backup og meta

ฝังมุก อันตรายไหม มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง

ฝังมุก อันตรายไหม มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง

ฝังมุก เป็นการผ่าตัดเพื่อฝังวัสดุที่มีลักษณะกลมเกลี้ยงเข้าไปใต้หนังหุ้มองคชาต ซึ่งเป็นความชื่นชอบและรสนิยมทางเพศส่วนบุคคล โดยการฝังมุกไม่มีประโยชน์ในการรักษาทางการแพทย์ แต่อาจมีข้อดีในการช่วยเพิ่มความมั่นใจ เพิ่มสมรรถภาพทางเพศในผู้ชายและอาจช่วยให้ผู้หญิงถึงจุดสุดยอดง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การฝังมุกอาจมีข้อควรระวังบางประการที่ควรพิจารณาก่อนเริ่มทำ เพื่อสุขภาพทางเพศของตัวเองและของคู่นอน

[embed-health-tool-ovulation]

ฝังมุก คืออะไร

ฝังมุก คือ การฝังวัสดุที่มีลักษณะกลมเกลี้ยง ขนาดประมาณ 4-10 มิลลิเมตร เช่น ไข่มุกแท้ ซิลิโคน โลหะ แก้ว เข้าไปในหนังหุ้มองคชาตอย่างถาวร เป็นวิธีการประดับด้วยลูกปัดมุก โดยการฝังมุกนี้มีมายาวนานกว่า 1,000 ปี และได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งจุดกำเนิดอาจเป็นเหตุผลทางศาสนาหรือเป็นเครื่องประดับเพื่อความสวยงาม

ฝังมุก มีข้อดีอย่างไร

การฝังมุกเป็นรสนิยมทางเพศในแต่ละบุคคล ไม่ได้มีประโยชน์ต่อสุขภาพในแง่ทางการแพทย์ โดยการฝังมุกอาจมีข้อดีบางประการต่อความรู้สึกในขณะมีเพศสัมพันธ์หรือข้อดีอื่น ๆ ดังนี้

  • อาจมีข้อดีในแง่ของความสวยงาม เนื่องจากมีการใช้วัสดุในการฝังที่แตกต่างกัน เช่น ไข่มุกแท้ ไข่มุกแก้ว ซิลิโคน โลหะ แก้ว สแตนเลส เทฟลอน (Teflon) ไทเทเนียม (Titanium) ทอง ไนโอเบียม (Niobium) แพลทินัม (Platinum) โพลีเมอร์ (Polymers) ซึ่งเป็นความชอบของแต่ละบุคคล อาจช่วยเพิ่มความมั่นใจในขณะมีเพศสัมพันธ์ได้
  • อาจช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการฝังมุกในแง่ของความสวยงามอาจช่วยเพิ่มความมั่นใจและความสุขทางอารมณ์ ส่งผลให้ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้เมื่อผู้ชายรู้สึกมีความมั่นใจในอวัยวะเพศของตัวเอง นอกจากนี้ วัสดุกลมเกลี้ยงที่มีการเคลื่อนไหวในขณะช่วยตัวเองหรือมีเพศสัมพันธ์ก็อาจช่วยกระตุ้นให้ผู้ชายมีอารมณ์ทางเพศมากขึ้น
  • อาจช่วยให้ผู้หญิงถึงจุดสุดยอดได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับความชื่นชอบในแต่ละคน โดยวัสดุที่อยู่ใต้หนังหุ้มองคชาตอาจช่วยกระตุ้นเส้นประสาทในช่องคลอดหรือทวารหนักจนถึงจุดสุดยอดได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้หญิงอาจชื่นชอบการมีเพศสัมพันธ์กับอวัยวะเพศชายแบบปกติมากกว่าการฝังมุก และการถึงจุดสุดยอดของผู้หญิงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระตุ้นที่อวัยวะเพศเพียงจุดเดียว แต่ยังมีส่วนอื่น ๆ และวิธีการเล้าโลมอื่น ๆ ที่สามารถช่วยให้ผู้หญิงถึงจุดสุดยอดได้ เช่น ใบหู เต้านม หัวนม การลูบคลำร่างกาย

ฝังมุกเป็นอันตรายหรือไม่

การฝังมุกอาจมีข้อควรระวังและความเสี่ยงบางประการที่อาจส่งผลกระทบทั้งต่อตัวเองและคู่นอน ดังนี้

  • อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่อวัยวะเพศของคู่นอน เช่น เลือดออก เป็นแผลในช่องคลอด
  • อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน หนองในเทียม ซิฟิลิส
  • อาจทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • อาจเกิดการติดเชื้อบริเวณที่ฝังมุกจนส่งผลเสียในระยะยาว เช่น อวัยวะเพศไม่แข็งตัว อวัยวะเพศผิดรูป เนื้อตาย เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ มะเร็ง
  • อาจเสี่ยงที่เนื้อเยื่อจะปฏิเสธวัสดุในการฝังมุกและดันออกมานอกอวัยวะเพศหรืออาจทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งหากเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้ อาจจำเป็นต้องตัดอวัยวะเพศ

ขั้นตอนการฝังมุก

การฝังมุกจำเป็นต้องทำโดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญและใช้เครื่องมือเฉพาะทางที่ผ่านการฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยการฝังมุกอาจมีขั้นตอน ดังนี้

  • ฉีดยาชาบริเวณที่ต้องการฝังมุก เพื่อลดความเจ็บปวด
  • การฝังมุกอาจมี 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการเจาะที่เส้นสองสลึง (Frenum) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ยึดเกาะระหว่างปลายอวัยวะเพศกับหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ และขั้นตอนที่ 2 คือ การฝังวัสดุใต้หนังหุ้มองคชาต ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที
  • หลังจากการฝังมุกสามารถปัสสาวะได้ตามปกติ
  • เข้าพบคุณหมอตามนัดหมายเพื่อตรวจบาดแผลและความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น

การดูแลตัวเองหลังฝังมุก

การดูแลตัวเองหลังฝังมุกอย่างถูกวิธีอาจช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บและการติดเชื้อ ซึ่งการดูแลตัวเองอาจทำได้ดังนี้

  • ควรดูแลแผลไม่ให้โดนน้ำ 3 วัน เพื่อป้องกันความอับชื้นและการอักเสบ
  • เมื่อครบ 3 วัน ควรทำความสะอาดอวัยวะเพศเป็นประจำทุกวันเพื่อขจัดสิ่งสกปรกและเชื้อโรคที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อ และควรเช็ดอวัยวะเพศให้แห้งสนิทเสมอ เพื่อป้องกันความอับชื้นที่อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย
  • หลีกเลี่ยงการใส่กางเกงในหรือกางเกงที่คับแน่น เพราะอาจกดทับแผลจนทำให้เกิดการอักเสบได้
  • หลีกเลี่ยงการช่วยตัวเองหรือการมีเพศสัมพันธ์ 2 สัปดาห์ เพื่อรอให้แผลหายสนิท เพราะแผลอาจใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน ถึงจะหายสนิท ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับการดูแลของแต่ละคนด้วย
  • สังเกตอาการติดเชื้อ หากพบว่ามีอาการต่าง ๆ เช่น มีไข้ ผิวบริเวณที่เจาะอุ่น บวมแดง มีกลิ่นเหม็น เจ็บปวด มีหนองสีเหลืองหรือสีเขียว ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Genital piercing and sexually transmitted infections. https://sti.bmj.com/content/77/5/393.2. Accessed July 10, 2022

Urogenital Infection as a Risk Factor for Male Infertility. https://www.aerzteblatt.de/int/archive/article/188504. Accessed July 10, 2022

Genital Male Piercings. https://scholar.valpo.edu/cgi/viewcontent.cgi?referer=https://www.google.com/&httpsredir=1&article=1007&context=jmms. Accessed July 10, 2022

Visual Diagnosis: Pearling: a case study. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3253683/. Accessed July 10, 2022

Penile beads and its associated infections: a descriptive study. https://www.ijord.com/index.php/ijord/article/view/807. Accessed July 10, 2022

Spontaneous extrusion of male genital pearling. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2214442021001686#:~:text=Pearling%20is%20a%20practice%20of,Pearling%20can%20cause%20complications. Accessed July 10, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฮอร์โมนเพศชายคืออะไร

FWB (Friends with Benefits) คืออะไร ข้อดีและข้อเสียต่อสุขภาพทางเพศ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา