backup og meta

การเปลี่ยนแปลงทางเพศ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    การเปลี่ยนแปลงทางเพศ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น มีอะไรบ้าง

    การเปลี่ยนแปลงทางเพศ หมายถึง การที่ร่างกายของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงเริ่มแสดงลักษณะทางเพศออกมาในช่วงเริ่มเป็นวัยรุ่นหรือเมื่อมีอายุประมาณ 11-12 ปีจนถึงช่วงอายุประมาณ 20 ปี การเปลี่ยนแปลงทางเพศเป็นการเตรียมความพร้อมทางร่างกายสำหรับการสืบพันธุ์ ระดับฮอร์โมนเพศจะเพิ่มขึ้น ทำให้ร่างกายมีความเปลี่ยนแปลง เช่น ผู้หญิงมีประจำเดือน ผู้ชายฝันเปียก

    การเปลี่ยนแปลงทางเพศ ของวัยรุ่นชาย

    การเปลี่ยนแปลงทางเพศ ของวัยรุ่นชาย จะเริ่มเห็นได้ชัดเมื่ออายุประมาณ 11 ปี และจะดำเนินไปถึงอายุประมาณ 18 ปี

    การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งผลิตจากอัณฑะจะส่งผลให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงดังนี้

  • องคชาต อัณฑะ และถุงอัณฑะ ใหญ่ขึ้นและสีเข้มขึ้น
  • มีอารมณ์ทางเพศ อวัยวะเพศแข็งตัว และหลั่งน้ำอสุจิได้เมื่อถึงจุดสุดยอด
  • มีขนบริเวณอวัยวะเพศ หน้าอก รักแร้ หน้าแข้ง และมีหนวดเคราขึ้นบริเวณใบหน้า
  • เสียงแตก และค่อย ๆ ทุ้มใหญ่ขึ้น เห็นลูกกระเดือกชัดเจน
  • มีกล้ามเนื้อแข็งแรง ทั้งกล้ามเนื้ออก กล้ามแขน กล้ามขา
  • เริ่มเป็นสิวบนใบหน้า แผ่นหลัง หน้าอก
  • นอกจากนี้ วัยรุ่นชายอาจเริ่มฝันเปียก ซึ่งเป็นการหลั่งน้ำอสุจิหรือถึงจุดสุดยอดขณะนอนหลับ มักเริ่มพบได้เมื่อเพศชายมีอายุประมาณ 13 ปี ถือเป็นสัญญาณว่าร่างกายสามารถสืบพันธุ์ได้แล้ว

    ฝันเปียกเกิดจากการมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเพิ่มขึ้น ฮอร์โมนนี้ทำหน้าที่กระตุ้นให้อัณฑะสร้างตัวอสุจิ หรือเซลล์สืบพันธุ์เพศชาย

    โดยปกติ วัยรุ่นชายจะหลั่งน้ำอสุจิประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และความถี่จะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฝันเปียกน้อยครั้งหรือไม่ฝันเปียกเลย ไม่ถือเป็นความผิดปกติของวัยรุ่นชาย ถือเป็นเพียงความแตกต่างของแต่ละบุคคลเท่านั้น

    การเปลี่ยนแปลงทางเพศ ของวัยรุ่นหญิง

    สำหรับวัยรุ่นหญิง การเปลี่ยนแปลงทางเพศอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าวัยรุ่นชาย โดยอาจพบได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี หน้าอกจะเริ่มคัดตึงและขยายเล็กน้อย และบางรายอาจมีอาการคันเต้านมร่วมด้วย ขณะที่มดลูกจะเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เพิ่มขึ้น

    เมื่ออายุ 12 ปี การเปลี่ยนแปลงทางเพศจะเห็นชัดขึ้น จนกระทั่งอายุประมาณ 18 ปี ร่างกายจะถือว่าเติบโตอย่างสมบูรณ์ โดยมีรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงดังไปนี้

    • หน้าอกขยายใหญ่ เต้านมเต่งตึงเป็นทรงหรืออยู่ในสภาพสมบูรณ์ โดยขนาดของยอดอกจะขยายไปพร้อมกับหน้าอกด้วย ทำให้ต้องใส่เสื้อชั้นในเพื่อกระชับหน้าอกไม่ให้หย่อนคล้อย
    • มีอารมณ์ทางเพศ
    • รังไข่ผลิตไข่ได้ พร้อมสำหรับการสืบพันธุ์
    • มีขนขึ้นบริเวณหัวหน่าว อวัยวะเพศ แขน ขา และรักแร้
    • ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศมีสีเข้มขึ้น
    • มีรูปร่างเป็นผู้ใหญ่ สะโพกผาย
    • เริ่มเป็นบนสิวบนใบหน้า

    นอกจากนี้ วัยรุ่นหญิงจะเริ่มมีประจำเดือน เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุประมาณ 10-16 ปี ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเพศของอวัยวะสืบพันธุ์ และผู้หญิงปกติจะมีประจำเดือนเดือนละ 1 ครั้งจนกระทั่งอายุประมาณ 45-50 ปี ประจำเดือนจะหมดลง

    ทั้งนี้ ประจำเดือนเป็นสัญญาณถึงความพร้อมในการสืบพันธุ์ของเพศหญิง โดยประจำเดือนคือเลือดที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกเนื่องจากไข่ของฝ่ายหญิงไม่ได้รับการปฏิสนธิ แล้วไหลออกมาเป็นเลือดประจำเดือน

    อย่างไรก็ตาม หากไข่ได้รับการปฏิสนธิ ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เพศหญิงไม่เป็นประจำเดือนจนกว่าจะคลอดลูก และร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เต้านมใหญ่ขึ้น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานขยายและแข็งแรงขึ้น พร้อมสำหรับการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ

    การเปลี่ยนแปลงทางเพศ เมื่อเข้าสู่วัยทอง

    นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางเพศในช่วงวัยรุ่นแล้ว เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเพศอีกครั้ง เนื่องจากระดับฮอร์โมนเพศลดลงทั้งในเพศชายและเพศหญิง

    ในเพศชาย ระดับเทสโทสเตอโรนจะค่อย ๆ ลดลงเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ร่างกายยังคงผลิตอสุจิอยู่ สามารถสืบพันธุ์ได้ แต่อาจมีอาการอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อารมณ์ทางเพศลดลง ความรู้สึกง่วงซึมหรือไม่มีแรงระหว่างวัน ทั้งนี้ ระดับฮอร์โมนเพศจะลดลงจนเห็นความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายได้อย่างชัดเจนเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป

    ขณะเดียวกัน เมื่อเพศหญิงอายุประมาณ 48-52 ปี รังไข่จะหยุดผลิตไข่ ทำให้ร่างกายไม่สามารถมีบุตรได้อีก ทั้งยังทำให้การผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดลง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น

    • ไม่มีประจำเดือน
    • ช่องคลอดแห้ง
    • อารมณ์ทางเพศลดลง
    • นอนหลับยาก
    • หงุดหงิดง่าย
    • เหงื่อออกตอนกลางคืน
    • น้ำหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากระบบเผาผลาญทำงานแย่ลง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา