backup og meta

ห่วงคุมกำเนิด ประโยชน์ และความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ควรรู้

ห่วงคุมกำเนิด ประโยชน์ และความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ควรรู้

ห่วงคุมกำเนิด หรือ ห่วงอนามัย เป็นหนึ่งในวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของห่วงคุมกำเนิดอาจขึ้นอยู่กับวิธีการใช้งานและการดูแลรักษาด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่

ทำความรู้จักกับ ห่วงคุมกำเนิด

ห่วงคุมกำเนิดคืออะไร

ห่วงคุมกำเนิด หรือห่วงอนามัย หรือห่วงอนามัยคุมกำเนิด (Intrauterine Device: IUD) เป็นเครื่องมือชิ้นเล็ก ๆ สำหรับสอดเข้าไปใสโพรงมดลูกผ่านอุปกรณ์สอด จากนั้นห่วงคุมกำเนิดจะปล่อยสารออกฤทธิ์ เช่น ทองแดง ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนออกมา เพื่อเปลี่ยนเส้นทางของอสุจิที่เคลื่อนเข้าสู่ไข่ หรือเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ไข่ฝังตัวที่ผนังมดลูก เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ห่วงคุมกำเนิดถือเป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับผู้หญิง ห่วงคุมกำเนิดสามารถใช้งานได้นาน และผู้หญิงสามารถตั้งครรภ์ได้ทันทีที่เอาห่วงออก

โดยทั่วไปห่วงคุมกำเนิดแบ่งเป็นสองชนิด ได้แก่

  • ห่วงคุมกำเนิดแบบเคลือบทองแดง มีหลายรูปแบบ เช่น ทรงคล้ายตัวอักษรตัวที (T) ทรงคล้ายตัวอักษรตัววาย (Y) ทรงคล้ายตัวอักษรตัวยู (U) ซึ่งจะปล่อยทองแดงออกมา 40-50 ไมโครกรัม/วัน ในช่วงแรก จากนั้นจะค่อย ๆ ปล่อยทองแดงน้อยลงเรื่อย ๆ เพื่อให้สามารถคุมกำเนิดได้ตลอดอายุการใช้งาน
  • ห่วงคุมกำเนิดแบบฮอร์โมน ซึ่งจะปล่อยฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล ซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ที่เลียนแบบฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเข้าสู่มดลูกอย่างช้า ๆ ระยะเวลาการใช้งานอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปริมาณตัวยาที่ปล่อยออกมา

ประโยชน์ของการใช้ห่วงคุมกำเนิด

ประโยชน์หรือข้อดีของห่วงคุมกำเนิด อาจมีดังนี้

  • เป็นวิธีการคุมกำเนิดในระยะยาว ที่สามารถใช้งานได้ 3-10 ปี หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของห่วงคุมกำเนิดและการดูแลรักษา
  • สามารถตั้งครรภ์ได้ทันทีที่เอาห่วงคุมกำเนิดออก
  • เป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากถึง 99%
  • หากไม่ต้องการคุมกำเนิดแล้ว ก็สามารถนำห่วงคุมกำเนิดออกได้ง่าย
  • ไม่ส่งผลเสียต่อการให้นมบุตร
  • ไม่สร้างความรำคาญหรือรบกวนการมีเพศสัมพันธ์
  • ไม่มีข้อพิสูจน์ถึงความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
  • ห่วงแบบเคลือบทองแดงไม่มีส่วนประกอบของฮอร์โมน
  • ห่วงแบบเคลือบทองแดง สามารถทำหน้าที่เสมือนยาคุมฉุกเฉินได้
  • ไม่มีผลข้างเคียง เนื่องจากปล่อยฮอร์โมนออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ความเสี่ยงของการใช้ห่วงคุมกำเนิด

โดยปกติแล้ว การคุมกำเนิดด้วยห่วงคุมกำเนิดถือเป็นวิธีที่ปลอดภัย แต่อาจพบผลข้างเคียงได้ ดังนี้

  • อาจเสี่ยงติดเชื้อได้ขณะใช้ห่วงคุมกำเนิด แต่ความเสี่ยงถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก
  • มีโอกาสในการตั้งครรภ์ขณะใช้ห่วงคุมกำเนิด แต่พบได้ค่อนข้างยาก
  • อาจตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
  • ห่วงแบบเคลือบทองแดงอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น หรือปวดท้องหนักมากในระหว่างมีประจำเดือน
  • ทองแดงอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้
  • ห่วงแบบฮอร์โมนอาจทำให้เกิดปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนน้อยกว่าปกติ ประจำเดือนมากกว่ากว่าปกติ
  • ห่วงคุมกำเนิดอาจหลุดออกมาเอง แต่ถือว่าเป็นกรณีที่พบได้น้อย

ห่วงคุมกำเนิดเหมาะหรือไม่เหมาะกับใครบ้าง

ห่วงคุมกำเนิดเหมาะสำหรับผู้หญิงแทบทุกคน วัยรุ่นและผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีลูกก็สามารถใช้ได้ อีกทั้งยังอาจเหมาะสำหรับผู้หญิงที่ประจำเดือนมามากอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากมีอาการติดเชื้อใด ๆ เช่น ติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด ควรรักษาให้หายก่อน จึงค่อยใช้ห่วงคุมกำเนิด และห่วงคุมกำเนิดแบบเคลือบทองแดงอาจไม่เหมาะสำหรับผู้หญิงที่ปกติมีประจำเดือนมามาก หรือมีอาการปวดท้องอย่างหนักในช่วงมีประจำเดือน เพราะอาจทำให้อาการเหล่านี้แย่ลงได้

ช่วงเวลาในการใส่ห่วงคุมกำเนิด

การใส่ห่วงคุมกำเนิดสามารถทำได้ในช่วงต่อไปนี้

  • ในระหว่างมีประจำเดือน หรือเพิ่งหมดประจำเดือน
  • หกสัปดาห์หลังคลอดบุตร
  • ในระหว่างที่มีการผ่าตัดเพื่อทำแท้ง
  • สามารถใส่ห่วงคุมกำเนิดแบบเคลือบทองแดงเพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉินได้ แต่ต้องใส่ห่วงคุมกำเนิดภายใน 5 วันหลังมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน

การดูแลหลังใส่ห่วงคุมกำเนิด

หากใส่ห่วงคุมกำเนิดครบ 6 สัปดาห์แล้ว ควรกลับไปพบคุณหมอ เพื่อให้คุณหมอตรวจดูว่าห่วงคุมกำเนิดอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือไม่ เลื่อนหลุดหรือเปล่า เป็นต้น และหากมีข้อสงสัยใด ๆ ในการใช้ห่วงคุมกำเนิด ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด

[embed-health-tool-ovulation]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Birth Control and the IUD (Intrauterine Device). https://www.webmd.com/sex/birth-control/iud-intrauterine-device. Accessed December 7, 2016

Intrauterine device (IUD). https://www.nhs.uk/conditions/contraception/iud-coil/. Accessed December 7, 2016

Hormonal IUD (Mirena). https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/mirena/about/pac-20391354. Accessed February 4, 2022

Contraception – intrauterine devices (IUD). https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/contraception-intrauterine-devices-iud. Accessed February 4, 2022

Intrauterine devices (IUD). https://medlineplus.gov/ency/article/007635.htm. Accessed February 4, 2022

ห่วงอนามัย…สำหรับการคุมกำเนิดระยะยาว. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/566/คุมกำเนิด-ห่วงอนามัย/. Accessed February 4, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/03/2023

เขียนโดย pimruethai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

การคุมกำเนิด มีอะไรบ้าง และทำได้อย่างไร

หลั่งข้างนอก เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ได้ผลจริงหรือ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย pimruethai · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา