backup og meta

ฟัน โครงสร้าง หน้าที่ และการดูแลฟันอย่างถูกวิธี

ฟัน โครงสร้าง หน้าที่ และการดูแลฟันอย่างถูกวิธี

ฟัน เป็นอวัยวะหนึ่งในระบบย่อยอาหาร โดยมนุษย์จะมีฟันขึ้น 2 ชุด ได้แก่ ฟันน้ำนม มี 20 ซี่จะขึ้นในช่วงอายุ 6 เดือนไปจนถึง 3 ปี และฟันแท้ มี 32 ซี่ ซึ่งจะขึ้นแทนที่ฟันน้ำนม ฟันถือเป็นอวัยวะที่แข็งที่สุดในร่างกายมนุษย์มีหน้าที่หลัก ๆ ในการบดเคี้ยวอาหาร ช่วยในการออกเสียง ช่วยรักษารูปหน้า เป็นต้น การดูแลฟันอย่างถูกวิธี ด้วยวิธีการ เช่น การแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง การตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะอาจช่วยส่งเสริมให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรงขึ้นได้

ฟัน คืออะไร

ฟัน คือ อวัยวะส่วนหนึ่งในระบบย่อยอาหาร ทั้งยังจัดเป็นอวัยวะที่แข็งที่สุดในร่างกายมนุษย์ด้วย โดยปกติแล้ว มนุษย์จะมีฟัน 2 ชุด ได้แก่ ฟันน้ำนมและฟันแท้

  • ฟันน้ำนม เป็นฟันชุดแรก มีทั้งหมด 20 ซี่ แบ่งเป็นฟันล่าง 10 ซี่ และฟันบน 10 ซี่ ฟันน้ำนมจะพัฒนาตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ แต่มักเริ่มงอกพ้นเหงือกตอนอายุประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี และโดยส่วนใหญ่ ฟันน้ำนมจะขึ้นตามลำดับจนครบ 20 ซี่ตอนอายุประมาณ 2 ปีครึ่ง หรือไม่เกิน 3 ปี หากดูแลรักษาอย่างดี ฟันน้ำนมจะคงอยู่อีกประมาณ 2-3 ปี ก่อนจะเริ่มหลุดและมีฟันแท้ขึ้นแทนที่ ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงอายุ 5-6 ปี
  • ฟันแท้ หรืออาจเรียกว่า ฟันถาวร เป็นฟันชุดที่ 2 มีทั้งหมด 32 ซี่ แบ่งเป็นฟันล่าง 16 ซี่ และฟันบน 16 ซี่ โดยฟันแท้จะเริ่มขึ้นแทนที่ฟันน้ำนมตอนอายุประมาณ 5-6 ปี และอาจมีฟันแท้ขึ้นทั้งหมด 28 ซี่ ในช่วงอายุ 14-16 ปี โดยฟันแท้อีก 4 ซี่ที่ยังไม่ขึ้นมักเป็นฟันคุดซึ่งจะขึ้นช้ากว่าฟันซี่อื่น ๆ ส่วนใหญ่มักพบฟันคุดที่ฟันซี่ในสุดของฟันบนและฟันล่าง ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา อย่างละซี่ โดยฟันคุดอาจเริ่มขึ้นในช่วงอายุ 17-21 ปี หรือช้ากว่านั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

ส่วนประกอบของฟัน

ทั้งฟันน้ำนมและฟันแท้ มีโครงสร้างหรือส่วนประกอบที่คล้ายคลึงกัน ดังนี้

  • ตัวฟัน ประกอบด้วย
    • เคลือบฟัน ส่วนชั้นนอกสุดของฟัน ได้ชื่อว่าเป็นส่วนที่แข็งที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ช่วยปกป้องเนื้อฟัน เคลือบฟันมักมีสีขาวอมเหลืองหรืออมเทา และโปร่งแสง ผู้ที่มีเคลือบฟันบางอาจมองเห็นเนื้อฟันซึ่งมีสีเหลืองได้ชัดกว่าผู้ที่มีเคลือบฟันหนา จึงอาจทำให้ดูเหมือนฟันเหลืองกว่าได้
    • เนื้อฟัน เนื้อเยื่อชั้นกลางของฟัน ลักษณะเป็นสีเหลือง มีท่อขนาดเล็กจำนวนมากที่เชื่อมต่อกับเคลือบฟันและโพรงประสาทพัน
    • โพรงประสาทฟัน เนื้อเยื่ออ่อนลักษณะเป็นช่องหรือโพรงอยู่กลางตัวฟัน ประกอบด้วยเส้นเลือด เส้นประสาท หลอดน้ำเหลือง และเซลล์สร้างเนื้อฟัน หากโพรงประสาทฟันเสียหาย อาจส่งผลให้ปวดฟันหรือเสียวฟันได้
  • รากฟัน ประกอบด้วย
    • เคลือบรากฟัน เนื้อเยื่อสีเหลืองอ่อนที่ปกคลุมส่วนนอกของรากฟัน คอยยึดเส้นเอ็นยึดปริทันต์เพื่อให้รากฟันติดกับกระดูก
    • เนื้อฟัน เป็นเนื้อเยื่อชั้นกลาง อยู่ถัดจากเคลือบรากฟัน
    • โพรงรากฟัน หรือคลองรากฟัน อยู่กลางรากฟัน เชื่อมต่อกับโพรงประสาทฟัน ประกอบด้วยเส้นเลือด เส้นประสาท หลอดน้ำเหลือง ที่ปลายรากฟันจะมีรูให้โพรงรากฟันเชื่อมกับเนื้อเยื่อภายนอก ซึ่งหากโพรงรากฟันผุอาจส่งผลให้เชื้อแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ได้
  • ชั้นร่องเหงือก เป็นร่องลึกประมาณ 2 มิลลิเมตร อยู่ระหว่างตัวฟันกับขอบเหงือก
  • เหงือก เนื้อเยื่อหุ้มที่ตัวฟันและกระดูกขากรรไกรเอาไว้
  • กระดูกเบ้าฟัน กระดูกขากรรไกรที่รากฟันฝังอยู่ มีลักษณะพรุนและโค้งเว้ารองรับฟันแต่ละซี่

หน้าที่ของฟัน

ฟันแต่ละซี่อาจมีหน้าที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • ฟันหน้าหรือฟันตัด มีหน้าที่ตัดหรือสับอาหาร
  • ฟันเขี้ยว มีหน้าที่ฉีก ตัด หรือแยกอาหารออกจากกัน
  • ฟันกรามน้อย มีหน้าที่ตัด ฉีก และบดอาหาร
  • ฟันกราม มีหน้าที่เคี้ยวและบดอาหาร

นอกจากนี้ ฟันหน้าและฟันเขี้ยวยังอาจส่งผลต่อการออกเสียง เช่น เสียง ซ ส หากฟันผิดปกติ จึงอาจส่งผลต่อการพูดหรือการออกเสียงได้ด้วย

ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับฟัน

ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับฟันที่มักพบได้ อาจมีดังนี้

ฟันบนยื่น หรือฟันเหยิน

ภาวะที่ฟันบนยื่นเลยออกมาจากฟันล่างอย่างมาก อาจเกิดจากกระดูกกะโหลกศีรษะผิดปกติ การดูดนิ้วหรือการใช้ลิ้นดุนฟันในวัยเด็ก เป็นต้น ฟันเหยินมักส่งผลให้รูปหน้าผิดปกติ เช่น หน้าอูม มีร่องใต้คาง และมีฟันสบผิดปกติ หากส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือก่อให้เกิดภาวะสุขภาพแทรกซ้อน เช่น เหงือกอักเสบ อ้าปากลำบาก อาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยการจัดฟันหรือผ่าตัด

ฟันล่างคร่อมฟันบน

ภาวะที่ฟันล่างยื่นเลยออกมาจากฟันบนอย่างมาก อาจเกิดจากแนวขากรรไกรผิดปกติ การบาดเจ็บที่ขากรรไกร เช่น ขากรรไกรหัก การดูดนิ้วในวัยเด็ก เป็นต้น หากฟันล่างคร่อมฟันบนในระดับรุนแรง อาจส่งผลให้มีปัญหาในการพูด ทำให้ฟันบนสึกกร่อน จนฟันบิ่นหรือฟันแตก ทั้งยังอาจทำให้เคี้ยวอาหารลำบาก และอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดขากรรไกร เพื่อปรับแนวขากรรไกรให้เป็นปกติขึ้น ทำให้ฟันสบกันได้ดีขึ้น

อาการปวดฟัน

ถือเป็นปัญหาสุขภาพฟันที่พบได้บ่อยมาก อาจเกิดจากฟันผุ โรคเหงือก ฟันคุด โรคไซนัสอักเสบ ฟันถูกกระแทกจนได้รับบาดเจ็บ มีเศษอาหารติดตามซอกฟัน เป็นต้น จนส่งผลให้รู้สึกปวดที่ฟันหรือเหงือก มีอาการเสียวฟันเมื่อรับประทานอาหารเย็น ๆ เช่น ไอศกรีม น้ำแข็ง น้ำเย็น โดยปกติแล้วอาการปวดฟันอาจดีขึ้นได้เมื่อรักษาภาวะสุขภาพที่เป็นสาเหตุทำให้ปวดฟัน

ฟันผุ

มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งอาจอยู่ในน้ำลาย หรือเป็นผลจากการแปรงฟันที่ไม่สะอาดพอ ส่งผลให้มีแบคทีเรียสะสม และทำลายเคลือบฟันหรือเนื้อฟัน จนเกิดเป็นรูหรือโพรงที่ตัวฟัน ทำให้เสียวฟันเมื่อรับประทานอาหารเย็นจัด ปวดฟัน เป็นต้น หากปล่อยให้มีรูผุจนถึงประสาทฟันหรือรากฟัน อาจส่งผลให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ได้ เช่น สมอง หัวใจ ไต

โรคเหงือกอักเสบ

มักเกิดจากมีคราบพลัคหรือคราบจุลินทรีย์สะสม จนทำให้เกิดสารพิษซึ่งทำให้เนื้อเยื่อเหงือกระคายเคืองและอักเสบ อาการที่อาจเป็นสัญญาณของโรคเหงือกอักเสบ เช่น เหงือกอักเสบ บวมแดง มีเลือดออก มีกลิ่นปาก และหากปล่อยไว้อาจรุนแรงถึงขั้นส่งผลให้ฟันโยก ฟันเคลื่อน หรือฟันหลุดออกจากเบ้าได้

การดูแลสุขภาพฟันที่ถูกวิธี

การดูแลสุขภาพฟันด้วยวิธีเหล่านี้ อาจช่วยให้สุขภาพฟันแข็งแรง ทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมด้วย

  • แปรงฟันและลิ้นให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันหลังแปรงฟันเพื่อทำความสะอาดเศษอาหารที่อาจตกค้างอยู่บนฟัน
  • ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ เพราะช่วยให้ฟันแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาฟันผุ
  • เปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3-4 เดือน หรือเมื่อแปรงสีฟันเสื่อมสภาพ ไม่ว่าจะใช้แปรงสีฟันแบบธรรมดาหรือแปรงสีฟันแบบไฟฟฟ้า เพราะขนแปรงที่เสื่อมสภาพ อาจทำความสะอาดฟันและภายในช่องปากได้ไม่ดีนัก
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่ช่วยให้ฟันแข็งแรง เช่น ไข่ นม ผักใบเขียว ธัญพืชไม่ขัดสี
  • ลดหรืองดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณมาก เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดฟันผุได้ หรือหากรับประทานอาหารประเภทนี้ ควรแปรงฟันทันที
  • ไม่สูบบุหรี่ เพราะสารเคมีในบุหรี่ส่งผลเสียต่อเหงือกและฟัน
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากทุก ๆ 6 เดือน หรือตามที่ทันตแพทย์นัด เพื่อทำความสะอาดฟัน ขูดหินปูน และตรวจหาความผิดปกติในช่องปาก
  • หากจัดฟัน หรือใส่รีเทนเนอร์หลังจัดฟัน ควรทำความสะอาดฟัน อุปกรณ์จัดฟัน และรีเทนเนอร์ให้ดี หากยังจัดฟันอยู่ ควรเข้าพบคุณหมอตามนัดทุกครั้ง และหากใส่รีเทนเนอร์แล้ว ควรใส่รีเทนเนอร์ตลอดตามที่คุณหมอแนะนำ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อฟัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Picture of the Teeth. https://www.webmd.com/oral-health/picture-of-the-teeth. Accessed December 31, 2021

Everything you need to know about teeth. https://www.nhsinform.scot/healthy-living/dental-health/your-teeth/everything-you-need-to-know-about-teeth. Accessed December 31, 2021

Dental care – adult. https://medlineplus.gov/ency/article/001957.htm. Accessed December 31, 2021

15 Tooth Problems. https://www.webmd.com/oral-health/ss/slideshow-tooth-problems. Accessed December 31, 2021

What to Know About Underbite. https://www.webmd.com/oral-health/what-to-know-about-underbite. Accessed December 31, 2021

โครงสร้างของฟัน. https://dt.mahidol.ac.th/th/โครงสร้างของฟัน/. Accessed December 31, 2021

Permanent Teeth : Function. http://web1.dent.cmu.ac.th/thai/diag/CAI/DANA281/chapter08/doc05.html. Accessed December 31, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/01/2022

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปาก เช็กสิ! คุณมีพฤติกรรมเหล่านี้หรือเปล่า

ไม้จิ้มฟันกับไหมขัดฟัน กำจัดเศษอาหารเหมือนกัน แต่อันไหนดีต่อสุขภาพช่องปากที่สุดล่ะ?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 01/01/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา