ในปัจจุบันนี้ ทางเลือกในการรักษาปัญหาสุขภาพจิตนั้นมีอยู่มากมายหลายทางเลือก หนึ่งในนั้นก็คือการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม การบำบัดทางจิตด้วยวิธีการนี้ เป็นทางเลือกในการบำบัดที่ใช้เพื่อการรักษาโรคทางจิตเวชมากมาย รวมไปจนถึงโรคซึมเศร้า วันนี้ Hello คุณหมอ จะมาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับ การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม ว่าคืออะไร และเหมาะสำหรับการจัดการกับโรคแบบไหนบ้าง
การ บำบัดทางความคิดและพฤติกรรม คืออะไร
การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy ; CBT) เป็นจิตบำบัดประเภทหนึ่ง ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้ ตระหนัก และรับมือกับปัญหา รูปแบบ ความคิด หรือความผิดปกติทางจิตต่างๆ ที่รบกวนหรือส่งผลกระทบด้านลบ ทั้งต่อการกระทำและอารมณ์
การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมนั้นจะมุ่งเน้นที่การพูดคุยและให้คำปรึกษา เพื่อหาทางจัดกับปัญหาให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยการแบ่งปัญหาออกเป็นส่วน ๆ แล้วค่อย ๆ เข้าแก้ไขไปทีละส่วนร่วมกัน ทั้งกับตัวแพทย์และตัวผู้ป่วย การบำบัดด้วยวิธีการนี้จะแตกต่างกับการบำบัดอื่น ๆ เนื่องจากจะมุ้งเน้นจัดการและแก้ไขกับปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยไม่ไปเน้นกับปัญหาในอดีตมากนัก และเป้าหมายสูงสุดของการบำบัดคือต้องการให้เข้ารับการรักษา สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติและมีความสุข
การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมใช้เพื่ออะไรบ้าง
การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมนั้นครอบคลุมการรักษาปัญหาที่เกิดขึ้นกับจิตใจได้อย่างกว้างขวาง ไม่จำกัดว่าจะต้องรักษาแค่โรคทางจิตเวชเท่านั้น แต่ยังอาจครอบคลุมไปจนถึงปัญหาเกี่ยวกับสภาพจิตใจอื่น ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น
- การจัดการกับอาการป่วยทางจิต
- การป้องกันไม่ให้อาการป่วยทางจิตกำเริบ
- การจัดการกับความรู้สึก เช่น การรับมือกับความสูญเสีย
- การจัดการทางอารมณ์ เช่น อารมณ์โกรธ อารมณ์โศกเศร้า
นอกจากนี้ ยังอาจใช้เพื่อรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคทางจิตเวชต่าง ๆ เช่น
- โรคซึมเศร้า
- โรควิตกกังวล
- โรคย้ำคิดย้ำทำ
- โรคการกินผิดปกติ
- โรคจิตเภท
- โรคกลัวต่าง ๆ (Phobias)
- ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
- การเลิกยาเสพติด หรือเลิกดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
ในบางกรณี แพทย์ก็อาจจะใช้วิธีการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้ยาต้านซึมเศร้า ยาระงับประสาท หรือยารักษาอาการทางจิตเวชอื่น ๆ อีกด้วย
ความเสี่ยงของการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม
โดยทั่วไปแล้ว การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมนั้นเป็นวิธีการรักษาที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และแทบจะไม่ทำให้เกิดปัญหาใด ๆ ต่อผู้เข้ารับการรักษา แต่อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง ขั้นตอนหรือกระบวนการรักษาบางอย่าง อาจจะทำให้ผู้ป่วยต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึก หรือประสบการณ์ที่ไม่ดี และส่งผลให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัว โศกเศร้า หรือแม้แต่หมดแรงในระหว่างการรักษาได้
หนึ่งในขั้นตอนของการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม คือ การบำบัดความกลัวด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว (Exposure therapy) ขั้นตอนการบำบัดนี้ จะให้ผู้ป่วยต้องเผชิญหน้ากับสิ่งหรือสถานการณ์ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกกลัว เช่น หากเป็นผู้ป่วยโรคกลัวงู แพทย์ก็อาจจะนำรูปงูมาแสดงให้ผู้ป่วยเห็น การทำแบบนี้จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเกิดความตึงเครียด ความหวาดกลัว และอาจนำไปสู่ความวิตกกังวลได้
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการรักษานี้ก็มีความสำคัญ เพราะจะทำเพื่อให้ตัวผู้ป่วยได้เผชิญหน้า และยอมรับการความรู้สึกกลัวที่ตัวเองมี และจะทำให้สามารถหาหนทางในการก้าวข้ามความกลัวนั้นไปได้ในที่สุด โดยปกติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะคอยสังเกตขีดจำกัดของคุณ และพยายามไม่ให้คุณเกิดความรู้สึกเครียดมากจนเกินไป ดังนั้นจึงทำให้คุณสามารถเผชิญหน้ากับความกลัวได้ โดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายใด ๆ