backup og meta

ทำยังไงให้ประจำเดือนมา ประจำเดือนไม่มาเกิดจากอะไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/07/2023

    ทำยังไงให้ประจำเดือนมา ประจำเดือนไม่มาเกิดจากอะไร

    ทำยังไงให้ประจำเดือนมา ? หากประจำเดือนไม่มาตามปกติ โดยทั่วไป มักเกิดจากฮอร์โมนแปรปรวน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างซึ่งอาจช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติได้ เช่น หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำแต่ไม่หักโหม ทั้งนี้ หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วประจำเดือนยังไม่มา ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างตรงจุด

    ประจำเดือนไม่มาเกิดจากอะไร

    ภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อผู้หญิงประจำเดือนไม่มาตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป ซึ่งอาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ดังนี้

    สาเหตุตามธรรมชาติ

  • การตั้งครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์ ร่างกายจะหยุดผลิตไข่จากรังไข่ตลอดการตั้งครรภ์ และเตรียมมดลูกให้พร้อมสำหรับรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่สลายตัวไปเป็นประจำเดือน
  • การให้นมบุตร หลังคลอด ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ที่ทำหน้าที่สร้างน้ำนมซึ่งยับยั้งไม่ให้ไข่ตก ทำให้ในช่วงนี้ไม่เป็นประจำเดือน
  • วัยหมดประจำเดือน เมื่ออายุประมาณ 50 ปีจะถือว่าเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเพศจะลดลงตามธรรมชาติ ประจำเดือนจะมาน้อยลงหรือมาไม่ปกติ จนกระทั่งรังไข่ไม่ผลิตไข่ และทำให้ประจำเดือนไม่มาอีกต่อไป
  • สาเหตุจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง

    • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ทำให้ฮอร์โมนเพศสูงอยู่แทบจะตลอดเวลาแทนที่จะขึ้นลงตามรอบเดือน ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจมีทั้งประจำเดือนไม่มาติดต่อกันหลายเดือน ประจำเดือนมาน้อยหรือมามากกว่าปกติ
    • เนื้องอกต่อมใต้สมอง เนื้องอกอาจไปรบกวนการควบคุมฮอร์โมนเพศ ส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาตามปกติ
    • ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ภาวะพร่องต่อมไทรอยด์ อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนไม่มาเลยได้
    • ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร (Premature Menopause) เป็นภาวะผิดปกติที่พบในผู้หญิงวัย 40 ปีที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนวัย (ตามปกติจะอยู่ที่อายุ 50 ปี) ส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา

    สาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

    • น้ำหนักมากหรือน้อยเกินไป น้ำหนักตัวที่ไม่สมดุลกับร่างกายจะส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายทำงานผิดปกติ และส่งผลให้รังไข่หยุดการผลิตไข่ รวมทั้งผู้ที่มีพฤติกรรมการกินผิดปกติ (Eating disorder) เช่น โรคคลั่งผอม โรคล้วงคอ มักจะมีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนไม่มาหลายเดือน เนื่องจากฮอร์โมนแปรปรวน
    • ออกกำลังกายหักโหม ผู้หญิงที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก เช่น นักกีฬา นักวิ่งมาราธอน นักบัลเล่ต์ อาจมีปัญหาประจำเดือนไม่มาตามปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นไขมันต่ำ มีความเครียดสูง และการใช้พลังงานสูง ทำให้ร่างกายมีพลังงานไม่เพียงพอและทำให้ฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเจริญพันธุ์หยุดทำงาน
    • ความเครียด ความเครียดเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองส่วนไฮโปทาลามัสที่ควบคุมฮอร์โมนเพศ ส่งผลให้ไม่มีการตกไข่ทำให้ประจำเดือนไม่มาในช่วงนั้น อย่างไรก็ตาม ประจำเดือนมักกลับมาเป็นปกติเมื่อความเครียดลดลง

    นอกจากนี้ ปัญหาประจำเดือนไม่มาอาจเกิดได้จากปัญหาสุขภาพ เช่น มีแผลในมดลูก มีโครงสร้างช่องคลอดผิดปกติ ไม่มีอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ รวมไปถึงปัจจัยภายนอกอื่น ๆ อย่างการใช้ยาคุมกำเนิด การใช้ยารักษาโรคบางอย่าง เช่น ยารักษาโรคจิตเวช ยาต้านเศร้า ยาลดความดันโลหิต ยารักษาโรคภูมิแพ้ การทำเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง

    ทำยังไงให้ประจำเดือนมา

    การรักษาประจำเดือนมาไม่ปกติจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพอาจช่วยให้ฮอร์โมนในร่างกายมีความสมดุลมากขึ้นและทำให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติได้ ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ เลือกอาหารที่สดสะอาด ถูกสุขลักษณะ มาจากแหล่งที่ไม่มีสารปนเปื้อน และปรับพฤติกรรมการกินให้เหมาะสม เช่น ไม่กินอาหารที่มีไขมันมากเกินไป ไม่งดมื้ออาหารจนทำให้ได้รับพลังงานไม่พอ
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง/วัน ไม่นอนดึกจนเกินไป
    • หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น เล่นโยคะ อ่านหนังสือ ทำสวน
    • รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม มะนาว มะขามป้อม ฝรั่ง จะช่วยส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจนและลดการหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
    • คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดในการรักษาอาการประจำเดือนไม่มา
    • ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ ด้วยการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แต่ควรออกอย่างพอดี ไม่หักโหม

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    หากมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    • ประจำเดือนไม่มาติดต่อกัน 3 เดือน
    • มีประจำเดือนน้อยกว่า 9 ครั้งใน 1 ปี
    • ประจำเดือนมาบ่อยกว่าทุก ๆ 24 วัน หรือน้อยกว่าทุก ๆ 35 วัน
    • อายุ 13 ปี แต่ไม่มีสัญญาณของการเข้าสู่วัยรุ่นเลย เช่น เต้านมไม่โตขึ้น
    • อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปแต่ประจำเดือนไม่เคยมาสักครั้ง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา