เสพติดเซ็กส์ เป็นอาการของ พฤติกรรมทางเพศแบบย้ำทำ (Compulsive Sexual Behavior) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาวะความต้องการทางเพศสูงกว่าปกติ (Hypersexuality) หรือหมายถึงการเสพติดการมีเพศสัมพันธ์ (Sexual addiction) ซึ่งเป็นอาการของการหมกมุ่นในเรื่องเพศมากกว่าปกติ เช่น จินตนาการถึงเรื่องทางเพศมากผิดปกติ ความต้องการมีเพศสัมพันธ์มากกว่าปกติ หรือมีพฤติกรรมที่ยากจะควบคุม โดยการเสพติดการมีเพศสัมพันธ์นั้น สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพ งาน ความสัมพันธ์ และส่งผลต่อด้านต่าง ๆ ในชีวิต
[embed-health-tool-bmi]
สัญญาณและอาการของภาวะ เสพติดเซ็กส์
สัญญาณและอาการ ที่บอกว่าอาจเสพติดเซ็กส์ ได้แก่
- จินตนาการในเรื่องทางเพศซ้ำ ๆ และรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความต้องการและพฤติกรรมทางเพศที่ใช้เวลานาน รวมถึงรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมได้
- รู้สึกมีแรงขับเคลื่อนในการทำพฤติกรรมทางเพศบางอย่าง และรู้สึกว่าได้ปลดปล่อยความตึงเครียดหลังจากทำพฤติกรรมนั้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็รู้สึกผิดและมีความสำนึกผิดด้วย
- พยายามแล้วแต่ไม่สำเร็จ ในการที่จะลดหรือควบคุมความต้องการทางเพศ พฤติกรรมและจินตนาการทางเพศ
- ใช้ความต้องการทางเพศเพื่อหลีกหนีจากปัญหาอื่น เช่น ความโดดเดี่ยว ความกังวล หรือความเครียด
- มีพฤติกรรมทางเพศที่อาจส่งผลร้ายแรงในภายหลัง เช่น มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ อาจสูญเสียความสัมพันธ์ดี ๆ หรือมีปัญหากับที่ทำงาน มีปัญหาเรื่องเงิน รวมถึงทำสิ่งผิดกฎหมาย
- มีปัญหากับการรักษาความสัมพันธ์ไว้ให้คงอยู่
สัญญาณและอาการ เสพติดเซ็กส์ ที่สามารถสังเกตเห็นได้
ผู้ที่มีภาวะเสพติดเซ็กส์ มักจะมีความสามารถในการซ่อนพฤติกรรม และยังเก็บความลับ ไม่ให้คนรักและคนในครอบครัวรู้ได้ แต่บางครั้งผู้ที่มีภาวะ เสพติดเซ็กซ์ อาจมีอาการที่สามารถสังเกตเห็นได้ ดังนี้
- จินตนาการ และคิดถึงเรื่องเซ็กซ์เป็นประจำ และมากกว่าปกติ
- มีความสัมพันธ์กับคนหลายคน รวมถึงคนแปลกหน้า
- โกหกเพื่อปิดบังพฤติกรรม
- หมกมุ่นกับการมีเพศสัมพันธ์ จนถึงขั้นรบกวนชีวิตประจำวัน ประสิทธิภาพในการทำงาน และอื่นๆ
- ไม่สามารถหยุดหรือควบคุมพฤติกรรมได้
- ทำให้ตัวเองและผู้อื่นตกอยู่ในอันตราย เรื่องจากพฤติกรรมทางเพศ
- รู้สึกผิดหลังจากมีเพศสัมพันธ์
อย่างไรก็ตาม ความชอบหรือความพึงพอใจที่จะมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง ไม่ได้หมายความว่าเป็นอาการของภาวะเสพติดเซ็กซ์เสมอไป เนื่องจากเพศสัมพันธ์ถือเป็นกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อสุขภาพของมนุษย์ และการชอบมีเซ็กซ์ถือเป็นเรื่องปกติ มากไปกว่านั้น หากคู่รักมีระดับความชอบในเรื่องเซ็กซ์ต่างกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า ฝ่ายที่ชอบเรื่องเซ็กซ์มากกว่าจะเสพติดเซ็กซ์
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบคุณหมอ
ควรไปพบคุณหมอ เมื่อรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมทางเพศของตัวเองได้ โดยเฉพาะพฤติกรรม ที่สร้างปัญหาให้ตัวเองและผู้อื่น นอกจากนี้ การเสพติดการมีเพศสัมพันธ์ หรือการ เสพติดเซ็กซ์ อาจรุนแรงขึ้น หากไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ ควรไปพบคุณหมอ โดยลองถามตัวเองก่อน ดังนี้
- ฉันสามารถจัดการกับ แรงกระตุ้นทางเพศของตัวเองได้หรือไม่
- ฉันเป็นทุกข์จากพฤติกรรมทางเพศของฉันหรือไม่
- พฤติกรรมทางเพศส่งผลต่อความสัมพันธ์ งาน หรือส่งผลเสียในด้านอื่น ๆ หรือไม่
- ฉันกำลังพยายามแอบซ่อนพฤติกรรม ในเรื่องทางเพศอยู่หรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอทันที
- มีความคิดว่า ตัวเองอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น เนื่องจากพฤติกรรมทางเพศ ที่ไม่สามารถควบคุมได้
- มีปัญหากับการควมคุมพฤติกรรมทางเพศของตัวเอง
- มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย เพื่อหลีกหนีภาวะเสพติดเซ็กซ์