backup og meta

เฟอร์รัสซัลเฟต (Ferrous sulfate)

เฟอร์รัสซัลเฟต (Ferrous sulfate)

ข้อบ่งใช้

ยา เฟอร์รัสซัลเฟต ใช้สำหรับ

ยาเฟอร์รัสซัลเฟต (Ferrous sulfate) เป็นอาหารเสริมธาตุเหล็กที่ใช้เพื่อรักษาหรือป้องกันระดับธาตุเหล็กในเลือดต่ำ (เช่น สำหรับโรคโลหิตจางหรือระหว่างตั้งครรภ์) ธาตุเหล็กนั้นมีความจำเป็นสำหรับร่างกายในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและเพื่อทำให้คุณมีสุขภาพที่ดี

วิธีการใช้ยา เฟอร์รัสซัลเฟต

ธาตุเหล็กนั้นจะดูดซึมได้ดีที่สุดหากรับประทานขณะท้องว่าง (โดยปกติคือรับประทาน 1 ชั่วโมงก่อน หรือ 2 ชั่วโมงหลังจากมื้ออาหาร) หากเกิดอาการท้องไส้ปั่นป่วนสามารถรับประทานยาพร้อมกับอาหารได้ อ่านคำแนะนำด้านล่างสำหรับวิธีการใช้ยาหยดสำหรับทารก/เด็ก หลีกเลี่ยงการใช้ยาลดกรด ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ชา หรือกาแฟภายใน 2 ชั่วโมงก่อนและหลังจากใช้ยานี้เนื่องจากอาจจะลดประสิทธิภาพของยานี้

รับประทานยาเม็ดหรือยาแคปซูลพร้อมกับดื่มน้ำหนึ่งแก้ว (8 ออนซ์ หรือ /240 มล.) เว้นเสียแต่ว่าแพทย์จะสั่งให้ทำแบบอื่น อย่าล้มตัวลงนอนเป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาทีหลังจากรับประทานยา

กลืนยาแคปซูลแบบออกฤทธิ์นานลงไปทั้งเม็ด อย่าบดหรือเคี้ยวยาแคปซูลหรือยาเม็ดแบบออกฤทธิ์นานเนื่องจากอาจจะทำให้ยาออกฤทธิ์ทั้งหมดมาในคราวเดียวและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง นอกจากนี้ยังไม่ควรแบ่งเม็ดยาออกฤทธิ์นาน เว้นเสียแต่ว่าจะมีเส้นแบ่งเม็ดยาและแพทย์หรือเภสัชกรสั่งให้คุณทำเช่นนั้น กลืนยาทั้งเม็ดหรือส่วนที่แบ่งลงไปโดยไม่ต้องบดหรือเคี้ยว

หากคุณใช้ยาเม็ดสำหรับเคี้ยว ควรเคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนแล้วค่อยกลืน

หากคุณใช้ยาแบบยาน้ำแขวนตะกอน ควรเขย่าขวดให้ดีก่อนใช้ทุกครั้ง

หากคุณใช้ยาน้ำสำหรับผู้ใหญ่ ควรตวงยาให้ดีโดยใช้ช้อนหรืออุปกรณ์สำหรับตวงยา อย่าใช้ช้อนธรรมดาเพราะอาจจะได้ขนาดยาที่ไม่ถูกต้อง ผสมยากับน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้แล้วดื่มลงไปผ่านทางหลอดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคราบที่ฟัน

หากคุณใช้ยาหยดสำหรับทารกหรือเด็ก ควรใช้หลอดหยดยาที่แถมมาเพื่อตวงยาอย่างระมัดระวัง สามารถให้ยาเข้าปากโดยตรง (ให้ทางด้านหลังของลิ้น) หรืออาจจะผสมกับอาหารสำหรับเด็ก (ไม่ใช่นม) น้ำผลไม้ ซีเรียล หรืออาหารอื่นๆ ตามที่กำหนดเพื่อให้เด็กสามารถรับประทานได้ ควรให้ยาทันทีหลังมื้ออาหาร ทำตามคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์ของยายี่ห้อที่คุณใช้

ใช้ยาเป็นประจำเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากยา เพื่อให้ง่ายต่อการจำควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวัน

การเก็บรักษายา เฟอร์รัสซัลเฟต

ยาเฟอร์รัสซัลเฟตควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาเฟอร์รัสซัลเฟตบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัยโปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาเฟอร์รัสซัลเฟตลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูก สอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยา เฟอร์รัสซัลเฟต

ไม่ควรใช้ยานี้หากคุณมีสภาวะบางอย่าง ก่อนใช้ยานี้โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ ความผิดปกติจากการมีธาตุเหล็กเกิน เช่น ภาวะเหล็กเกิน (hemochromatosis) หรือภาวะฮีโมซิเดอรินเกิน (hemosiderosis)

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะดื่มสุราหรือใช้แอลกอฮอล์ในทางที่ผิด ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือลำไส้ (เช่น มีแผลหรือลำไส้ใหญ่อักเสบ)

หากอาหารเสริมธาตุเหล็กยี่ห้อที่คุณใช้มีส่วนผสมของกรดโฟลิก โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณมีภาวะขาดวิตามินบี12 หรือภาวะโลหิตจางอย่างร้าย (pernicious anemia) ก่อนใช้ยานี้ กรดโฟลิกอาจจะทำให้ผลการตรวจหาภาวะขาดวิตามินบี12 ของคุณดีขึ้นอย่างเป็นเท็จโดยที่ไม่ได้รักษาภาวะโลหิตจางนี้จริงๆ ภาวะขาดวิตามินบี12 ที่ไม่ได้รับการรักษานั้นอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหากับประสาทที่รุนแรงได้ เช่น อาการปลายประสาทอักเสบ (peripheral neuropathy) อย่างรู้สึกชา ปวด หรือเป็นเหน็บ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ยาเม็ดแบบเคี้ยวอาจจะมีส่วนผสมของแอสปาร์แตม (aspartame) หากคุณเป็นโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (phenylketonuria) หรือสภาวะอื่นที่ต้องจำกัดการบริโภคแอสปาร์แตม หรือสารฟีนิลอะลานีน (phenylalanine) โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยานี้อย่างปลอดภัย

ยาเตรียมแบบน้ำอาจจะมีส่วนผสมของน้ำตาลหรือแอลกอฮอล์ ควรระมัดระวังการใช้ยาหากคุณเป็นโรคเบาหวาน มีภาวะพึ่งพาสุรา หรือเป็นโรคตับ โปรดสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยานี้อย่างปลอดภัย

ในช่วงขณะการตั้งครรภ์ควรใช้ยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น โปรดปรึกษาความเสี่ยงและประโยชน์กับแพทย์

ยานี้สามารถส่งผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ได้ โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยา

ยาเฟอร์รัสซัลเฟตจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด N โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาเฟอร์รัสซัลเฟต

อาจเกิดอาการท้องผูก ท้องร่วง ปวดท้อง หรือท้องไส้ปั่นป่วน อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นชั่วคราวและอาจจะหายไปเมื่อร่างกายสามารถปรับตัวเข้ากับยาได้แล้ว หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้นโปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที

ธาตุเหล็กอาจจะทำให้อุจจาระเปลี่ยนเป็นสีดำซึ่งไม่เป็นอันตรายใดๆ

โปรดจำไว้ว่าการที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้เนื่องจากคำนวณแล้วว่ายามีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ

การแพ้ยาที่รุนแรงต่อยานี้ ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้ ผดผื่น คันหรือบวม (โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ) วิงเวียนขั้นรุนแรง หายใจติดขัด

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ ทั้งยาตามใบสั่งยา ยาที่หาซื้อเอง และสมุนไพรต่างๆ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่นยาเพนิซิลลามีน (penicillamine) ยาคลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol) ยาควิโนโลน (quinolones) อย่างไซโพรฟลอกซาซิน (ciprofloxacin) หรือนอร์ฟลอกซาซิน (norfloxacin) ยาไบฟอสโฟเนต (bisphosphonates) เช่น ยาอะเลนโดรเนต (alendronate) ยาเลโวโดพา (levodopa) ยาเมทิลโดพา (methyldopa) ยาทดแทนฮอร์โมนไทรอยด์ เช่นยาเลโวไทรอกซีน (levothyroxine)

หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้พร้อมกับยาลดกรดหรือยาปฏิชีวนะเตตราไซคลีน ควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงระหว่างการใช้ยานี้กับยาลดกรดหรือยาเตตราไซคลีน

หากยายี่ห้อที่คุณใช้มีส่วนผสมของกรดโฟลิก โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณใช้ยาต้านชักบางชนิด เช่น ยาไฮแดนโทอิน (hydantoins) อย่าง เฟนีโทอิน (phenytoin)

ยานี้อาจส่งผลกระทบต่อผลการตรวจในห้องแล็บบางชนิด (เช่น การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ) และอาจทำให้ผลตรวจเป็นเท็จได้ โปรดแจ้งบุคลากรในห้องแล็บและแพทย์ของคุณทุกคนให้ทราบว่าคุณกำลังใช้ยานี้

ยาเฟอร์รัสซัลเฟตอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาเฟอร์รัสซัลเฟตอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาเฟอร์รัสซัลเฟตอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาเฟอร์รัสซัลเฟตสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

ขนาดยาเริ่มต้น ยาเฟอร์รัสซัลเฟต 600 มก./วัน (ธาตุเหล็ก 120 มก./วัน) เป็นเวลา 3 เดือน

-แบ่งรับประทาน (วันละ 1-3 ครั้ง)

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาภาวะโลหิตจางที่เกี่ยวข้องกับโรคไตล้มเหลวเรื้อรัง

ขนาดยาเริ่มต้น ยาเฟอร์รัสซัลเฟต 1000 มก./วัน (ธาตุเหล็ก 200 มก./วัน) แบ่งรับประทาน (วันละ 1-3 ครั้ง)

คำแนะนำ

-หากยังไม่ถึงเป้าหมายจากการรับประทานยาธาตุเหล็กเป็นเวลานาน 1-3 เดือน อาจพิจารณาให้ยาเสริมธาตุเหล็กผ่านทางหลอดเลือดดำ

-การใช้ยาในขนาดต่ำทุกวันอาจจะทนได้ดีกว่า

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อเป็นอาหารเสริมวิตามิน/แร่ธาตุ

ขนาดยาเริ่มต้น 1 เม็ดวันละครั้ง

หรือ

ขนาดยาเริ่มต้น ยาเฟอร์รัสซัลเฟต 30-90 มก./วัน (ธาตุเหล็ก 6-18 มก./วัน) แบ่งรับประทาน (วันละ 1-3 ครั้ง)

51 ขึ้นไป ยาเฟอร์รัสซัลเฟต 25-40 มก./วัน (ธาตุเหล็ก 5-8 มก./วัน) แบ่งรับประทาน (วันละ 1-3 ครั้ง)

การปรับขนาดยาสำหรับไต

ไม่มีการปรับขนาดยาที่แนะนำ

การปรับขนาดยาสำหรับตับ

ไม่มีการปรับขนาดยาที่แนะนำ

การปรับขนาดยา

เป็นอาหารเสริมวิตามิน/ป้องกันภาวะโลหิตจาง

อายุ 14-18 ปี : ตั้งครรภ์ : ยาเฟอร์รัสซัลเฟต 115-135 มก./วัน (ธาตุเหล็ก 23-27 มก./วัน)

อายุ 14-18 ปี : ให้นมบุตร : ยาเฟอร์รัสซัลเฟต 35-50 มก./วัน (ธาตุเหล็ก 7-10 มก./วัน)

อายุ 19-50 ปี : ตั้งครรภ์ : ยาเฟอร์รัสซัลเฟต 110-135มก./วัน (ธาตุเหล็ก 22-27 มก./วัน)

อายุ 19-50 ปี : ให้นมบุตร : ยาเฟอร์รัสซัลเฟต 32.5-45 มก./วัน (ธาตุเหล็ก 6.5-9 มก./วัน)

ขนาดยาสูงสุด 225 มก. (ธาตุเหล็ก 45 มก./วัน)

รักษาภาวะโลหิตจาง

ตั้งครรภ์ ยาเฟอร์รัสซัลเฟต 300-600 มก. (ธาตุเหล็ก 60-120 มก./วัน)

การฟอกไต (Dialysis)

ตามปกติจะมีการเสริมธาตุเหล็กเป็นประจำสำหรับผู้ป่วยที่ต้องทำการฟอกไตผ่านทางช่องท้อง (peritoneal dialysis) และการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) เพื่อป้องกันหรือรักษาภาวะโลหิตจางที่เกี่ยวข้องกับโรคไตล้มเหลวเรื้อรัง

คำแนะนำอื่นๆ

คำแนะนำการใช้ยา

-กาแฟ ชา นม ซีเรียล เส้นใยอาหาร และน้ำอัดลมที่มีฟอสเฟตจะลดการดูดซึมธาตุเหล็ก

-อหารเสริมที่มีแคลเซียม สังกะสี แมงกานีส หรือทองแดงจะลดการดูดซึมธาตุเหล็ก

-ยาลดกรด ยาเอช2 บล็อกเกอร์ (H2 blockers) และยาโปรตอนปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (proton pump inhibitors) จะลดการดูดซึมธาตุเหล็ก อย่าใช้ยาเหล่านี้ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยาธาตุเหล็ก

-วิตามินซีและอาหารที่เป็นกรดจะช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก

-ยารูปแบบออกฤทธิ์ช้าและเคลือบเอนเทอริกนั้นสามารถทนได้ดีกว่าแต่อาจจะดูดซึมได้ไม่ดีเท่ากับแบบอื่น

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

-การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีธาตุเหล็กเกินขนาดอาจทำให้เป็นพิษและเสียชีวิตได้สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี

-เก็บยาให้พ้นจากมือของเด็ก

-ในกรณีการใช้ยาเกินขนาด โปรดติดต่อแพทย์หรือศูนย์พิษวิทยาในทันที

ขนาดยาเฟอร์รัสซัลเฟตสำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

อายุ 0-5 ปี : ยาเฟอร์รัสซัลเฟต 15-30 มก./กก./วัน (ธาตุเหล็ก 3-6 มก./วัน)

อายุ 5-12 ปี : ยาเฟอร์รัสซัลเฟต 300 มก. (ธาตุเหล็ก 60 มก./วัน)

อายุ 12-18 ปี : เพศชาย ยาเฟอร์รัสซัลเฟต 300 มก. (ธาตุเหล็ก 60 มก.) วันละ 2 เม็ด

อายุ 12-18 ปี : เพศหญิง 300-600 มก./วัน (ธาตุเหล็ก 60-120 มก./วัน)

-แบ่งรับประทาน (วันละ 1-3 ครั้ง)

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อเป็นอาหารเสริมวิตามิน/แร่ธาตุ

ทารกคลอดก่อนกำหนด (อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์) อายุ 0-12 เดือน ยาเฟอร์รัสซัลเฟต 10 มก./กก./วัน (ธาตุเหล็ก 2 มก./กก./วัน)

อายุ 0-6 เดือน : 1-1.35 มก./วัน (ธาตุเหล็ก 0.2-0.27 มก./วัน)

อายุ 7-12 เดือน : 35-55 มก./วัน (7-11 มก./วัน)

อายุ 1-3 ปี : 20-45 มก./วัน (4-9 มก./วัน)

อายุ 4 ถึง 8 ปี 20 ถึง 50 มก./วัน (4 ถึง 10 มก./วัน)

อายุ 9-13 ปี : 30-40 มก./วัน (6-8 มก./วัน)

อายุ 14-18 ปี : 40-75 มก./วัน (8-15 มก./วัน)

-แบ่งรับประทาน (วันละ 1-3 ครั้ง)

หรือ

ยาเม็ด (ยาเฟอร์รัสซัลเฟต 325 มก. ธาตุเหล็ก 65 มก.)

อายุ 12 ปีขึ้นไป 1 เม็ด รับประทานวันละครั้ง

ข้อควรระวัง

-การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีธาตุเหล็กเกินขนาดอาจทำให้เป็นพิษและเสียชีวิตได้สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี

-เก็บยาให้พ้นจากมือของเด็ก

-ในกรณีการใช้ยาเกินขนาด โปรดติดต่อแพทย์หรือศูนย์พิษวิทยาในทันที

รูปแบบของยา

ขนาดและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาน้ำสำหรับรับประทาน
  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน
  • ยาเม็ดสำหรับรับประทานแบบออกฤทธิ์นาน
  • ยาน้ำเชื่อมสำหรับรับประทาน
  • ยาแคปซูลสำหรับรับประทานแบบออกฤทธิ์นาน
  • ยาอิลิกเซอร์สำหรับรับประทาน
  • ยาเม็ดสำหรับรับประทานแบบออกฤทธิ์ช้า
  • ยาผงผสม

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ferrous Sulfate Tablet, Delayed Release (Enteric Coated). https://www.webmd.com/drugs/2/drug-4127/ferrous-sulfate-oral/details. Accessed February 1, 2018.

Ferrous Sulfate Dosage. https://www.drugs.com/dosage/ferrous-sulfate.html. Accessed February 1, 2018.

What Is Ferrous Sulfate (Feosol)?. https://www.everydayhealth.com/drugs/ferrous-sulfate. Accessed November 20, 2019

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/01/2022

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

โลหิตจางจากปัจจัยทางพันธุกรรม ที่ควรรู้จักมีอะไรบ้าง?

โรคโลหิตจาง ปัญหาสุขภาพที่คนกินมังสวิรัติต้องระวังให้ดี


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 27/01/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา