backup og meta

เหงือกร่น สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและป้องกัน

เหงือกร่น สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและป้องกัน

เหงือกร่น คือ ปัญหาสุขภาพเหงือกที่เนื้อเหงือกร่นขึ้น จนอาจไปถึงรากฟัน และทำให้สามารถมองเห็นเนื้อฟันหรือช่องของฟันได้ ภาวะนี้อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพฟันตามมา เช่น มีอาการเสียวฟัน มีเลือดออก หรือฟันโยก การทราบข้อมูลเบื้องต้นของภาวะเหงือกร่น อาจช่วยให้เข้ารับการวินิจฉัย และรักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

คำจำกัดความ

เหงือกร่น คืออะไร

เหงือกร่น คือ ปัญหาสุขภาพเหงือกที่เนื้อเหงือกร่นขึ้น จนอาจไปถึงรากฟัน และทำให้สามารถมองเห็นเนื้อฟันหรือช่องของฟันได้มากขึ้น เมื่อเหงือกร่น จะเกิดช่องระหว่างฟันและขอบเหงือก ซึ่งอาจมีแบคทีเรียก่อโรคไปสะสมอยู่ และหากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจส่งผลให้เนื้อเยื่อพยุงและโครงสร้างของฟันถูกทำลายจนเสียหายร้ายแรง และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากอื่น ๆ ตามมา เช่น เสียวฟัน มีเลือดออก ฟันโยก หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้ฟันหลุดร่วงได้

เหงือกร่นพบได้บ่อยเพียงใด

เหงือกร่นเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบได้บ่อย คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่ามีปัญหาเหงือกร่น เพราะภาวะนี้มักพัฒนาอย่างช้า ๆ ซึ่งอาจทำให้หลายคนละเลย และไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่า่งทันท่วงที

หากรู้สึกเสียวฟัน หรือรู้สึกว่าฟันยาวขึ้น หรือเป็นเนื้อฟันเยอะขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากที่รุนแรง

อาการ

อาการของเหงือกร่น

เมื่อเหงือกร่น อาจส่งผลให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

  • มีเลือดออกหลังแปรงฟัน หรือหลังใช้ไหมขัดฟัน
  • เหงือกบวมแดง
  • มีกลิ่นปาก
  • ปวดบริเวณเหงือก
  • เหงือกร่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • สามารถมองเห็นรากฟันได้
  • ฟันโยก

ในช่วงแรก ๆ หลายคนอาจไม่รู้ตัวว่าเหงือกร่นและไม่สังเกตความผิดปกติของเหงือกที่เกิดขึ้น จนอาจปล่อยไว้นานวันโดยไม่ได้เข้ารับการรักษา หากอาการเริ่มรุนแรง ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการสูญเสียฟันได้

สาเหตุ

สาเหตุของเหงือกร่น

เหงือกร่นมักเกิดจากการสึกหรอและการอักเสบที่บริเวณเหงือก ซึ่งอาจเป็นผลจากอาการทางสุขภาพและพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังต่อไปนี้

  • การแปรงฟันอย่างรุนแรงและผิดวิธี
  • การสูบบุหรี่
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน (ในผู้หญิง)
  • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเกี่ยวกับโรคเหงือก
  • โรคเบาหวาน
  • การติดเชื้อเอชไอวี
  • ยารักษาโรคบางชนิดที่รับประทานเข้าไปแล้วทำให้ปากแห้ง ส่งผลให้มีน้ำลายน้อยและไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อในช่องปาก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเหงือกร่น
  • การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก หรือที่เหงือก
  • การบาดเจ็บบริเวณปาก หรือที่เหงือก

นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยจาก The California Dental Association (CDA) ยังระบุว่าผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปอาจเสี่ยงเหงือกร่นมากกว่า และเพศชายมีแนวโน้มเหงือกร่นมากกว่าเพศหญิง

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยเหงือกร่น

การวินิจฉัยภาวะเหงือกร่น ทันตแพทย์อาจตรวจสุขภาพช่องปาก โดยเฉพาะบริเวณเหงือก และอาจวัดร่องลึกของเหงือก หรือที่เรียกว่า ร่องลึกปริทันต์ ด้วยหมุดหยั่งแผล หรือเครื่องแหย่ (Probe) โดยปกติแล้วร่องลึกปริทันต์จะมีขนาด 1-3 มิลลิเมตร หากมากกว่านั้น อาจเป็นสัญญาณว่ามีปัญหาโรคเหงือก เช่น เหงือกร่น

การรักษาเหงือกร่น

การรักษาเหงือกร่นอาจทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • รักษาด้วยยา หากพบว่าสาเหตุของเหงือกร่นมาจากการติดเชื้อ คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการ เช่น เจลทาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ ยาฆ่าเชื้อ น้ำยาบ้วนปากสำหรับรักษาโรคในช่องปาก หรือยาที่มีสรรพคุณระงับและยับยั้งเอนไซม์
  • ผ่าตัด หากเหงือกร่นรุนแรงอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ที่นิยมใช้ เช่น การผ่าตัดเปิดแผ่นเหงือกเพื่อขูดทำความสะอาด (Flap surgery) การปลูกถ่ายเหงือก (Grafting)

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันเหงือกร่น

วิธีดูแลสุขภาพเหงือกเหล่านี้ อาจช่วยป้องกัน หรือลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเหงือกร่นได้

  • หมั่นตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ หากพบความผิดปกติใด ๆ จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที
  • แปรงฟันเป็นประจำและควรแปรงฟันให้ถูกวิธี
  • ใช้ไหมขัดฟันหลังแปรงฟัน เพื่อกำจัดสิ่งเศษอาหารหรือแบคทีเรียที่ตกค้าง
  • ใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม
  • ดูแลสุขภาพช่องปากไม่ให้เกิดคราบหินปูน เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเหงือกตามมา

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Receding Gums. https://www.webmd.com/oral-health/guide/receding_gums_causes-treatments#1. Accessed on April 3, 2020

Receding Gums. https://www.webmd.com/oral-health/guide/receding_gums_causes-treatments#1. Accessed October 27, 2021

Gum Recession: Causes and Treatments. http://www.ada.org/en/~/media/ADA/Publications/Files/ADA_PatientSmart_Gum_Recession. Accessed October 27, 2021

The health risks of gum disease. https://www.nhs.uk/live-well/healthy-body/health-risks-of-gum-disease/. Accessed October 27, 2021

Your Mouth, Your Health. https://www.webmd.com/oral-health/ss/slideshow-teeth-gums. Accessed October 27, 2021

Why your gums are so important to your health. https://www.health.harvard.edu/heart-health/why-your-gums-are-so-important-to-your-health. Accessed October 27, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/01/2022

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

แปรงสีฟัน เลือกให้ถูกต้อง เพื่อสุขภาพฟันที่ดี

สุขภาพเหงือก เรื่องสำคัญของช่องปากที่ห้ามละเลย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 28/01/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา