backup og meta

ทำหมัน วิธีคุมกำเนิดแบบถาวรสำหรับชายและหญิง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    ทำหมัน วิธีคุมกำเนิดแบบถาวรสำหรับชายและหญิง

    ทำหมัน เป็นวิธีคุมกำเนิดแบบถาวรสำหรับผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งมีวิธีการที่แตกต่างกัน หากต้องการทำหมันควรศึกษาหาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของการทำหมัน รวมทั้งข้อควรรู้อื่น ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจให้ดีก่อนปรึกษาคุณหมอเพื่อเข้ารับการทำหมันต่อไป เนื่องจากหากตัดสินใจทำหมันแล้วต้องการแก้หมัน โอกาสในการมีลูกอาจลดลง

    ทำหมันชาย

    การทำหมันชาย เป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร ด้วยการตัดหรือผูกหลอดนำอสุจิ เพื่อไม่ให้อสุจิถูกลำเลียงไปยังกระเปาะพักเชื้ออสุจิ และหลั่งออกมาพร้อมน้ำเชื้อขณะมีเพศสัมพันธ์หรือเมื่อถึงจุดสุดยอดและไปปฏิสนธิกับไข่ในร่างกายฝ่ายหญิงทำให้ให้เกิดการตั้งครรภ์ หลังทำหมันแล้ว เมื่อถึงจุดสุดยอด ร่างกายยังคงหลั่งน้ำเชื้อตามปกติแต่จะไม่มีอสุจิปนออกมา และอสุจิจะสลายไปตามกรรมวิธีของร่างกาย

    รูปแบบการทำหมันชาย

    ทำหมันชายใช้เวลาประมาณ 10-30 นาที สามารถทำได้ 2 วิธี โดยคุณหมอจะเป็นผู้วินิจฉัยและเลือกวิธีการทำหมันให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละคน ซึ่งมีดังนี้

    • ทำหมันแบบดั้งเดิม คือ การให้ยาชา แล้วใช้มีดผ่าตัดผ่าบริเวณถุงอัณฑะ เพื่อตัดหลอดนำอสุจิหรือผูกปลายท่อทั้ง 2 ข้างให้ปิดสนิท ก่อนเย็บปิดแผล โดยวิธีนี้เป็นที่นิยมมากกว่า
    • ทำหมันเจาะ คือ การให้ยาชา แล้วใช้เครื่องมือเฉพาะทางการแพทย์แทงทะลุผิวหนังเข้าไปเพื่อผูกหรือตัดหลอดนำอสุจิโดยใช้ความร้อน แผลจากการทำหมันเจาะจะเล็กกว่าการทำหมันแบบดั้งเดิมมาก ทำให้ไม่ต้องเย็บปิดแผล โอกาสติดเชื้อน้อยกว่าและใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่า

    การดูแลตัวเองหลังทำหมันชาย

    ผู้เข้ารับการทำหมันอาจดูแลตัวเอง ดังนี้

    • กินยาแก้ปวด ซึ่งคุณหมอจะเป็นผู้จ่ายยาให้ในกรณีที่พบว่าคนไข้มีอัณฑะบวมหรือปวดหลังหลังจากทำหมัน
    • งดกิจกรรมบางอย่าง เช่น การเล่นกีฬา ปั่นจักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์ เพื่อไม่ให้แผลกระทบกระเทือน
    • งดการยกของหนัก เป็นเวลา 7 วันหลังจากทำหมัน แต่สามารถทำงานหรือยกของเบา ๆ ได้ ตั้งแต่ 1-2 วันแรก
    • สวมกางเกงในรัดแน่น หรือกางเกงสำหรับออกกำลังกาย เพื่อช่วยประคองถุงอัณฑะที่ปวดบวม ในช่วง 2-3 วันแรกของการผ่าตัด
    • เลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่ยังสามารถอาบน้ำได้
    • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ภายใน 7 วันหลังจากทำหมัน และจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์โดยสวมถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง ในช่วง 2-3 เดือนหลังทำหมัน เนื่องจากอาจจะยังมีอสุจิหลงเหลือในหลอดอสุจิและทำให้ฝ่ายหญิงท้องได้

    เมื่อไรถึงทราบว่าทำหมันได้ผล

    หลังจากทำหมันไปแล้ว 1-3 เดือน คุณหมอจะนัดตรวจตัวอย่างน้ำเชื้อ เพื่อดูว่ามีอสุจิหลงเหลืออยู่หรือไม่ หากไม่พบตัวอสุจิในน้ำเชื้อ หมายถึงการทำหมันสำเร็จ และผู้ทำหมันอาจไม่จำเป็นต้องสวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ แต่หากเปลี่ยนคู่นอนบ่อยควรสวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    ข้อดีและข้อเสียของการทำหมันชาย

    การทำหมันชายมีข้อดีและข้อเสีย ดังต่อไปนี้

    ข้อดี

    ข้อเสีย

    • ผู้ทำหมันยังสามารถติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ หากไม่สวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
    • จำเป็นต้องสวมถุงยางอนามัยหลังจากทำหมัน จนกว่าจะไม่พบอสุจิในน้ำเชื้อ
    • อาจมีอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เช่น อัณฑะบวม การติดเชื้อ
    • หากต้องการแก้หมันจะทำได้ยากและมีโอกาสสำเร็จน้อยลง

    ทำหมันหญิง

    คือ การคุมกำเนิดถาวรในเพศหญิง โดยการตัดและผูกท่อนำไข่ไว้ ทำให้ไข่ไม่เคลื่อนตัวไปในมดลูก เมื่ออสุจิเข้ามาในร่างกายจึงไม่สามารถเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ แต่ทั้งนี้หลังจากทำหมันแล้วไข่ยังคงตกตามปกติแต่จะฝ่อไปเอง

    รูปแบบการทำหมัน

    วิธีการทำหมันหญิงสามารถแบ่งได้ 2 แบบ ดังนี้

    • การทำหมันหลังคลอด หรือทำหมันเปียก หมายถึง การทำหมันภายใน 7 วันหลังคลอด โดยคุณหมอจะฉีดยาชาให้คนไข้ แล้วผ่าตัดเปิดหน้าท้องเพียงเล็กน้อย หรือเป็นแผลยาวประมาณ ประมาณ 2.5 เซนติเมตร เพื่อเข้าไปหาท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง เมื่อพบแล้ว จะผูกท่อนำไข่หรือตัดบางส่วนของท่อออก ค่อนข้างทำง่ายเนื่องจากหลังคลอด มดลูกจะมีขนาดใหญ่และลอยอยู่เหนืออุ้งเชิงกราน
    • การทำหมันปกติ หรือทำหมันแห้ง หมายถึง การทำหมันในช่วงปกติ โดยวิธีการเหมือนกับการทำหมันเปียก และผู้ประสงค์ทำหมันต้องตรวจสุขภาพก่อน การทำหมันแห้งมักทำหลังมีรอบเดือนแล้ว และข้อเสียคือคุณหมอจะพบท่อนำไข่ยากกว่าในกรณีทำหมันเปียก เนื่องจากในเวลาปกติ มดลูกจะมีขนาดเล็กกว่าและอยู่ในอุ้งเชิงกราน

    การดูแลตัวเองหลังทำหมัน

    หลังทำหมันเรียบร้อยแล้ว อาจรู้สึกไม่สบายตัวเล็กน้อย บางรายอาจพบเลือดไหลจากช่องคลอด และจำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัยจนกว่าเลือดจะหยุดไหล นอกจากนี้ ผู้ซึ่งเพิ่งทำหมัน ควรพักฟื้นอย่างน้อย 2-3 วัน  ส่วนการดูแลตัวเอง สามารถทำได้ดังนี้

    • รับประทานยาแก้ปวด เมื่อรู้สึกปวดคล้ายมีประจำเดือน ซึ่งเป็นอาการหลังผ่าตัด
    • เลี่ยงให้แผลโดนน้ำ จนกว่าจะครบกำหนดเปิดแผลหรือ 7 วันหลังจากการทำหมัน เพื่อป้องกันแผลอักเสบหรือติดเชื้อ
    • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าแพทย์จะอนุญาต หรือประมาณ 6-8 สัปดาห์ ทั้งนี้ การทำหมันจะไม่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ทางเพศ
    • รีบไปหาคุณหมอเมื่อพบอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง เลือดออกบริเวณแผลผ่าตัด

    เมื่อไรถึงทราบว่าทำหมันได้ผล

    โดยปกติแล้ว การทำหมันในเพศหญิงอาจได้ผลทันที อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงซึ่งทำหมันแล้วควรมีเพศสัมพันธ์โดยป้องกันไปจนกว่าจะถึงรอบเดือนครั้งถัดไป

    ข้อดีและข้อเสียของการทำหมันหญิง

    การทำหมันหญิงมีข้อดีและข้อเสีย ดังต่อไปนี้

    ข้อดี

  • ป้องกันการตั้งครรภ์ได้มากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์
  • ไม่มีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์หรือความต้องการทางเพศ
  • ไม่มีผลกระทบต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย
  • ใช้เวลารอเพื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน น้อยกว่ากรณีผู้ชายที่ทำหมัน
  • มีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยฉพาะกรณีเลือดตกภายใน หรือความเสียหายแก่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย
  • ข้อเสีย

    • ผู้ทำหมันยังสามารถติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ หากไม่ป้องกันตัวเอง
    • การแก้หมันทำได้ยาก
    • หากการทำหมันไม่สำเร็จ เสี่ยงเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก
    • อาจเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เช่น อาการปวด มีไข้
    • อาจเกิดการติดเชื้อหรือบาดเจ็บบริเวณลำไส้หรือกระเพาะปัสสาวะระหว่างผ่าตัด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา