backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

สายตาเอียง สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 28/10/2021

สายตาเอียง สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

สายตาเอียง เป็นปัญหาสายตาที่พบได้บ่อย เกิดจากกระจกตา (แก้วตา) หรือเลนส์ตามีรูปร่างผิดปกติ เช่น ไม่โค้งกลม ทำให้เกิดจุดหักเหแสงมากกว่าหนึ่งจุด จึงส่งผลให้มองเห็นไม่ชัด หรือตาพร่ามัว เห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นภาพเบลอ จนอาจต้องเพ่งตลอดจนปวดตา หรือปวดศีรษะ เป็นต้น

คำจำกัดความ

สายตาเอียง คืออะไร

ภาวะสายตาเอียง (Astigmatism) เป็นปัญหาสายตาที่มักเกิดจากกระจกตา หรือที่เรียกว่า แก้วตา (Cornea) มีรูปร่างผิดปกติ หรือบางครั้งอาจเกิดจากความโค้งของเลนส์ตาผิดปกติ เช่น โค้งไม่เท่ากัน

ในภาวะที่สายตาปกติ เมื่อมองวัตถุ แสงที่กระทบและหักเหผ่านเลนส์ตาจะมาตกกระทบที่จุดศูนย์กลางของจอประสาทตา หรือจอตา (Retina) พอดี ทำให้มองเห็นภาพที่คมชัด แต่หากรูปร่างของกระจกตาหรือเลนส์ตาผิดปกติ แสงจะไม่ตกกระทบที่จอประสาทตาพอดี หรือตกกระทบสองจุด ส่งผลให้สายตาเอียง คือ ตาเบลอ มองใกล้หรือมองไกลก็ไม่ชัด และยังอาจทำให้รู้สึกปวดตาหรือปวดศีรษะได้ด้วย

ผู้ที่มีปัญหาสายตาเอียงมักจะมีปัญหาสายตาสั้น (Myopia) หรือสายตายาว (Hyperopia) ร่วมด้วย ซึ่งทั้ง 3 อาการนี้ เรียกว่าโรคสายตา หรือภาวะสายตาผิดปกติ (Refractive Errors) ซึ่งล้วนแต่เกิดจากหักเหของแสงที่ผิดปกติทั้งสิ้น โดยสายตาสั้นเกิดจากแสงตกกระทบก่อนถึงจอประสาทตา สายตายาวเกิดจากแสงตกกระทบเลยจอประสาทตาไป

สายตาเอียง พบได้บ่อยเพียงใด

สายตาเอียงพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย บางคนอาจมีสายตาเอียงแต่กำเนิด แต่ส่วนใหญ่ภาวะสายตาเอียงมักเริ่มในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น หรือบางคนอาจสายตาเอียงหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา หรือผ่าตัดตา

อาการ

อาการสายตาเอียง

อาการของภาวะสายตาเอียงที่พบได้ทั่วไป ได้แก่

  • ตาล้า ตาเพลีย หรือปวดตา
  • ตาเบลอ หรือมองเห็นภาพผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงในทุกระยะ
  • เวลาจะมองอะไรต้องเพ่งตลอด
  • มีปัญหาในการมองตอนกลางคืน
  • ปวดศีรษะ

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากสายตาเอียงในระดับเบา อาจสังเกตไม่พบอาการเหล่านี้ และไม่ได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากพบว่าสุขภาพตาผิดปกติ จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในเด็ก เพราะสายตาเอียงในเด็ก อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพตาอื่น ๆ ได้ เช่น โรคตาขี้เกียจ

สาเหตุ

สาเหตุของสายตาเอียง

ผู้ที่สายตาเอียงส่วนใหญ่มักมีภาวะนี้มาตั้งแต่เกิด ซึ่งเป็นผลจากความโค้งของกระจกตาหรือเลนส์ตาผิดปกติ แม้คุณหมอจะยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะอะไร ทำไมแต่ละคนถึงมีรูปร่างของกระจกตาหรือเลนส์ตาที่แตกต่างกันได้ แต่ก็เชื่อว่า ภาวะสายตาเอียงที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นโรคทางพันธุกรรม

แต่ในบางกรณี ภาวะสายตาเอียงก็อาจเกิดจากภาวะที่พบได้ยาก เรียกว่า โรคกระจกตาย้วย (Keratoconus) คือ ภาวะที่กระจกตาค่อย ๆ บางลงและเปลี่ยนรูปทรงเป็นทรงกรวย ทำให้สายตาเอียงมาก มองเห็นไม่ชัด และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการสวมแว่นสายตา ต้องสวมคอนแทคเลนส์เพื่อให้มองเห็นชัดขึ้น และนานไปอาจถึงขั้นต้องผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา

นอกจากนี้ หากได้รับบาดเจ็บที่ตา ได้รับการผ่าตัดตา หรือเป็นโรคตา ก็อาจนำไปสู่ภาวะสายตาเอียงได้เช่นกัน แต่ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การอ่านหนังสือในที่มืด หรือดูทีวีใกล้เกินไป ไม่ได้ทำให้สายตาเอียงอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจผิดกัน และเมื่อเวลาระดับความรุนแรงของภาวะสายตาเอียงอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยสายตาเอียง

ส่วนใหญ่แล้ว อาการของภาวะสายตาเอียงจะค่อย ๆ พัฒนา ทำให้หลายคนไม่ทันสังเกต แต่หากการมองเห็นผิดปกติ ควรเข้าพบคุณหมอทันที และทางที่ดี ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี หากพบความผิดปกติของตาและการมองเห็น คุณหมอจะได้หาวิธีรักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

วิธีวินิจฉัยภาวะสายตาเอียง อาจมีดังนี้

  • การวัดระดับสายตา หรือการวัดระดับการมองเห็น (Visual Acuity Test)

โดยจักษุแพทย์อาจให้อ่านแผ่นทดสอบที่เรียกว่า Snellen’s chart ซึ่งมีตัวเลขหรือตัวอักษรหลายขนาดพิมพ์อยู่บนพื้นหลังสีขาว หรือในบางกรณี สำหรับผู้ที่ไม่รู้หนังสือหรือในเด็กเล็ก จักษุแพทย์อาจให้อ่าน E chart ซึ่งมีตัวอักษร “E’ (อี) หลายขนาดและหลายลักษณะพิมพ์อยู่บนพื้นหลังสีขาว

  • การวัดค่าความโค้งของกระจกตา (Keratometer Test)

จักษุแพทย์จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เคอราโตมิเตอร์ (Keratometer) ส่องไฟไปที่กระจกตา จากนั้นเครื่องจะวัดระดับความโค้งของกระจกตาจากแสงสะท้อนที่ตกกระทบกระจกตา

  • การวัดค่าสายตา (Refraction Test)

จักษุแพทย์จะใช้เครื่องโฟร์ออปเตอร์ (Phoropter) ในการวัดค่าสายตา โดยจะเปลี่ยนชุดเลนส์บนเครื่องไปเรื่อย ๆ เพื่อหาว่า เลนส์ค่าสายตาเท่าไหร่จะทำให้ตามองภาพได้คมชัดที่สุด

การรักษาสายตาเอียง

หากสายตาเอียง จักษุแพทย์จะมุ่งเน้นในการพัฒนาสายตาให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น และบรรเทาอาการปวดตาหรือตาล้า โดยวิธีรักษาภาวะสายตาเอียงที่นิยมใช้ ได้แก่

เลนส์แก้ไขสายตา

เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความโค้งของกระจกตาและเลนส์ตาที่ผิดปกติ โดยเลนส์แก้ไขสายตาเอียง มักมาในรูปแบบดังต่อไปนี้

  • แว่นสายตา

เป็นแว่นที่ตัดตามแพทย์สั่ง โดยเลนส์ของแว่นจะช่วยให้แสงหักเหลงบนจอประสาทตาได้ตรงจุด ส่งผลให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น และหากมีปัญหาสายตาเอียงร่วมกับสายตาสั้นหรือสายตายาว แว่นสายตาสั่งตัดก็สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ด้วย

  • คอนแทคเลนส์

คอนแทคเลนส์ที่สวมใส่เพื่อแก้ปัญหาสายตาเอียงมีด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น คอนแทคเลนส์แบบนิ่ม คอนแทคเลนส์แบบแข็ง คอนแทคเลนส์แบบที่ก๊าซซึมผ่านได้ (Gas Permeable Contact Lenses) คอนแทคเลนส์แบบสองค่าสายตาในคู่เดียว (Bifocal Lenses)

จักษุแพทย์อาจรักษาปัญหาสายตาเอียง และปัญหาสายตาอื่น ๆ ด้วยวิธีที่เรียกว่า การใส่เลนส์กดตา (Orthokeratology หรือ Ortho-K) เพื่อปรับรูปร่างของกระจกตาให้มองเห็นได้ดีขึ้น โดยให้ใส่เลนส์กดตานี้ในตอนกลางคืนขณะหลับ เมื่อใส่เลนส์กดตาเป็นประจำ รูปร่างของกระจกตาก็จะค่อย ๆ เป็นปกติขึ้น แต่วิธีนี้ถือเป็นวิธีรักษาเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อเลิกใส่เลนส์กดตา รูปร่างของเลนส์กระจกตาและปัญหาสายตาก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม

การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ (Refractive surgery)

การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ จะช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องสวมแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ โดยการผ่าตัดแก้ไขปัญหาสายตาเอียงที่แพทย์นิยมใช้ เช่น

การทำเลสิก (Laser-assisted in-situ keratomileusis หรือ LASIK) เป็นการผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์ที่เรียกว่า “เอ็กไซเมอร์เลเซอร์” ร่วมกับเครื่องมือแยกชั้นกระจกตา โดยจักษุแพทย์จะแยกชั้นกระจกตาออกประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของกระจกตาทั้งหมด แล้วฉายเลเซอร์ไปที่กระจกตาชั้นกลางเพื่อปรับความโค้งของกระจกตา จากนั้นจึงปิดกระจกตากลับลงไปโดยไม่ต้องเย็บ กระจกตาจะสมานติดกันเองตามธรรมชาติ

  • การทำเลเสก

สำหรับการทำเลเสก (Laser-assisted subepithelial keratectomy หรือ LASEK) จักษุแพทย์จะลอกผิวชั้นนอกสุดของกระจกตาหรือเนื้อเยื่อบุกระจกตา (Epithelium) ออกด้วยแอลกอฮอล์ชนิดพิเศษ แล้วฉายเลเซอร์ชนิดเอ็กไซเมอร์เลเซอร์เพื่อปรับแต่งผิวกระจกตาให้ได้ตามค่าสายตาและความโค้งที่ต้องการ ก่อนจะปิดเยื่อบุผิวของกระจกตากลับเข้าไปที่เดิม หลังจากผ่าตัด จักษุแพทย์อาจให้ใส่คอนแทคเลนส์ไว้ชั่วคราวเพื่อป้องกันตา

  • การรักษาด้วยพีอาร์เค

การรักษาด้วยพีอาร์เค (Photorefractive keratectomy หรือ PRK) เป็นการรักษาผิวชั้นนอกสุดของกระจกตาหรือเนื้อเยื่อบุกระจกตา (Epithelium) ออก แล้วฉายเลเซอร์เข้าไปที่กระจกตาชั้นกลาง จากนั้นจึงปิดแผลด้วยคอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษจนกว่าผิวด้านบนจะกลับมาคลุมกระจกตาเหมือนเดิม จึงค่อยนำคอนแทคเลนส์ออก

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดแก้ไขปัญหาสายตาเอียงเหล่านี้อาจมาพร้อมผลข้างเคียง เช่น การผ่าตัดผิดพลาด เวลามองแสงแล้วเห็นแสงสะท้อนหรือมีรัศมีเหมือนทรงกลด ตาแห้ง ตาติดเชื้อ กระจกตาเป็นแผล หรือบางกรณีอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจผ่าตัดแก้ไขสายตาเอียงหรือปัญหาสายตาอื่น ๆ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 28/10/2021

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา