backup og meta

ส่วนประกอบหลักใน ยาแก้ไอแบบมีเสมหะ แบบไหนมีประสิทธิภาพสูงสุด

ส่วนประกอบหลักใน ยาแก้ไอแบบมีเสมหะ แบบไหนมีประสิทธิภาพสูงสุด

ยาแก้ไอ ที่เราคุ้นเคยกันดีนั้น แท้จริงแล้วก็มีความแตกต่างกันออกไปในเรื่องของตัวยาสำคัญที่มีฤทธิ์ในการจัดการอาการไอที่มีลักษณะแตกต่างกัน เช่น ยาแก้ไอแบบมีเสมหะ และ ยาแก้ไอแบบไม่มีเสมหะ ซึ่งหมายความว่า ยาแก้ไอชนิดหนึ่ง อาจไม่สามารถรักษาลักษณะอาการไออีกชนิดหนึ่งได้ ดังนั้น การสังเกตลักษณะการไอของคุณ และเลือกยาแก้ไอที่เหมาะสมนั้นก็จะสามารถบรรเทาอาการไอที่น่ากวนใจของคุณอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

ยาแก้ไอ…มีอะไรบ้าง

โดยทั่วไป ยาแก้ไอมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับลักษณะของอาการไอ เช่น อาการไอแห้ง ๆ ที่เกิดจากไข้หวัดหรืออาการแพ้ต่าง ๆ ยาที่มักใช้กับอาการเหล่านี้ มักจะเป็นยาที่เราเรียกรวมๆ ว่า “ยาแก้ไอ” ไม่ว่าจะมาในรูปของยาเม็ด ยาน้ำ หรือสเปรย์ ซึ่งการทำงานของยากลุ่มนี้ก็คือ การลดการตอบสนองของกลไกการไอของร่างกาย ทำให้ไอน้อยลง ทำให้เราไอลดลงและรู้สึกสบายขึ้น จึงเรียกยากลุ่มนี้ว่า “ยาระงับอาการไอ” หรือ “ยากดอาการไอ” ซึ่งตัวยาสำคัญที่พบในยากลุ่มนี้ก็คือ เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethrophan)

แต่ถ้าอาการไอของคุณเป็นอาการไอแบบมีเสมหะ คุณก็อาจต้องการยาในกลุ่มที่จะออกฤทธิ์ต่อเสมหะ เพื่อทำให้อาการไอของคุณดีขึ้น ซึ่งยากลุ่มนี้จะมีสารออกฤทธิ์และการทำงานที่แตกต่างกันออกไป

ยาแก้ไอแบบมีเสมหะ มีอะไรบ้าง

สำหรับ ยาแก้ไอ ในกลุ่มที่ออกฤทธิ์โดยตรงต่อเสมหะ ก็ยังสามารถแบ่งประเภทตามลักษณะการทำงานได้อีก 2 กลุ่ม ซึ่งใช้ตัวยาต่างกัน และการทำงานก็แตกต่างกันอีกด้วย นั่นก็คือ

ยาขับเสมหะ

ยาแก้ไอ แบบขับเสมหะ มีตัวยาสำคัญคือ ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) ซึ่งมีคุณสมบัติกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเมือกในระบบทางเดินหายใจมากขึ้น ทำให้เสมหะคลายความข้นเหนียวทำให้เราสามารถขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น ยาขับเสมหะ ที่จำหน่ายตามร้านขายยาโดยทั่วไปมักมาในรูปแบบของยาน้ำและยาเม็ด

ยาละลายเสมหะ

ยาแก้ไอ แบบละลายเสมหะ มักประกอบด้วยตัวยาสำคัญ 3 ตัว ด้วยกัน ซึ่งก็ต่างมีฤทธิ์ต่อเสมหะโดยตรง โดยจะช่วยทำให้เสมหะแตกตัวและมีความข้นเหนียวลดลง ทำให้ร่างกายสามารถไอเพื่อขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น โดยมีตัวยาสำคัญดังนี้

  • แอมบร็อกซอล ไฮโดรคลอไรด์ (Ambroxol hydrochloride) เป็นสารสำคัญที่ทำให้เสมหะที่สะสมอยู่ในระบบทางเดินหายใจบางลง และมีความหนืดน้อยลง จึงทำให้ร่างกายสามารถไอเพื่อขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น แม้ว่าในความเป็นจริง ยานี้ไม่สามารถหยุดการสร้างเสมหะ แต่การใช้ยาในระหว่างการรักษาจะช่วยไม่ให้เสมหะข้นเหนียวมากกว่าเดิมจนไม่สามารถไอออกมาได้ อย่างไรก็ตาม การใช้ยาละลายเสมหะที่ประกอบด้วยตัวยานี้ อาจมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารและลำไส้ แต่มักไม่มีอาการร้ายแรงใด ๆ
  • คาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine) เป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในยาละลายเสมหะ โดยมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และช่วยต้านการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ โดยถือว่าเป็นยาที่ปลอดภัยสำหรับการช่วยละลายเสมหะในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอีกด้วย
  • บรอมเฮกซีน (Bromhexine) มีฤทธิ์ในการช่วยลดความข้นเหนียวของเสมหะเช่นกัน แต่มีข้อควรระวังในการใช้สำหรับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้ หรือผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้
  • อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) หรือ เอ็น-อะเซทิลซิสเทอีน (N-acetylcysteine: NAC) มีคุณสมบัติทำให้โมเลกุลเสมหะแตกตัว ทำให้เสมหะมีความข้นเหนียวลดลงและถูกขับออกมาได้ง่ายขึ้น นอกจากคุณสมบัติในการช่วยละลายเสมหะอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ตัวยานี้ยังมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบอีกด้วย นอกจากนี้ ด้วยโครงสร้างทางเคมีของตัวยาชนิดนี้ที่สามารถละลายน้ำได้ดี เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดี รวมทั้งสามารถแพร่กระจายตัวในร่างกายได้ดีอีกด้วย

สรุปแล้ว การจะตัดสินว่าตัวยาไหนที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการไอมากที่สุดคงไม่สามารถทำได้ เพราะตัวยาแต่ละตัวมีคุณสมบัติและข้อบ่งใช้ต่างกัน สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณควรพิจารณาหากจำเป็นต้องใช้ ยาแก้ไอ เหล่านี้ คือความเข้าใจถึงลักษณะอาการไอ สาเหตุ และควรปฏิบัติตามข้อบ่งใช้และข้อควรระวังที่ระบุไว้ในฉลากยาอย่างเคร่งครัด หรือหากมีข้อสงสัยหรือคำถามใดๆ การปรึกษาแพทย์คือวิธีที่ดีที่สุด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cough Medicine: Understanding Your OTC Options. https://www.drugs.com/ambroxol.html. Accessed 18 Feb 2019

Mucolytics, Expectorants, and Mucokinetic Medications. http://rc.rcjournal.com/content/52/7/859. Accessed 18 Feb 2019

Carbocysteine: clinical experience and new perspectives in the treatment of chronic inflammatory diseases. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19239402. Accessed 18 Feb 2019

Acetylcysteine 200mg Powder for Oral Solution. https://www.medicines.org.uk/emc/product/2488/smpc. Accessed 18 Feb 2019

A Guide to Cough Medicine. https://www.webmd.com/cold-and-flu/cold-guide/cough-syrup-cough-medicine. Accessed June 14, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/06/2021

เขียนโดย แวววิกา ศรีบ้าน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไอตอนกลางคืน สาเหตุและวิธีช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น

ลักษณะการไอ ของคุณเป็นแบบไหน ลองเช็คอาการไอ 5 รูปแบบต่อไปนี้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย แวววิกา ศรีบ้าน · แก้ไขล่าสุด 15/06/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา