม และไม่ใช้ความรุนแรง
    • เด็กก่อนวัยเรียน ฝึกให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เก็บจานของตัวเอง เก็บถุงขนมไปทิ้งในถังขยะ เก็บของเล่นที่เล่นเสร็จแล้ว
    • เด็กวัยเรียน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในบ้านอย่างชัดเจน ทั้งงานส่วนตัวและงานส่วนรวมของบ้าน เช่น ทำความสะอาดห้องนอน ช่วยดูแลผู้สูงอายุหรือดูแลน้องบ้างตามโอกาส ทำการบ้านเสร็จเรียบร้อยจึงจะได้เล่นตามที่ต้องการ เป็นต้น
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา