backup og meta

พินโดลอล (Pindolol)

ข้อบ่งใช้ พินโดลอล

พินโดลอลใช้สำหรับ

ใช้ยา พินโดลอล (Pindolol) เป็นยาเดี่ยว หรือร่วมกับยาชนิดอื่น เพื่อรักษาความดันโลหิตสูง การลดความดันโลหิตช่วยป้องกันเส้นเลือดในสมองแตก หัวใจวาย และโรคไต ยาพินโดลอลอยู่ในกลุ่มของยาที่เรียกว่าเบต้าบล็อกเกอร์ (beta-blocker) ยานี้ออกฤทธิ์โดยต้านผลของสารธรรมชาติในหัวใจและหลอดเลือด เช่น สารอิพีเนฟรีน ผลคือการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และความตึงเครียดของกล้ามเนื้อหัวใจจะลดลง

วิธีการใช้ยา พินโดลอล

รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือรับประทานเดี่ยวๆ ปกติแล้วจะรับประทาน 2 ครั้งต่อวัน หรือตามที่แพทย์สั่ง

ขนาดยาขึ้นอยู่กับโรคและการตอบสนองต่อการรักษา อาจใช้เวลา 1 ถึง 2 สัปดาห์ กว่าจะยาจะได้ผลอย่างเต็มที่ สิ่งสำคัญคือ ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าคุณจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม ผู้คนส่วนมากที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจะไม่ได้รู้สึกป่วย

ควรใช้ยานี้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด เพื่อช่วยเตือนความจำ รับประทานยานี้ในเวลาเดียวกันของทุกวัน

แจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการของคุณไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง (เช่น ผลความดันโลหิตในแต่ละวันยังคงสูงหรือเพิ่มขึ้น)

การเก็บรักษายาพินโดลอล

คุณควรเก็บยาพินโดลอลไว้ในอุณหภูมิห้อง รวมถึงเก็บให้พ้นจากแสงและความชื้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับยา คุณไม่ควรเก็บยาพินโดลอลไว้ให้ห้องน้ำหรือตู้เย็น ยาพินโดลอลแต่ละยี่ห้ออาจมีวิธีเก็บแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญคือการอ่านคำแนะนำการเก็บรักษายาบนฉลากผลิตภัณฑ์ หรือสอบถามเภสัชกร เพื่อความปลอดภัย คุณควรเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

คุณไม่ควรทิ้งยาพินโดลอลลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำอย่างนั้น ดังนั้น สิ่งสำคัญคือทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่จำเป็นต้องรับประทานอีกต่อไป ปรึกษาเภสัชกรเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีทิ้งยาอย่างปลอดภัย

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาพินโดลอล

ก่อนใช้ยาพินโดลอล แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากคุณแพ้ยาชนิดนี้ หรือยาต้านเบต้าชนิดอื่น เช่น ยาอะทีบูโทลอล (acebutolol) รวมถึงหากคุณมีอาการแพ้อื่นๆ ยาตัวนี้อาจมีส่วนผสมที่ไม่ได้ออกฤทธิ์ในการรักษา แต่อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้หรือปัญหาอื่นๆ ปรึกษาเภสัชกรเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติการเจ็บป่วย โดยเฉพาะปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรงเช่นภูมิแพ้ (anaphylaxis) ปัญหาในการหายใจเช่นหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive lung disease หรือ COPD) ถุงลมโป่งพอง (emphysema) โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronic bronchitis) ปัญหาการไหลเวียนโลหิต เช่น โรคเรเนาด์ (Raynaud’s disease) โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (peripheral vascular disease) เลือดไหลเวียนไปสู่หัวใจหรือสมองน้อย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองตีบชั่วคราว เบาหวาน โรคหัวใจเช่นหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย หัวใจเต้นช้า โรคไต โรคตับ ความผิดปกติทางจิตหรืออารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อบางชนิด เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperthyroidism) เนื้องอกบางชนิด เช่น ฟีโอโครโมไซโตมา (pheochromocytoma)

ยานี้อาจทำให้คุณวิงเวียนศีรษะ ง่วงซึมหรือมองเห็นไม่ชัดเจน แอลกอฮอล์หรือกัญชา อาจทำให้อาการของคุณรุนแรงยิ่งขึ้น อย่าขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยความตื่นตัว จนกว่าคุณจะแน่ใจว่าคุณสามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้อย่างปลอดภัย จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ ปรึกษาแพทย์หากคุณใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรค

เพื่อลดอาการวิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืด ค่อยๆ ลุกขึ้น เมื่อเปลี่ยนจากท่านั่งหรือท่านอนเป็นท่ายืน

ก่อนเข้ารับการผ่าตัด แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ หากคุณใช้ยานี้

น้อยครั้งที่ยานี้จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น จนทำให้เป็นโรคเบาหวาน หรืออาการของโรคเบาหวานแย่ลง แจ้งให้แพทย์ทราบทันที หากคุณมีอาการของระดับน้ำตาลในเลือดสูง เช่น อยากอาหารมากขึ้น หรือปัสสาวะบ่อยขึ้น

หากคุณเป็นเบาหวาน ยานี้จะไปบดบังอาการหัวใจเต้นแรงหรือเร็วขึ้น ที่มักจะเป็นอาการบ่งบอกถึงภาวะน้ำตาลต่ำ อาการของระดับน้ำตาลในเลือดต่ำอื่นๆ ได้แก่ วิงเวียนศีรษะ หรือเหงื่อออก ไม่ได้เป็นผลมาจากยานี้

การทำงานของไตจะลดลงเมื่อคุณมีอายุมากขึ้น ยานี้จะถูกขับออกโดยไตและตับ ดังนั้น ผู้สูงอายุอาจเสี่ยงที่จะมีผลข้างเคียงมากกว่า เช่น วิงเวียนศีรษะระหว่างใช้ยานี้

ระหว่างตั้งครรภ์ ควรรับประทานยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น ปรึกษาความเสี่ยงและข้อดีกับแพทย์

ยานี้ซึมเข้าสู่น้ำนม และมีผลข้างเคียงที่ไม่น่าพึงประสงค์ต่อทารก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ไม่มีการศึกษาในผู้หญิงที่เพียงพอ ที่จะระบุความเสี่ยงขณะใช้ยาพินโดลอล ระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เสมอ เพื่อชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ก่อนรับประทานยาพินโดลอล อ้างอิงจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ยาพินโดลอลจัดเป็นยากลุ่มเสี่ยงสำหรับสตรีมีครรภ์ประเภท B

ต่อไปนี้คือประเภทความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา

· A = ไม่เสี่ยง

· B = ไม่พบความเสี่ยงในงานวิจัยบางชนิด

· C = อาจจะมีความเสี่ยง

· D = มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง

· X = ห้ามใช้

· N = ไม่ทราบแน่ชัด

Side effects

ผลข้างเคียงของการใช้ยาพินโดลอล

คุณอาจเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม อ่อนแรงหรือคลื่นไส้ ขณะที่ร่างกายปรับตัวเข้ากับยานี้ หากอาการเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นหรือแย่ลง แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที

ยานี้อาจลดปริมาณเลือดที่ไหลเวียนไปสู่มือและเท้า ทำให้มือและเท้าเย็น การสูบบุหรี่อาจทำให้อาการเหล่านี้แย่ลง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และสวมเสื้อผ้าที่ทำให้อบอุ่น

โปรดระลึกไว้ว่า แพทย์ได้จ่ายยานี้เนื่องจากได้ตัดสินใจแล้วว่า นี่จะมีประโยชน์ต่อคุณ มากกว่าความเสี่ยงที่เกิดจากผลข้างเคียง หลายคนใช้ยานี้แล้วไม่มีผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ

แจ้งให้แพทย์ทราบทันที หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงเหล่านี้ ได้แก่ อาการหัวใจล้มเหลวที่เกิดขึ้นใหม่ หรืออาการโรคหัวใจที่แย่ลง เช่น หายใจถี่ ข้อเท้าหรือเท้าบวม เหนื่อยล้าผิดปกติ น้ำหนักขึ้นผิดปกติหรือฉับพลัน นิ้วมือ นิ้วเท้าหรือเล็บช้ำ ผมร่วง (แก้ไขได้) ความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจหรืออารมณ์ เช่น มึนงง ซึมเศร้า มีปัญหาในการจดจำ ปวดหรือกล้ามเนื้อและข้อต่อเป็นตะคริว ชาหรือเป็นเหน็บ สมรรถภาพทางเพศลดลง การมองเห็นเปลี่ยนไป หัวใจเต้นช้า ผิดปกติหรือเร็ว วิงเวียนศีรษะ หรือหน้ามืดอย่างรุนแรง

อาการแพ้ยาที่รุนแรงค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ตาม เข้ารับการรักษาทันที หากคุณสังเกตเห็นอาการแพ้ ได้แก่ ผื่น คันผิวหรือผิวบวม (โดยเฉพาะที่ใบหน้า ลิ้นหรือลำคอ) วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีปัญหาเรื่องการหายใจ

ไม่ใช่ทุกคนที่จะแสดงอาการอันเนื่องมาจากผลข้างเคียงเหล่านี้ อาจมีผลข้างเคียงอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากคุณมีความกังวลเรื่องผลข้างเคียง โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาชนิดอื่นที่อาจทำปฏิกิริยากับยาชนิดนี้ ได้แก่ ยาอัลฟ่าบลอกเกอร์ (alpha-blocker) เช่น ยาพราโซซิน (prazosin) ยาอาร์บิวทามีน (arbutamine) ยาเบต้าบลอกเกอร์ (beta-blocker) ชนิดอื่น เช่น ยาอะทีโนลอล (atenolol) ยาโคลนิดีน (clonidine) ยาเอพิเนฟริน (epinephrine) ยาเฟโนโดลแพม (fenoldopam) ยาฟินโกลิมอด (fingolimod) ยาไทโอริดาซีน (thioridazine) ยารักษาความดันโลหิตสูงชนิดอื่น เช่น ยาเมทิลโดปา (methyldopa) ยารีเซอร์พีน (reserpine) ยาที่ส่งผลต่อเอนไซม์ในตับ และขับยาพินโดลอลออกจากร่างกายเช่นยาอะมิโอดาโรน (amiodarone) ยาคลอร์โปรมาซีน (chlorpromazine) สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John’s wort)

แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากคุณใช้ยาชนิดอื่นที่ทำให้ง่วงซึม เช่น ยาแก้ปวดชนิดโอปิออยด์ (opioid pain) หรือยาแก้ไอ เช่น ยาโคดีน (codeine) ยาไฮโดรโคโดน (hydrocodone) แอลกอฮอล์ กัญชา ยานอนหลับหรือคลายเครียด เช่น ยาอัลปราโซแลม (alprazolam) ยาลอราซีแพม (lorazepam) ยาโซลพิเดม (zolpidem) ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น ยาคาริโซโพรดอล (carisoprodol) ยาไซโคลเบนซาพรีน (cyclobenzaprine) หรือสารต้านฮิสตามีน (antihistamine) เช่น ยาเซทิริซีน (cetirizine) ยาไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine)

ตรวจสอบฉลากของยา (โดยเฉพาะยาแก้แพ้หรือยาแก้ไอและไข้หวัด) เพราะยาเหล่านี้อาจมีส่วนผสมที่ทำให้ง่วงซึม ภามเภสัชกรเกี่ยวกับวิธีใช้ยาอย่างปลอดภัย

ยาบางชนิดอาจมีส่วนผสม ที่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ หรือความดันโลหิต แจ้งเภสัชกรเกี่ยวกับยาที่คุณใช้อยู่ และถามวิธีใช้ยาอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะยาแก้ไอและยาแก้ไข้หวัด อาหารเสริม ยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) อย่างยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือยานาพรอกเซน (naproxen)

ยาพินโดลอลอาจมีปฏิกิริยาต่อยาตัวอื่นที่คุณกำลังรับประทานอยู่ และอาจส่งผลให้ยาที่คุณรับประทานออกฤทธิ์ต่างไปจากเดิม หรือเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่รุนแรง เพื่อหลีกเลี่ยงการทำปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาที่อาจเป็นไปได้ คุณควรเก็บรายชื่อยาทั้งหมดที่คุณใช้ (รวมถึงยาที่จำหน่ายตามใบสั่งยา ยาที่จำหน่ายโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาและสมุนไพร) และแจ้งให้แพทย์รวมถึงเภสัชกรทราบ เพื่อความปลอดภัย อย่าเริ่ม หรือหยุดรับประทานยา รวมถึงเปลี่ยนขนาดยาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือยาอื่น

ยาพินโดลอลอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์ โดยเปลี่ยนฤทธิ์ยา หรือเพิ่มความเสี่ยงให้ที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงอาหารหรือแอลกอฮอล์ ที่อาจทำปฏิกิริยากับยานี้ ก่อนรับประทานยา

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาพินโดลอลอาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณ ปฏิกิริยาของยาที่มีต่อร่างกายอาจทำให้สุขภาพของคุณย่ำแย่ลง หรือเปลี่ยนฤทธิ์ของยา สิ่งสำคัญคือโปรดแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบ เกี่ยวกับสุขภาพและโรคประจำตัวของคุณ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง ก่อนใช้ยาพินโดลอล

ขนาดยาพินโดลอลสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาทั่วไปสำหรับรักษาความดันโลหิตสูง

ขนาดยาเริ่มต้น: รับประทานยาครั้งละ 5 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน

การปรับขนาดยา (Titration) : อาจปรับขนาดยาอาจปรับเพิ่มขึ้น 10 มิลลิกรัมต่อวันทุก 3 ถึง 4 สัปดาห์

ขนาดยาสูงสุด: รับประทานยาครั้งละ 60 มิลลิกรัมต่อวัน

คำแนะนำ

-รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้

-อาจใช้ยานี้เพียงชนิดเดียวหรือร่วมกับยาลดความดันโลหิตชนิดอื่น

-การตอบสนองของความดันโลหิตที่ลดลงจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรกของการรักษา

-การตอบสนองสูงสุดอาจใช้เวลา 2 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น

การใช้: ใช้ยานี้ควบคุมความดันโลหิตสูงหรือใช้ร่วมกับยาลดความดันโลหิตชนิดอื่น โดยเฉพาะยาขับปัสสาวะกลุ่มไธอะไซด์ (thiazide-type diuretic)

คำแนะนำอื่น

คำแนะนำในการใช้

-รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้

โดยทั่วไป

-อาจใช้ยานี้เพียงชนิดเดียวหรือร่วมกับยาลดความดันโลหิตชนิดอื่น

-การตอบสนองของความดันโลหิตที่ลดลงจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรกของการรักษา

-การตอบสนองสูงสุดอาจใช้เวลา 2 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น

การเฝ้าสังเกต

-ควรเฝ้าสังเกตการทำงานของหัวใจและต่อมไทรอยด์ ในผู้ป่วยที่มีอาการหรือคาดว่าจะมีอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ

ขนาดยาพินโดลอลสำหรับเด็ก

ไม่ได้มีการกำหนดขยาดยาสำหรับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ยานี้อาจไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก สิ่งที่สำคัญคือ ต้องศึกษาการใช้ยาอย่างปลอดภัยก่อนรับประทาน โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

รูปแบบของยา

ยาพินโดลอลมีรูปแบบดังต่อไปนี้:

  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน
  • ยาผงสูตรผสม

กรณีฉุกเฉินหรือการใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติ ไม่ควรเพิ่มขนาดยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pindolol Dosage. https://www.drugs.com/dosage/pindolol.html. Accessed April 5, 2018.

Pindolol. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-14386/pindolol-oral/details. Accessed April 5, 2018.

Pindolol. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a684032.html. Accessed April 5, 2018.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาแก้เจ็บคอ ควรใช้เมื่อไหร่ดี มีข้อควรระวังอย่างไร

สัญญาณหัวใจล้มเหลว อาการบอกเหตุที่คุณควรต้องรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา