backup og meta

แม่ตีลูก มีผลเสียต่อลูกอย่างไร และควรสอนลูกอย่างไรเมื่อทำผิด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

    แม่ตีลูก มีผลเสียต่อลูกอย่างไร และควรสอนลูกอย่างไรเมื่อทำผิด

    การลงโทษลูกด้วยการตีอาจไม่ใช่วิธีที่ได้ผลดีเสมอไป หากพ่อหรือ แม่ตีลูก อาจส่งผลให้ลูกรู้สึกไม่ดีกับพ่อแม่แย่ลงหรือทำให้ความสัมพันธ์ห่างเหินกันได้ ทั้งยังอาจทำให้พ่อแม่รู้สึกเหนื่อยหน่าย เครียด เป็นกังวล หรือรู้สึกผิดกับการขู่หรือการตีลูกเมื่อลูกทำผิด หากเปลี่ยนจากการที่แม่ตีลูกมาเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีให้กับลูกและเรียนรู้วิธีรับมืออย่างถูกวิธีเมื่อลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม อาจช่วยให้ลูกมีพฤติกรรมดีขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ไม่กระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งภายในครอบครัว และลดผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กได้

    แม่ตีลูก มีผลเสียต่อลูกอย่างไร

    การลงโทษลูกด้วยการตีอาจทำให้ลูกรู้สึกกลัวได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถปรับปรุงพฤติกรรมของลูกให้ดีขึ้นในระยะยาวได้ นอกจากนี้ หากแม่ตีลูกเป็นประจำยังอาจทำให้เกิดความขัดแย้งภายในครอบครัวตามมาเรื่อย ๆ กระตุ้นให้ลูกมีพฤติกรรมฉุนเฉียว ท้าทาย ต่อต้าน ไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้เป็นไปตามที่พ่อแม่ต้องการ ซึ่งอาจกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง สุขภาพกายใจ และการเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตของลูกด้วย

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Family Psychology เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับการตีเด็กและผลลัพธ์ที่ตามมา โดยการเปรียบเทียบและรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยจำนวน 111 ฉบับ ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กจำนวน 160,927 คน พบว่า ยิ่งเด็กถูกผู้ปกครองสอนด้วยการตี เช่น ทุบหลัง ตีแขนหรือขา บ่อยเท่าไหร่ เด็กก็จะยิ่งมีแนวโน้มต่อต้านหรือขัดขืนมากขึ้นเท่านั้น ทั้งยังอาจมีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม พฤติกรรมรุนแรง ปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาด้านการคิดวิเคราะห์หรือการมีสมาธิจดจ่อ เพิ่มขึ้นด้วย

    วิธีสอนเมื่อลูกทำผิด และการรับมืออย่างเหมาะสม

    วิธีสอนเมื่อลูกทำผิดที่เหมาะสมอาจเริ่มจากการสร้างวินัยเชิงบวก (Positive Discipline) หรือการจัดการให้ลูกปรับปรุงตัวเมื่อมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น ทำลายข้าวของ ตีเด็กคนอื่น ขีดเขียนบนกำแพง ด้วยวิธีการสอนอย่างสร้างสรรค์ และปลูกฝังให้ลูกมีความรู้คิด แยกแยะสิ่งที่ดีและไม่ดี และแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งอาจทำได้ดังนี้

  • หากจำเป็น ให้พ่อแม่ใช้การลงโทษทางวินัย เช่น การกักบริเวณ การจำกัดสิทธิ์พิเศษอย่างการไปเที่ยวในวันหยุด การงดเล่นโทรศัพท์ แทนการทำโทษด้วยการตีลูก
  • การปล่อยให้ลูกได้ทำผิดพลาดบ้าง อาจช่วยให้ได้ลูกเรียนรู้บทเรียนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้นได้ เช่น หากลูกไม่ยอมทำการบ้านหรือไม่จัดกระเป๋าตามตารางสอน การปล่อยให้ลูกไปโรงเรียนในวันถัดไปทั้งอย่างนั้นก็อาจช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ผลจากการกระทำของตัวเอง และปรับปรุงตัวในภายหลังได้ ทั้งนี้พ่อแม่อาจยกเลิกสิทธิ์พิเศษบางอย่างควบคู่ไปด้วย เช่น ไม่อนุญาตให้ดูโทรทัศน์ตอนเย็น หรือไม่ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จนกว่าลูกจะทำการบ้านเสร็จ
  • พ่อแม่อาจเลือกเมินเฉยต่อพฤติกรรมไม่ดีที่ลูกกระทำเมื่อรู้สึกไม่ได้ดั่งใจ เช่น หากลูกลงไปนอนกับพื้นในที่สาธารณะเมื่อไม่ได้ของเล่นที่ต้องการ พ่อแม่อาจเลือกไม่สนใจแล้วปล่อยให้ลูกนอนอยู่เช่นนั้น แทนการตามใจและซื้อสิ่งของเล่นที่ลูกต้องการให้ เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าการแสดงออกเช่นนั้นไม่ทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ และอาจทำให้ลูกมีพฤติกรรมแย่ ๆ น้อยลง แต่ผู้ปกครองต้องเลือกเมินเฉยให้เหมาะสมกับการกระทำของลูกด้วยหากจะเลือกปฏิบัติตามวิธีนี้ เนื่องจากพฤติกรรมบางอย่างไม่สามารถถูกเพิกเฉยได้เนื่องจากจะเสริมสร้างการกระทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้นต่อไป เช่นลูกตีเพื่อน ลูกหยิบของของคนอื่น
  • หากลูกมีปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น ซนผิดปกติ ติดเกมจนไม่เรียนหนังสือ ใช้ยาเสพติด และพ่อแม่พยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นให้ลูกปรับพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นหรือลูกยังคงแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ ควรพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับลูกและรับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีรับมือกับปัญหาที่พบเมื่อกลับไปที่บ้าน
  • เด็กแต่ละคนมีลักษณะนิสัยและพื้นฐานอารมณ์ไม่เหมือนกัน จึงไม่อาจสั่งสอนหรือกล่อมเกลาเด็กทุกคนด้วยวิธีเดียวกันไปเสียทั้งหมดได้ พ่อแม่จำเป็นต้องเข้าใจและอดทน พยายามทำให้ลูกให้ความร่วมมือด้วยความเต็มใจ และคอยสอนและปลูกฝังพฤติกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัยให้ลูก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

    หากลูกอายุน้อยกว่า 3 ขวบ การลงโทษด้วยการตีอาจไม่ช่วยให้ลูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ปาอาหาร ตีหรือกัดคนอื่น เอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟ เนื่องจากลูกยังไม่เข้าใจเรื่องของเหตุและผลมากพอ และจะรับรู้ได้ถึงความเจ็บปวดที่ถูกตีเท่านั้น เมื่อลูกอายุเกิน 3 ขวบ จึงจะเริ่มเชื่อมโยงการกระทำและผลที่ตามมาได้บ้างแล้ว หากพ่อแม่อยากปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีให้กับลูกก็ควรเริ่มตั้งแต่ช่วงวัยนี้เป็นต้นไป เช่น ตั้งกฏระเบียบที่ใช้ร่วมกันภายในบ้านและยึดตามกฎนั้นอย่างเข้มงวด มีพฤิตกรรมที่ดีเพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกปฏิบัติตามจนเป็นนิสัย อาจช่วยฝึกให้ลูกเรียนรู้และมีพัฒนาการด้านพฤติกรรมและอารมณ์ที่เหมาะสมได้ นอกจากนี้ การเสริมแรงบวก เช่น การพูดชื่นชมเมื่อลูกช่วยเหลือผู้อื่น การให้รางวัลเมื่อลูกทำตัวดี อาจช่วยสร้างความพึงพอใจและชักจูงให้ลูกแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมซ้ำอีกจนพัฒนาเป็นนิสัยได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา