backup og meta

ขนหมออ้อย มีประโยชน์อย่างไร ควรโกนออกหรือไม่

ขนหมออ้อย มีประโยชน์อย่างไร ควรโกนออกหรือไม่

ขนหมออ้อย หมายถึง ขนบริเวณหัวหน่าวหรืออวัยวะเพศซึ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อเพศชายและเพศหญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ มีหน้าที่ลดการเสียดสีของผิวหนังเมื่อมีเพศสัมพันธ์หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงช่วยป้องกันเชื้อโรค หากกำจัดขนหมออ้อยด้วยการโกนหรือแวกซ์อาจเพิ่มความเสี่ยงให้หัวหน่าวและอวัยวะเพศเป็นแผลและติดเชื้อได้ รวมทั้งอาจเป็นสาเหตุของอาการคันบริเวณหัวหน่าวและเกิดตุ่มขนคุดอีกด้วย

[embed-health-tool-ovulation]

ขนหมออ้อยมีประโยชน์อย่างไร

ขนหมออ้อยหรือขนบริเวณอวัยวะเพศมีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังต่อไปนี้

  • ลดการเสียดสีบริเวณอวัยวะเพศ ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศนั้นบอบบางมาก ขนหมออ้อยช่วยป้องกันผิวหนังไม่ให้บาดเจ็บจากการเสียดสี ไม่ว่าจะเป็นระหว่างการร่วมเพศ เดิน ออกกำลังกาย หรือช่วยตัวเอง
  • ป้องกันการติดเชื้อ ขนหมออ้อยช่วยป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย เช่นเดียวกับขนตา ขนคิ้ว และขนตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
  • ช่วยรักษาอุณหภูมิของอวัยวะเพศ โดยเฉพาะอวัยวะเพศชายเพราะอุณหภูมิที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศและคุณภาพของตัวอสุจิในอัณฑะ

ขนหมออ้อย ควรกำจัดทิ้งหรือไม่

การกำจัดขนหมออ้อย เช่น การโกน การแว๊กซ์ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนี้

  • ทำให้คันบริเวณอวัยวะเพศ
  • เพิ่มโอกาสเป็นตุ่มขนคุด บริเวณหัวหน่าวหรืออวัยวะเพศ
  • ทำให้เป็นผื่นระคายสัมผัส หากแพ้สารประกอบในผลิตภัณฑ์กำจัดขนต่าง ๆ
  • การใช้มีดโกนหรือการแว็กซ์ขนเพื่อกำจัดขนหมออ้อยอาจเพิ่มความเสี่ยงให้หัวหน่าวหรืออวัยวะเพศเป็นแผลและอาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการกำจัดขนหมออ้อยและโอกาสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เผยแพร่ในวารสาร Sexually Transmitted Infections ปี พ.ศ. 2560 นักวิจัยได้สำรวจชาวอเมริกันจำนวน 7,580 ราย อายุระหว่าง 18-65 ปี เกี่ยวกับการกำจัดขนหมออ้อย พฤติกรรมทางเพศ และประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้ข้อสรุปว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมชอบตกแต่งขนหมออ้อยและโกนขนหมออ้อยบ่อยครั้งอาจมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ต้องการโกนขนหมออ้อยควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลเสียต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

  • ทำความสะอาดผิวบริเวณอวัยวะเพศก่อนเริ่มโกนขน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรีย
  • ใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคบนอุปกรณ์กำจัดขนทั้งก่อนและหลังใช้ เช่น มีดโกน กรรไกร
  • ควรโกนขนหมออ้อยหน้ากระจก เพื่อให้เห็นชัด และป้องกันหัวหน่าวหรืออวัยวะเพศถูกมีดโกนบาด
  • ค่อย ๆ โกนขนตามเส้นแนวขนด้วยความระมัดระวัง โดยอาจใช้ครีมหรือโฟมสำหรับโกนขนร่วมด้วย และไม่โกนย้อนขึ้น เพราะอาจทำให้เกิดขนคุดได้
  • เมื่อโกนขนแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่กางเกงชั้นในและเสื้อผ้าที่คับแน่นเกินไป เพื่อป้องกันผิวหนังระคายเคืองและเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ขนหมออ้อยควรดูแลรักษาความสะอาดอย่างไร

การรักษาความสะอาดขนหมออ้อยและจุดซ่อนเร้น สามารถทำได้ดังนี้

  • ล้างขนหมออ้อยด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำสบู่ ขณะอาบน้ำ แต่หลีกเลี่ยงการฉีดสวนล้างอวัยวะเพศ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นที่ผสมน้ำหอม เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุของการเสียสมดุลกรด-ด่างในช่องคลอด
  • หลังทำความสะอาดขนหมออ้อย ควรเช็ดบริเวณหัวหน่าวและอวัยวะเพศให้แห้ง เพราะหากปล่อยให้อับชื้นอาจทำให้เชื้อราเติบโต และนำไปสู่การติดเชื้อได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Are there benefits to removing my pubic hair?. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/expert-answers/pubic-hair-removal/faq-20455693. Accessed July 25, 2022

Craze for Hairless Genitals, Rise in Infections. https://www.webmd.com/beauty/news/20130318/craze-for-hairless-genitals-accompanies-rise-in-infections. Accessed July 25, 2022

Americans Injuring Themselves Grooming Pubic Hair. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/news/20170816/ouch33-americans-injuring-themselves-grooming-pubic-hair. Accessed July 25, 2022

What’s the Best Way to Remove Excess Pubic Hair?. https://kidshealth.org/en/teens/sideburns.html. Accessed July 25, 2022

Correlation between pubic hair grooming and STIs: results from a nationally representative probability sample. https://sti.bmj.com/content/93/3/162. Accessed July 25, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/11/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีกําจัดขนรักแร้ ทำได้อย่างไรบ้าง

ขนเพชร มีประโยชน์ต่อสุขภาพทางเพศอย่างไร และควรดูแลอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 28/11/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา