backup og meta

ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน หน้าที่และความสำคัญต่อร่างกาย

ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน หน้าที่และความสำคัญต่อร่างกาย

ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เป็นฮอร์โมนเพศชายซึ่งผลิตจากอัณฑะ มีหน้าที่รักษาลักษณะความเป็นชายต่าง ๆ เช่น หนวดเครา น้ำเสียงทุ้ม รวมทั้งระดับความต้องการทางเพศ หากมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ ความต้องการทางเพศอาจจะลดลง ซึ่งรักษาได้ด้วยการให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนทดแทน

[embed-health-tool-heart-rate]

ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน มีหน้าที่อะไร

เทสโทสเตอโรนเป็นฮอร์โมนเพศหลักในผู้ชาย มีหน้าที่ ดังนี้

  • กระตุ้นให้องคชาตและอัณฑะเจริญเติบโตสมวัย
  • ช่วยลดน้ำเสียงเล็กแหลม ทำให้เพศชายมีเสียงทุ้มใหญ่ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
  • กระตุ้นการเติบโตและงอกของขนบนใบหน้าและบริเวณอวัยวะเพศ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
  • รักษาและผลิตการสร้างมวลกล้ามเนื้อ
  • รักษาและพัฒนาการสร้างมวลกระดูก
  • รักษาระดับความต้องการทางเพศให้เป็นปกติ
  • กระตุ้นให้เกิดการผลิตตัวอสุจิของอัณฑะ
  • กระตุ้นการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง

โดยปกติ ระดับเทสโทสเตอโรนในผู้ชาย จะอยู่ในระดับสูงสุดเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ก่อนจะค่อย ๆ ลดลงราวปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ หลังอายุย่างเข้าสู่วัย 30-40 ปี อย่างไรก็ตาม ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่ลดต่ำลงอาจเป็นเพราะวัยที่มากขึ้น หรือเป็นเพราะภาวะเทสโทสเตอโรนต่ำ ซึ่งเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งของร่างกายก็ได้

ทั้งนี้ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสามารถพบได้ในผู้หญิงเช่นกัน โดยผลิตจากรังไข่ ต่อมหมวกไต เซลล์ไขมัน และเซลล์ผิว เพียงแต่มีปริมาณต่ำกว่าที่ผลิตในผู้ชาย ในผู้หญิง ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของรังไข่ การสร้างมวลกระดูก และกระตุ้นให้เกิดความต้องการทางเพศ

ภาวะฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ

ภาวะเทสโทสเตอโรนต่ำ เป็นภาวะซึ่งร่างกายผู้ชายผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนได้ในปริมาณที่ต่ำกว่าปกติ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทั้งลักษณะภายนอกและภายในร่างกาย อาจเป็นความผิดปกติโดยกำเนิด หรืออาจเกิดขึ้นได้ในภายหลัง

สำหรับวัยรุ่นที่มีภาวะเทสโทสเตอโรนต่ำ ร่างกายจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงสมชายอย่างที่ควรจะเป็น เช่น ขนาดอวัยวะเพศอาจไม่ใหญ่ขึ้น ขนบนร่างกายขึ้นน้อยและเสียงไม่ทุ้มใหญ่ เมื่อเทียบกับเพศชายในวัยเดียวกัน

ขณะเดียวกัน เพศชายซึ่งมีภาวะฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ จะมีอาการดังนี้

  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • เรี่ยวแรงลดลง
  • ซึมเศร้า
  • มวลกระดูกลดลง
  • มวลกล้ามเนื้อลดลง
  • มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • ขนบนใบหน้าและร่างกายหลุดร่วง

สาเหตุภาวะเทสโทสเตอโรนต่ำ

ภาวะเทสโทสเตอโรนต่ำ เกิดได้จาก 2 สาเหตุ คือ

ความผิดปกติของอัณฑะ ที่เรียกว่าภาวะพร่องฮอร์โมนปฐมภูมิ (Primary Testicular Failure)

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย

  • กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ (Klinefelter Syndrome) หรือภาวะที่ทารกเพศชายมีโครโมโซม X มากกว่า 1 โครโมโซม
  • ภาวะอัณฑะค้าง (Undescended Testicles) หรือการที่อัณฑะติดอยู่ในบริเวณช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน ไม่เคลื่อนลงไปที่ถุงอัณฑะ
  • ภาวะธาตุเหล็กเกินในร่างกาย
  • การบาดเจ็บที่อัณฑะ
  • การรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดหรือคีโม

ความผิดปกติของต่อมใต้สมองหรือส่วนของสมองที่เรียกว่าไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งโดยปกติมีส่วนกระตุ้นให้อัณฑะผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย

  • อายุที่มากขึ้น
  • โรคอ้วน
  • การติดเชื้อเอชไอวี
  • โรคหรือภาวะผิดปกติของต่อมใต้สมอง
  • การใช้ยาระงับความเจ็บปวดในกลุ่มโอปิแอต (Opiates)

การรักษาภาวะฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ

การรักษาภาวะฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ มักใช้วิธีบำบัดด้วยการให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนทดแทน (Testosterone Replacement Therapy หรือ TRT) ทั้งในกรณีเป็นโดยกำเนิดและกรณีที่เกิดขึ้นภายหลัง ยกเว้นในกรณีที่ฮอร์โมนลดต่ำลงเพราะอายุที่มากขึ้นซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ โดยการให้ฮอร์โมนทดแทนมีหลายรูปแบบ ดังนี้

  • แผ่นแปะผิวหนัง ซึ่งจะค่อย ๆ ปล่อยฮอร์โมนปริมาณเล็กน้อยเข้าสู่ผิวหนัง อยู่ได้นาน 24 ชั่วโมงก่อนต้องเปลี่ยนใหม่ มักแปะในตอนเย็นหรือก่อนเข้านอน
  • เจล ใช้ทาบนร่างกายวันละ 1 ครั้ง เพื่อให้ฮอร์โมนทดแทนซึมผ่านผิวหนัง และเมื่อทาแล้ว จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการอาบน้ำ เพื่อฮอร์โมนจะได้ซึมซาบเข้าสู่ผิวหนังและไม่ถูกชำระล้างออกไป
  • เจลทางจมูก เป็นการปั๊มฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนแบบเจลเข้าทางรูจมูก โดยต้องทำวันละ 2 ครั้ง
  • ยาสำหรับใช้ในปาก เป็นยาเม็ดที่ใช้แปะติดกับเหงือกหรือหลังฟันหน้า แปะวันละ 2 เม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง เพื่อให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านเนื้อเยื่อในปาก
  • ยาฉีด ฉีดปริมาณ 50-400 มิลลิกรัมเข้ากล้ามเนื้อทุก 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด

แม้การบำบัดด้วยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนทดแทนจะเป็นการรักษาที่ได้ผล แต่ก็อาจมีความเสี่ยงทางสุขภาพ ผู้มีภาวะเทสโทสเตอโรนต่ำซึ่งเข้ารับการรักษา อาจพบผลข้างเคียงดังต่อไปนี้

  • เป็นสิว
  • เกิดผื่นบนร่างกาย
  • เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • หน้าอกขยาย

เนื่องจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมีความเกี่ยวข้องกับการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง การบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทนจึงมีส่วนทำให้เซลล์ดังกล่าวเพิ่มจำนวนขึ้น รวมถึงอาจทำให้เกิดลิ่มเลือดในร่างกาย ซึ่งอาจนำไปสู่การอุดกั้นของลิ่มเลือดในปอด

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังมีความกังวลว่า การบำบัดด้วยเทสโทสเตอโรอาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย

ดังนั้น ก่อนเข้ารับการรักษา ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อให้ตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียด และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เพื่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Testosterone therapy: Potential benefits and risks as you age. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/sexual-health/in-depth/testosterone-therapy/art-20045728. Accessed February 17, 2022

Understanding How Testosterone Affects Men. https://www.nih.gov/news-events/nih-research-matters/understanding-how-testosterone-affects-men. Accessed February 17, 2022

Is testosterone therapy safe? Take a breath before you take the plunge. https://www.health.harvard.edu/mens-health/is-testosterone-therapy-safe-take-a-breath-before-you-take-the-plunge. Accessed February 17, 2022

Testosterone — What It Does And Doesn’t Do. https://www.health.harvard.edu/medications/testosterone–what-it-does-and-doesnt-do. Accessed February 17, 2022

Male hypogonadism. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/male-hypogonadism/symptoms-causes/syc-20354881#:~:text=Male%20hypogonadism%20is%20a%20condition,often%20from%20injury%20or%20infection. Accessed February 17, 2022

Is Testosterone Replacement Therapy Right for You?. https://www.webmd.com/men/guide/testosterone-replacement-therapy-is-it-right-for-you. Accessed February 17, 2022

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/11/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน

ปัญหาเทสโทสเตอโรนต่ำ ส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 03/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา