backup og meta

ผ่าตัดต้อกระจก

ผ่าตัดต้อกระจก

ต้อกระจก คือ ภาวะที่เลนส์แก้วตาเสื่อมสภาพ จากเหลืองใสกลายเป็นขุ่นมัวและแข็งขึ้น ทำให้มองเห็นภาพไม่ชัด โรคนี้ไม่มียารักษา ต้องรักษาด้วยการ ผ่าตัดต้อกระจก วิธีนี้จะช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้น จึงใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพตาอื่น ๆ ได้ด้วย

ต้อกระจก คืออะไร

ต้อกระจก (Cataract) คือ ภาวะที่เลนส์แก้วตาเสื่อมสภาพ จากเหลืองใสกลายเป็นขุ่นมัวและแข็งขึ้น หรือที่เรียกว่า ภาวะเลนส์ตาขุ่น หากอยู่ในระยะเริ่มต้นอาจสังเกตได้ยาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น มองเห็นภาพไม่ชัด ตาแพ้แสง หรือในบางกรณี ต้อกระจกอาจลดความสามารถในการมองเห็นในระยะใกล้ ภาวะนี้จัดเป็นความเสื่อมตามวัย พบมากในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป

ความจำเป็นในการผ่าตัดต้อกระจก

โรคต้อกระจกไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดต้อกระจกออก หรือที่เรียกว่า การลอกต้อกระจก ซึ่งเป็นการผ่าตัดเอาเลนส์แก้วตาที่เสื่อมสภาพออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทน หลังผ่าตัดและพักฟื้นแล้ว ผู้ป่วยจะสามารถกลับมามองเห็นได้ดีขึ้น

โดยปกติแล้ว คุณหมอจะแนะนำให้ผ่าตัดต้อกระจก หากต้อกระจกส่งผลกระทบดังต่อไปนี้

  • ต้อกระจกส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น มองเห็นไม่ชัดจนทำงานได้ลำบาก ขับรถไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ได้ มองเห็นหน้าคนรอบข้างไม่ชัดแม้จะยืนอยู่ใกล้มาก ตาแพ้แสงจนมองอะไรก็มัว
  • ต้อกระจกส่งผลให้เกิดโรคต้อหิน หรือสูญเสียการมองเห็น ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากปล่อยให้เป็นต้อกระจกนาน ไม่รีบรักษา

การผ่าตัดต้อกระจก

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดต้อกระจก

คุณหมอจะประเมินสุขภาพโดยรวมเพื่อดูว่าสามารถเข้ารับการผ่าตัดต่อกระจกได้หรือไม่ พร้อมทั้งตรวจสุขภาพตาและวัดสายตา เพื่อประเมินว่าควรใช้เลนส์แก้วตาเทียมชนิดใดจึงจะเหมาะสมที่สุด เช่น เลนส์ชัดระยะเดียว เลนส์ชัดหลายระยะ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประโยชน์ และความเสี่ยงในการผ่าตัดต้อกระจก หรือทางเลือกในการรักษา ควรปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก

ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจก

โดยปกติแล้ว การผ่าตัดต้อกระจกจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายในวันที่เข้ารับการผ่าตัด หากเป็นต้อกระจกทั้งสองข้าง คุณหมอจะผ่าตัดต้อกระจกให้ทีละข้าง โดยอาจต้องรอประมาณ 6-12 สัปดาห์ จึงจะเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกที่ตาอีกข้าง เพื่อให้ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก

ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจก มีดังต่อไปนี้

  1. จักษุแพทย์จะหยอดยาขยายและผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา ช่วยให้แพทย์ตรวจดวงตาและทำให้การผ่าตัดง่ายขึ้น
  2. วิสัญญีแพทย์จะหยอดยาชา หรือฉีดยาเฉพาะที่
  3. จักษุแพทย์จะกรีดเปิดช่องเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 2.3 มิลลิเมตรใกล้ ๆ ขอบแก้วตา ก่อนจะสอดเครื่องมือเข้าไปลอกเอาเลนส์ และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทน โดยปกติแล้ว จักษุแพทย์ไม่จำเป็นต้องเย็บปิดแผล เพราะแผลจากการผ่าตัดต้อกระจกสามารถสมานได้เอง
  4. จักษุแพทย์จะปิดตาด้วยสำลี และฝาครอบตา เพื่อป้องกันฝุ่น หรือสิ่งแปลกปลอม

หลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องพักในพื้นที่รับรองประมาณ 15-30 นาที จากนั้นสามารถกลับบ้านได้ เมื่อกลับถึงบ้าน ผู้ป่วยจะต้องดูแลตาที่ผ่านการผ่าต้อกระจกโดยการหยอดตาตามจักษุแพทย์สั่ง พยายามไม่ให้น้ำหรือสบู่เข้าตา ไม่ขยี้ตา และอาจต้องปิดฝาครอบตาขณะนอนหลับด้วย

จักษุแพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะสำหรับหยอดตาที่บ้านเพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ และอาจสั่งจ่ายยาสเตียรอยด์สำหรับหยอดตาเพื่อช่วยควบคุมอาการบวมในดวงตาด้วย

การดูแลตาหลังเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกตามที่จักษุแพทย์แนะนำ และเข้าพบจักษุแพทย์ตามนัดติดตามอาการ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดได้

ความเสี่ยงในการผ่าตัดต้อกระจก

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัดต้อกระจก คือ อาการ “blurred bag” ซึ่งเป็นภาวะที่เซลล์เลนส์แก้วตาที่ผ่าตัดออกไปเริ่มเกิดขึ้นอีกครั้ง ทำให้ดวงตาของคุณมองเห็นไม่ชัดและทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่นเดิม ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำนี้ จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดด้วยเลเซอร์

ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจพบได้หลังผ่าตัดต้อกระจก อาจมีดังนี้

  • ตาอักเสบ
  • ตาติดเชื้อ
  • เลนส์แก้วตาฉีกขาด
  • มีปัญหาเกี่ยวกับเลนส์ตาใหม่ เช่น เลนส์ใหม่ผิดชนิด หรือวางผิดตำแหน่ง
  • จอประสาทตาลอก หรือจอตาหลุดลอก (Retinal detachment)
  • มีเลือดออกด้านในดวงตา ซึ่งจักษุแพทย์อาจจำเป็นต้องหยุดการผ่าตัด และให้เข้ารับการผ่าตัดใหม่วันอื่น

ความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง อาจยิ่งเพิ่มขึ้น หากผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพตาอื่น ๆ หรือมีปัญหาสุขภาพร้ายแรง และการผ่าตัดต้อกระจกก็อาจไม่ได้ผลหากต้อกระจกเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม โรคต้อหิน

อย่างไรก็ตาม หากตาบวมแดงมากขึ้น หรือสูญเสียความสามารถในการมองเห็นหลังผ่าตัดต้อกระจก ควรรีบเข้าพบจักษุแพทย์ทันที จะได้หาสาเหตุและรักษาได้อย่างทันท่วงที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cataract surgery. http://www.mayoclinic.org/tests-procedures/cataract-surgery/basics/definition/prc-20012917. Accessed July 16, 2016.

Cataract Surgery. http://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-cataract-surgery. Accessed July 16, 2016.

Eye Health and Cataract Surgery. http://www.webmd.com/eye-health/eye-health-cataract-surgery. Accessed July 16, 2016.

Cataract Surgery. https://www.nhs.uk/conditions/cataract-surgery/#:~:text=Cataract%20surgery%20involves%20replacing%20the,fully%20recover%20from%20cataract%20surgery. Accessed October 28, 2021

Cataract Surgery Recovery: 5 Tips From an Expert. https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/cataract-surgery-recovery-5-tips-from-an-expert. Accessed October 28, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/10/2021

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เคล็ดลับ ดูแลสุขภาพตา ที่ทำได้ง่ายๆ เพื่อให้ดวงตามีสุขภาพดีในทุกวัน

โรคตาในผู้สูงอายุ ปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมอายุที่มากขึ้น


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 29/10/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา