ฮอร์โมนเพศชาย หรือ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เป็นฮอร์โมนเพศชายที่อยู่ในกลุ่มฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งช่วยกำหนดลักษณะของเพศชาย เช่น การมีเสียงที่ทุ้มต่ำ มวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกระดูก และยังส่งผลต่อสุขภาพทางเพศของผู้ชาย รวมถึงการแข็งตัวของอวัยวะเพศ การสร้างอสุจิ
[embed-health-tool-heart-rate]
ฮอร์โมนเพศชาย คืออะไร
ฮอร์โมนเพศชาย คือ เฮอร์โมนเพศชายที่อยู่ในกลุ่มฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งช่วยกำหนดลักษณะของเพศชาย เช่น การมีเสียงที่ทุ้มต่ำ มวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกระดูก รวมถึง ยังเป็นฮอร์โมนสำคัญที่อาจมีบทบาทกับร่างกายหลายอย่าง ดังนี้
- การพัฒนาของอวัยวะเพศชายและอัณฑะ
- การเปลี่ยนแปลงของเสียงในช่วงวัยรุ่น
- มีหนวดขึ้นบริเวณใบหน้าและอวัยวะเพศ
- ช่วยเสริมสร้างขนาดและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
- เสริมสร้างการเจริญเติบโตของกระดูกและความแข็งแรง
- สร้างอารมณ์ทางเพศ
- การผลิตสเปิร์ม
ฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป ส่งผลอย่างไร
การมีฮอร์โมนเพศชายมากเกินไปอาจพบได้น้อย ซึ่งอาจทำให้มีอาการฉุนเฉียวง่าย หรืออาจมีความต้องการทางเพศสูงกว่าปกติ รวมถึงอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้
- อาจเกิดความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจวาย
- ต่อมลูกหมากโตและปัสสาวะลำบาก
- โรคตับ
- เป็นสิว
- อาการบวมน้ำบริเวณขาและเท้า
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
- ความดันโลหิตสูง และคอเลสเตอรอลสูง
- นอนไม่หลับ
- ปวดหัว
- มวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น
- เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด
- ในวัยรุ่นมีการเติบโตของร่างกายเพิ่มขึ้น
- พฤติกรรมก้าวร้าวผิดปกติ
- อารมณ์แปรปรวน
อาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณเตือนของการมีระดับฮอร์โมนเพศชายที่สูงกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
ฮอร์โมนเพศชายน้อยเกินไป ส่งอย่างไร
เมื่อผู้ชายอายุมากขึ้นระดับฮอร์โมนเพศชายอาจลดลงได้เรื่อย ๆ ประมาณ 1-2% ในแต่ละปี ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 45 ปี อาจมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลงกว่าปกติ เนื่องจากอัณฑะสร้างฮอร์โมนเพศชายได้น้อยลง โดยอาการที่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายมีระดับฮอร์โมนเพศชายลดลง อาจมีดังนี้
- ขนตามร่างกายและใบหน้าลดลง
- การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
- ความต้องการทางเพศลดลง
- ลูกอัณฑะอ่อนแอ
- เกิดภาวะมีบุตรยาก
- หน้าอกมีขนาดใหญ่ขึ้น
- ร้อนวูบวาบ
- รู้สึกหงุดหงิด ไม่มีสมาธิ หรืออาจเกิดภาวะซึมเศร้า
- ผมร่วงมากขึ้น
- กระดูกเปราะเสี่ยงต่อการแตกหักง่าย
ผู้ชายหลายคนอาจมีความกังวลใจเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศชายต่ำ เพราะอาจส่งผลให้เกิดภาวะอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคกระดูกพรุน อย่างไรก็ตาม หากเกิดภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม