backup og meta

ซีสเกิดจากอะไร มีกี่ประเภท รักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์ · สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    ซีสเกิดจากอะไร มีกี่ประเภท รักษาได้อย่างไร

    ซีสเกิดจากอะไร ซีส คือ ถุงน้ำหรือถุงอากาศที่เกิดขึ้นตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ตามร่างกาย มักปรากฏเป็นตุ่มหรือก้อนใต้ผิวหนัง บางครั้งอาจดูคล้ายตุ่มฝี โดยซีสเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ การบาดเจ็บ การทำงานของร่างกายซึ่งผิดปกติ ทั้งนี้ ซีสโดยทั่วไปไม่เป็นอันตราย มักไม่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง เมื่อเป็นแล้วมักหายเองได้ อย่างไรก็ตาม หากซีสทำให้ไม่สบายตัว เจ็บปวด หรือไม่หายไปเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่่ง ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาซึ่งมักใช้วิธี ผ่าตัดหรือเลเซอร์ออก

    ซีสเกิดจากอะไร

    ซีส (Cyst) เป็นก้อนหรือตุ่มเนื้อ ลักษณะคล้ายถุง มีของเหลว อากาศ หรือสารอื่น ๆ บรรจุอยู่ข้างใน

    เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ การบาดเจ็บ เซลล์ซึ่งทำงานผิดปกติ การอุดตันของต่อมหรือท่อในร่างกาย

    โดยปกติ ซีสมักอยู่ใต้ผิวหนัง บริเวณอวัยวะเพศ รวมถึงอวัยวะภายในร่างกาย มักมีขนาดเท่า ๆ กับเม็ดสิว หรือใหญ่กว่านั้น และอาจเข้าใจผิดว่าเป็นเม็ดฝีได้

    ในทางการแพทย์ ซีสมีหลายชนิด มีตั้งแต่ซีสที่เกิดจากการอักเสบ ซีสแบบที่เป็นถุงน้ำไม่ก่อโรคร้ายแรง ไปจนถึงซีสที่ก่อโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง เพราะฉะนั้นหากมีซีส ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำในการรักษาซีสให้หายโดยเร็วที่สุด

    ประเภทของซีสรูปแบบต่าง ๆ

    ซีสสามารถเกิดขึ้นได้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยมีคำเรียกและสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

    • ซีสหลังหัวเข่า (Baker’s Cyst) เป็นซีสที่พบบริเวณหัวเข่าหรือขา อาจทำให้เจ็บหัวเข่าหรืองอขาไม่สะดวก ซีสหลังหัวเข่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสะสมของไขข้อ การบาดเจ็บเนื่องจากเล่นกีฬา โรคต่าง ๆ เช่น ข้ออักเสบ ข้อเสื่อม เก๊าท์
    • ซีสต่อมบาร์โธลิน (Bartholin’s Gland Cyst) มักเกิดจากการอุดตันของต่อมบาร์โธลิน ซึ่งเป็นอวัยวะหนึ่งในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ที่ทำหน้าที่ผลิตน้ำหล่อลื่นสำหรับช่องคลอด นอกจากนี้ ซีสต่อมบาร์โธลิน ยังเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) โดยแบคทีเรียชนิดนี้อาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ หากมีปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้
    • ซีสไขมันใต้ผิวหนัง (Sebaceous Cyst) เป็นซีสแบบที่พบได้ไม่บ่อยนัก เกิดจากการอุดตันหรือเสียหายของต่อมไขมันใต้ผิวหนัง เนื่องจากผ่าตัดหรือเมื่อเป็นสิว โดยปกติ ซีสไขมันใต้ผิวหนังจะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ ยกเว้นในกรณีติดเชื้อ ซึ่งอาจจะมีอาการอักเสบร่วมด้วย นอกจากนี้ ซีสไขมันใต้ผิวหนังอาจกลายเป็นเนื้อร้ายของโรคมะเร็งได้ แต่พบได้น้อยมาก
    • ซีสที่เต้านม (Breast Cyst) เป็นซีสที่พบได้ในผู้หญิงทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี โดยซีสชนิดนี้เกิดจากการสะสมของของเหลวภายในเต้านม จนเกิดเป็นถุงน้ำ ซึ่งอาจเกิดพร้อมกันหลายตำแหน่ง โดยปกติ ผู้ป่วยซีสที่เต้านมจะเจ็บเต้านมบริเวณที่เป็นซีส รวมถึงในบางครั้ง อาจมีของเหลวสีเหลือง น้ำตาล หรือใส ไหลออกมาจากยอดอกด้วย
    • หลอดเก็บอสุจิโป่ง (Spermatocele) คือการพบซีสบริเวณหลอดเก็บอสุจิ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศชาย ทำหน้าที่ลำเลียงตัวอสุจิจากอัณฑะไปยังหลอดนำอสุจิ ทั้งนี้ ทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุของหลอดเก็บอสุจิโป่ง แต่สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการอุดตันของท่อย่อย ๆ ของหลอดเก็บอสุจิ จนนำไปสู่การเกิดซีส ซึ่งมีของเหลวและตัวอสุจิอยู่ข้างใน
    • ช็อกโกแลตซีส (Chocolate Cyst) เป็นซีสบริเวณรังไข่ชนิดหนึ่ง ภายในประกอบด้วยเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก และเลือดประจำเดือนเก่า ซึ่งดูคล้ายกับช็อกโกแลต ทั้งนี้ ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของช็อกโกแลตซีส แต่อาจเกิดจากการไหลย้อนกลับของประจำเดือน ผู้ที่เป็นช็อกโกแลตซีสต์อาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง

    การรักษาซีส

    หากซีสไม่หายไปเอง มีขนาดใหญ่ ทำให้เจ็บปวด หรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรไปพบคุณหมอ

    เบื้องต้นคุณหมอจะวินิจฉัยอาการด้วยการตรวจภายนอก ซึ่งบางครั้งอาจทำร่วมกับการตรวจแบบอื่น เช่น การอัลตร้าซาวด์ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

    เมื่อตรวจพบว่าเป็นซีสที่ไม่ร้ายแรง คุณหมอจะรักษาคนไข้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ผ่าซีสออกจากร่างกาย ภายใต้ฤทธิ์ของยาชา โดยอาจใช้มีดผ่าตัดหรือแสงเลเซอร์
    • ใช้เข็มฉีดยาดูดของเหลวในซีสออก เพื่อให้ซีสค่อย ๆ ยุบลง อย่างก็ตาม การรักษาซีสวิธีนี้ อาจทำให้ซีสกลับมาเป็นได้อีกในภายหลัง
    • ฉีดยา เช่น สเตียรอยด์ เข้าไปในซีส เพื่อลดอาการบวมหรืออักเสบของซีส

    แต่หากพบซีสที่มีโอกาสจะเป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง คุณหมอจะตรวจเพิ่มเติมด้วยการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) การทำซีทีสแกน (CT scan) หรือ การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) ร่วมกับการเจาะเลือดเพื่อหาสาเหตุ และรักษาต่อไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

    สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา