ยาคุมกำเนิด เป็นวิธีที่นิยมใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ยาคุมกำเนิดมีฮอร์โมนเพศหญิงเป็นส่วนประกอบหลัก การรับประทานยาคุมกำเนิดอย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ การทราบข้อมูลที่แน่ชัดว่า ยาคุมมีกี่ประเภท ยาคุมกินตอนไหน และควรกินอย่างไร อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยยาคุมกำเนิดได้ อย่างไรก็ตาม ยาคุมกำเนิดไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
[embed-health-tool-ovulation]
ยาคุม คืออะไร
ยาคุมกำเนิด หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า ยาคุม คือ ยาที่ช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์ มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ได้แก่ โปรเจสโตรเจน ยาคุมแต่ละประเภทอาจมีฮอร์โมนเพศในชนิดและปริมาณที่แตกต่างกันไป
ประเภทของยาคุมกำเนิดที่อาจพบได้บ่อย เช่น
- ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว มีโปรเจสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนเพียงอย่างเดียว
- ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ
- ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน มีฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเตรล ซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเป็นส่วนประกอบ
ยาคุมกำเนิดจะเข้าไปปรับเปลี่ยนการทำงานของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง เช่น รังไข่ ปากมดลูก ผนังมดลูก โดยการสร้างเมือกบริเวณปากมดลูกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ยากขึ้น และยังทำให้ผนังมดลูกบางลง ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวที่ผนังมดลูกได้ จึงไม่ตั้งครรภ์
ยาคุมกินตอนไหน
การรับประทานยาคุมกำเนิดแบบปกติ เช่น แบบฮอร์โมนเดี่ยว แบบฮอร์โมนรวม อาจทำได้ดังนี้
- เริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดในวันแรกที่มีประจำเดือน หรืออาจช้ากว่านั้นได้ แต่ไม่ควรเกินวันที่ 5 ของการมีประจำเดือน
- รับประทานยาต่อเนื่องทุกวัน วันละ 1 เม็ดจนยาหมดแผง หากเป็นชนิด 21 เม็ด เมื่อรับประทานยาหมดแผงแล้ว ควรเว้นระยะ 7 วันค่อยเริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดแผงใหม่ หรือหากเป็นยาคุมกำเนิดแบบ 28 เม็ด ยา 7 เม็ดสุดท้ายที่สีไม่เหมือนยาเม็ดอื่น ๆ จะเป็นยาหลอกหรือเม็ดแป้ง ซึ่งจะไม่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิง ยาหลอกอาจช่วยป้องกันการลืมรับประทานยาคุมกำเนิด ซึ่งช่วงเวลาที่หยุดรับประทานยา หรือรับประทานยาหลอก ประจำเดือนอาจมาปกติ
- ควรรับประทานยาคุมกำเนิดในเวลาเดียวกันทุกวัน เช่น ตอนเช้า ตอนเย็น ก่อนนอน ซึ่งการรับประทานยาคุมกำเนิดก่อนอาหารเช้าหรือก่อนนอนอาจช่วยให้จำได้ง่ายขึ้นและไม่ลืมรับประทานยา แต่แนะนำรับประทานก่อนนอนมากกว่าเพื่อเลี่ยงอาการข้างเคียงของการใช้ยา
สำหรับการรับประทานยาคุมฉุกเฉิน ควรรีบรับประทานทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือไม่ควรเกิน 72-120 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดและคำแนะนำในการใช้ยา และหากอาเจียนหลังรับประทานยาไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกร เพราะอาจต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินอีกครั้ง หรือใช้วิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินวิธีอื่น เช่น ห่วงคุมกำเนิดฉุกเฉินหรือห่วงอนามัยชนิดทองแดง ซึ่งอาจต้องใช้ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์
ทั้งนี้ การรับประทานยาคุมกำเนิดควรรับประทานตามลำดับหรือคำแนะนำที่ระบุในฉลากหรือเอกสารกำกับยา หรือหากไม่แน่ใจ ควรสอบถามคุณหมอหรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาคุมกำเนิด
ผลข้างเคียงของยาคุม
การรับประทานยาคุมกำเนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงดังนี้
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดศีรษะ
- ปวดท้อง
- ประจำเดือนอาจมาน้อยกว่าปกติ
- คัดตึงเต้านม เจ็บหรือปวดบริเวณหน้าอก
- อารมณ์แปรปรวน
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- บวมน้ำ
วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ
นอกจากการใช้ยาคุมกำเนิด วิธีต่อไปนี้ก็อาจช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน
- ถุงยางอนามัย ช่วยป้องกันไม่ให้อสุจิเข้าไปในช่องคลอด จึงอาจช่วยลดโอกาสที่อสุจิจะไปผสมกับไข่และส่งผลให้ตั้งครรภ์ รวมถึงอาจช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย
- การนับหน้า 7 หลัง 7 หรือการนับระยะปลอดภัย เป็นวิธีคุมกำเนิดแบบธรรมชาติที่อาจช่วยให้วางแผนตั้งครรภ์หรือลดโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ การนับหน้า 7 คือ การนับย้อนไป 7 วัน เริ่มจากวันก่อนมีประจำเดือนวันแรก ส่วนการนับหลัง 7 คือ การนับตั้งแต่มีประจำเดือนวันแรกไป 7 วัน เช่น หากมีประจำเดือนวันที่ 8 หน้า 7 จะเท่ากับวันที่ 1-7 ส่วนหลัง 7 จะเท่ากับวันที่ 8-14 ซึ่งวันที่ 1-7 และ 8-14 ถือเป็นระยะที่อาจมีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่ตั้งครรภ์ แต่วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีรอบเดือนปกติ ผู้ที่มีรอบเดือนมาไม่ปกติไม่ควรใช้วิธีนี้ในการคุมกำเนิด
- การฝังยาคุมกำเนิด เป็นการนำแท่งพลาสติกที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนฝังเข้าไปในบริเวณต้นแขนด้านใน อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ประมาณ 3-5 ปี เมื่อครบกำหนดควรถอดยาออก และใส่หลอดยาใหม่เข้าไปหากต้องการคุมกำเนิดต่อ
- ยาฉีดคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวแบบหนึ่ง โดยการฉีดฮอร์โมนเข้ากล้ามเนื้อ เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์เพียง 0.3% ไม่ต้องกังวลเรื่องการลืมรับประทานยา เพียงแต่ต้องฉีดยาคุมกำเนิดเข็มถัดไปตามนัดหมาย
- ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device – IUD) เป็นวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวที่ออกฤทธิ์นาน (Long-acting reversible contraception: LARC) เป็นการใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดเล็กเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อออกฤทธิ์ในการป้องกันการตั้งครรภ์
- หมวกครอบปากมดลูก เป็นอุปกรณ์ทรงครึ่งวงกลมที่ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อปิดปากมดลูกไม่ให้อสุจิเข้าไปในมดลูกและผสมกับไข่จนเกิดการปฏิสนธิ
- การทำหมัน เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบถาวร ใช้เมื่อไม่ต้องการมีลูกแล้ว แบ่งเป็นการทำหมันชาย คือการตัดท่อนำอสุจิออก และการทำหมันหญิง คือ การตัด ผูก รัดท่อนำไข่ การทำหมันเป็นวิธีที่ไม่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกาย และมักไม่กระทบต่อสมรรถภาพทางเพศ