backup og meta

ผ่าตัดมดลูก การเตรียมตัวและวิธีดูแลตัวเอง

ผ่าตัดมดลูก การเตรียมตัวและวิธีดูแลตัวเอง

การ ผ่าตัดมดลูก ใช้เพื่อรักษาปัญหาเกี่ยวกับมดลูกต่าง ๆ เช่น เนื้องอกในมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ การเรียนรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดและดูแลตัวเองหลังการผ่าตัด อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดมดลูก และช่วยให้ฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วขึ้น

[embed-health-tool-ovulation]

ผ่าตัดมดลูก คืออะไร

การผ่าตัดมดลูก คือ การผ่าตัดที่ช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในมดลูก มีทั้งการผ่าตัดเพื่อกำจัดแค่เฉพาะส่วนที่มีปัญหา การผ่าตัดเพื่อตัดมดลูกรวมถึงปากมดลูก และการผ่าตัดเพื่อนำทั้งมดลูกและเนื้อเยื่อโดยรอบ เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ ออกไปทั้งหมด โดยการผ่าตัดจะพิจารณาจากปัญหาที่เกิดขึ้นภายในมดลูกตามแต่ละบุคคล

ผ่าตัดมดลูก เพื่ออะไร

การผ่าตัดมดลูกเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้

  • เนื้องอกในมดลูก เกิดจากเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตผิดปกติภายในมดลูกจนอาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก ปวดท้องน้อย หากเนื้องอกมีขนาดเล็กอาจผ่าตัดเพื่อกำจัดแค่เนื้องอกเท่านั้น แต่หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดมดลูกออกไปทั้งหมด
  • ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ หากประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือมาไม่สม่ำเสมอ การผ่าตัดมดลูกอาจช่วยบรรเทาอาการนี้ได้
  • โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกที่ควรเจริญเติบโตอยู่ในโพรงมดลูกตามปกติไปเจริญเติบโตอยู่ในตำแหน่งอื่น โดยเฉพาะในบริเวณรังไข่ ท่อนำไข่ หรืออุ้งเชิงกราน ส่งผลให้เสี่ยงเกิดช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate cyst) และมีอาการปวดท้องรุนแรง หรือหากเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตที่กล้ามเนื้อมดลูก ก็อาจทำให้มีอาการปวดประจำเดือนมาก เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ รวมถึงมีภาวะมีบุตรยากได้ จึงอาจต้องทำการรักษาโดยการผ่าตัดมดลูก เพื่อนำเนื้อเยื่อมดลูกที่เจริญเติบโตผิดที่ รวมถึงรังไข่และท่อนำไข่ออก
  • ภาวะมดลูกหย่อน อาจทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาการปวดอุ้งเชิงกราน ขับถ่ายลำบาก
  • โรคมะเร็งมดลูก หรือโรคมะเร็งปากมดลูก การผ่าตัดมดลูกอาจเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งมดลูกและมะเร็งปากมดลูก แต่อาจจำเป็นต้องรักษาร่วมกับการฉายรังสีหรือเคมีบำบัด เพื่อช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่หลังผ่าตัด
  • อาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง การผ่าตัดมดลูกอาจเป็นทางเลือกสุดท้ายหากรักษาอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดมดลูกอาจไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องน้อยเสมอไป จึงจำเป็นต้องให้คุณหมอประเมินปัญหาอย่างละเอียดก่อน

รูปแบบของการผ่าตัดมดลูก

รูปแบบของการผ่าตัดมดลูก มีดังนี้

  • การผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้อง เป็นการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องส่วนล่าง โดยคุณหมออาจกรีดแผลที่หน้าท้องแนวนอนหรือแนวตั้ง ก่อนจะผ่าตัดมดลูกทั้งหมด หรือมดลูกบางส่วนที่ได้รับผลกระทบออกมา วิธีการผ่าตัดนี้อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นบริเวณหน้าท้องได้
  • การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด คุณหมออาจกรีดแผลเล็ก ๆ บริเวณช่องคลอดด้านใน แล้วการผ่าตัดมดลูกออก วิธีนี้มักไม่ทำให้มีรอยแผลเป็นบริเวณผิวด้านนอก
  • การผ่าตัดมดลูกด้วยการส่องกล้อง คุณหมอจะกรีดแผลเล็ก ๆ ที่หน้าท้องแล้วสอดอุปกรณ์ผ่าตัดและกล้องเข้าไปเพื่อผ่าตัดมดลูก โดยคุณหมอสามารถดูการผ่าตัดได้ผ่านจอมอนิเตอร์
  • การผ่าตัดมดลูกโดยมีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นการผ่าตัดมดลูกโดยการควบคุมผ่านหุ่นยนต์ ทำให้มีความละเอียดสูง เกิดแผลเล็ก และอาจฟื้นฟูได้เร็วกว่าการผ่าตัดรูปแบบอื่น ๆ

การเตรียมตัวผ่าตัดมดลูก

การเตรียมตัวผ่าตัดมดลูก ควรปฏิบัติดังนี้

  • ทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของการผ่าตัดมดลูก ความเสี่ยงหลังการผ่าตัด รวมถึงการดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดให้ดี
  • แจ้งให้คุณหมอทราบเกี่ยวกับยา สมุนไพร และอาหารเสริมที่ใช้อยู่ปัจจุบัน รวมถึงโรคประจำตัวและประวัติแพ้ยา
  • ดูแลสุขภาพให้ดี พยายามจัดการความเครียด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หยุดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และอาจลดน้ำหนักในกรณีที่คุณหมอแนะนำ
  • ควรพาคนใกล้ชิดมาคอยดูแลที่โรงพยาบาล เพื่อสังเกตอาการผิดปกติและช่วยเหลือระหว่างที่พักฟื้นในโรงพยาบาล

ผลข้างเคียงของการผ่าตัดมดลูก

ผลข้างเคียงของการ ผ่าตัดมดลูก อาจมีดังนี้

  • เลือดออกบริเวณแผลผ่าตัด หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด บางคนอาจมีอาการตกขาวร่วมด้วย
  • การติดเชื้อ
  • กระเพาะปัสสาวะผิดปกติ จนอาจทำให้มีปัญหาในการขับถ่าย
  • ลิ่มเลือดที่ขาและภายในปอด
  • ท้องผูกและลำไส้อุดตัน
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล โดยเฉพาะผู้ที่ผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้งสองข้าง เนื่องจากรังไข่มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศที่ช่วยควบคุมด้านอารมณ์ หลังผ่าตัดจึงอาจจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนทดแทน

วิธีดูแลตัวเองหลังผ่าตัดมดลูก

วิธีดูแลตัวเองหลังผ่าตัดมดลูก อาจทำได้ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 6 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหายดี
  • ไม่ควรยกของหนัก และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ใช้แรงมากอย่างน้อย 6 สัปดาห์ ควรเลือกออกกำลังกายแบบเบา ๆ เช่น เดิน วิ่งเหยาะ
  • ตรวจสุขภาพตามกำหนด เพื่อตรวจเช็กอาการหลังผ่าตัดว่าผิดปกติไหม หรือมีสัญญาณของการติดเชื้อหรือไม่

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Overview-Hysterectomy. https://www.nhs.uk/conditions/hysterectomy/. Accessed May 09, 2022

Hysterectomy. https://www.webmd.com/women/guide/hysterectomy. Accessed May 09, 2022

abdominal hysterectomy. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/abdominal-hysterectomy/about/pac-20384559. Accessed May 09, 2022

Hysterectomy. https://medlineplus.gov/hysterectomy.html. Accessed May 09, 2022

Hysterectomy. https://www.hopkinsmedicine.org/health/treatment-tests-and-therapies/hysterectomy. Accessed May 09, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/12/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ตรวจมะเร็งปากมดลูก ควรตรวจเมื่อไร ใครคือกลุ่มเสี่ยง

เนื้องอกมดลูก อาการ และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา