backup og meta

กิน ยาคุมฉุกเฉิน แล้ว ประจำเดือน ไม่มา มีสาเหตุมาจากอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

    กิน ยาคุมฉุกเฉิน แล้ว ประจำเดือน ไม่มา มีสาเหตุมาจากอะไร

    กิน ยาคุมฉุกเฉิน แล้ว ประจำเดือน ไม่มา อาจเป็นผลข้างเคียงเนื่องจากได้รับฮอร์โมนปริมาณที่สูงจากยาคุมฉุกเฉิน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายระหว่างที่กินยาคุม หรืออาจเกิดจากการตั้งครรภ์ โดยสังเกตได้จากอาการอื่น ๆ ที่เกิดร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน หากพบอาการดังกล่าว ควรตรวจครรภ์ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์หรือเข้ารับการตรวจโดยคุณหมอ

    ยาคุมฉุกเฉินคืออะไร

    ยาคุมฉุกเฉิน คือ ยาคุมกำเนิดที่ใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ลืมป้องกัน ถุงยางอนามัยแตกขณะมีเพศสัมพันธ์ ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่มีการป้องกัน หรือลืมรับประทานยาคุมกำเนิดตามปกติติดต่อกัน 3 วันขึ้นไป

    ยาคุมฉุกเฉินมี 2 ประเภท ดังนี้

  • ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) เป็นยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่ประกอบด้วยกลุ่มฮอร์โมนโปรเจอเตอโรน (Progesterone) โดย 1 กล่อง มี 1 แผง แต่ละแผงจะมีเม็ดยาอยู่ 2 เม็ด เม็ดละ 750 ไมโครกรัม ควรรับประทานเม็ดแรกไม่เกิน 12 ชั่วโมง และอีกเม็ดภายในเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง นับจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ และ หรืออาจรับประทาน 2 เม็ดพร้อมกัน เพื่อป้องกันการลืมรับประทานยาเม็ดที่ 2 แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 4 เม็ด หรือ 2 กล่อง ภายในระยะเวลา 1 เดือน เพราะปริมาณฮอร์โมนที่สูงอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบฮอร์โมนในร่างกายและมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาเจียน ปวดท้อง ความผิดปกติของรังไข่และเยื่อบุโพรงมดลูก
  • ยูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal Acetate) คือยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่อาจมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงกว่าลีโวนอร์เจสเตรล โดยมีส่วนประกอบของฮอร์โมนโปรเจสติน ใน 1 กล่องมี 1 แผง และมียาอยู่ 1 เม็ด ควรรับประทานภายในเวลาไม่เกิน 120 ชั่วโมงนับจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ ยานี้อาจส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้ อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง ปวดท้องส่วนล่างอย่างรุนแรง ผื่นขึ้นตามลำตัว ใบหน้า และลิ้นบวม ควรพบคุณหมอทันทีเพราะอาจเป็นสัญญาณของอาการแพ้ยา
  • สาเหตุที่ทำให้กิน ยาคุมฉุกเฉิน แล้ว ประจำเดือน ไม่มา

    สาเหตุที่ทำให้กินยาคุมฉุกเฉินแล้วประจำเดือนไม่มา อาจเป็นเพราะผลข้างเคียงจากยาคุมกำเนิด เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนระดับสูง ที่อาจช่วยชะลอการตกไข่ และลดความบางของเยื่อบุโพรงมดลูก ที่อาจช่วยชะลอการตกไข่ซึ่งอาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาหรือมาช้ากว่าปกติ นอกจากนี้ ความเครียดและความกังวลต่อการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ก็อาจทำให้ประจำเดือนมาล่าช้าได้เช่นกัน

    อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้กินยาคุมฉุกเฉินแล้วประจำเดือนไม่มาอาจเป็นเพราะการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในกรณีที่รับประทานยาคุมฉุกเฉินผิดวิธีหรือเกินช่วงเวลาที่กำหนด หรือรับประทานไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จในการคุมกำเนิด โดยปกติแล้วหลังจากกินยาคุมฉุกเฉิน ประจำเดือนในรอบเดือนถัดไปอาจมาเร็วหรือล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่หากประจำเดือนไม่มานานเกินกว่า 2 เดือน ก็อาจเป็นไปได้ว่ากำลังตั้งครรภ์ ดังนั้นควรตรวจการตั้งครรภ์ร่วมด้วยเสมอถ้าประจำเดือนไม่มา

    กินยาคุมฉุกเฉินแล้วประจำเดือนไม่มาควรทำอย่างไร

    หากประจำเดือนไม่มานานเกินกว่า 2 เดือน อาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ ดังนั้น จึงควรตรวจครรภ์ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง หรือเข้ารับการตรวจกับคุณหมอ

    ชุดทดสอบการตั้งครรภ์มี 2 รูปแบบ ดังนี้

    ชุดทดสอบตั้งครรภ์แบบหยด

    ประกอบด้วยตลับทดสอบการตั้งครรภ์ ถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ หลอดหยดสำหรับดูดน้ำปัสสาวะ โดยปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ จากนั้นนำหลอดดูดน้ำปัสสาวะหยดลงบนตลับการทดสอบที่มีตัวอักษร S ประมาณ 3 หยด สูงสุดไม่เกิน 6 หยด และวางทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที หรือตามคำแนะนำที่ระบุข้างผลิตภัณฑ์ เพื่อรอผลทดสอบ

    ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แบบจุ่ม

    ในกล่องประกอบด้วยถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ กระดาษ ตลับทดสอบการตั้งครรภ์ หรืออาจเป็นเครื่องพลาสติกที่มีส่วนปลายไว้จุ่มปัสสาวะ โดยเริ่มจากการปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ และนำกระดาษทดสอบ หรือนำส่วนปลายของอุปกรณ์จุ่มลงในปัสสาวะไม่เกินขีดที่กำหนด ประมาณ 7-10 วินาที จากนั้นปิดฝาอุปกรณ์หรือวางกระดาษในพื้นที่สะอาด และรอ 5 นาที หรือตามคำแนะนำที่ระบุข้างผลิตภัณฑ์ เพื่อรอผลทดสอบ

    ผลลัพธ์จากการตรวจครรภ์

    หากเส้นสีแดงปรากฏตรงกับตัวอักษร C และ T ทั้ง 2 ขีดอย่างชัดเจน อาจหมายความว่ากำลังตั้งครรภ์ แต่ถ้ามีเส้นสีแดงขึ้นตรงกับตัวอักษร C เพียง 1 ขีด อาจมีความหมายว่าไม่ตั้งครรภ์ หรือระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ต่ำ

    อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันผลทดสอบคลาดเคลื่อน ควรใช้ชุดทดสอบต่างยี่ห้ออย่างน้อย 2-3 ชุด เพื่อนำผลลัพธ์มาเปรียบเทียบกัน หรือเข้ารับการตรวจกับคุณหมอเพื่อให้แน่ใจอีกครั้ง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา