มดลูกหย่อน เป็นภาวะผิดปกติที่เกิดจากเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานที่ยึดโยงมดลูกให้อยู่ในตำแหน่งปกติอ่อนแรง ทำให้มดลูกเคลื่อนตัวลงไปบริเวณช่องคลอด ความผิดปกติของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานนี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น เป็นโรคหอบหืดที่ทำให้ไอเรื้อรัง ท้องผูกเรื้อรัง ยกของหนักเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม ภาวะมดลูกหย่อนสามารถรักษาและป้องกันได้ด้วยการปรับพฤติกรรมและดูแลตัวเองเบื้องต้น แต่หากมดลูกหย่อนจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-ovulation]
มดลูกหย่อน เกิดจากสาเหตุใด
อาการมดลูกหย่อน อาจเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง
- มีภาวะคลอดบุตรยาก หรือบาดเจ็บขณะคลอดบุตร
- ตั้งครรภ์มาแล้วหลายครั้ง หรือคลอดบุตรที่ขนาดตัวใหญ่กว่าปกติ
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงและเนื้อเยื่อเสื่อมสภาพหลังวัยหมดประจำเดือน
- เคยเข้ารับการผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ
- ไอเรื้อรัง
- ท้องผูกเรื้อรัง
- มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
- ยกของหนักเป็นประจำ
- คนในครอบครัวมีประวัติเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอ่อนแอ
สัญญาณของมดลูกหย่อน
สัญญาณของมดลูกหย่อน อาจสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้
- รู้สึกถึงแรงกดภายในช่องคลอด
- ใช้นิ้วมือสัมผัสได้ถึงก้อนหรือเนื้อเยื่อของมดลูกซึ่งเลื่อนมาอยู่บริเวณช่องคลอด
- เข้าห้องน้ำบ่อยเนื่องจากรู้สึกว่าปัสสาวะไม่สุด
- มีปัสสาวะเล็ดออกมาเล็กน้อยเมื่อไอ จาม หรือออกกำลังกาย
- ปวดหลังส่วนล่าง
- ติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะเป็นประจำ รักษาไม่หายขาด
- จำเป็นต้องเกร็งมากกว่าปกติเพื่อปัสสาวะหรืออุจจาระ
การรักษา มดลูกหย่อน
การรักษามดลูกหย่อนยาน ขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยทั่วไป และความรุนแรงของอาการ โดยคุณหมอจะวินิจฉัยและแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด ดังนี้
- การออกกำลังกายอุ้งเชิงกราน (Pelvic floor exercises) เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงหรือมดลูกยังไม่เคลื่อนตัวออกมานอกปากมดลูก การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องอาจช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานได้ โดยสามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการออกกำลังกายอย่างถูกต้องจากคุณหมอสูตินรีเวชหรือนักกายภาพบำบัดอุ้งเชิงกราน
- การใช้ยาปรับระดับฮอร์โมน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน เหมาะสำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีระดับฮอร์โมนเอนโตรเจนลดลง
- การใช้อุปกรณ์พยุงมดลูก เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพและไม่ควรรักษาด้วยการผ่าตัด โดยคุณหมอจะติดตั้งอุปกรณ์พยุงมดลูกหรือห่วงพยุงทางช่องคลอด (Pessaries) ภายในช่องคลอดเพื่อรองรับมดลูก อุปกรณนี้ยืดหยุ่นได้ดี มีขนาดและรูปร่างหลากหลาย ผู้สวมใส่สามารถถอดอุปกรณ์และใส่กลับเข้าไปใหม่ได้เช่นเดียวกับการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด วิธีนี้ใช้ร่วมกับการออกกำลังกายอุ้งเชิงกรานได้
- การผ่าตัดรักษามดลูกหย่อน เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะมดลูกหย่อนรุนแรง และจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อปรับตำแหน่งของมดลูกให้กลับไปอยู่ที่ตำแหน่งที่ถูกต้องตามเดิม และเชื่อมต่อเข้ากับเอ็นเนื้อเยื่อเดิม รวมไปถึงรักษาอาการหย่อนยานของอวัยวะใกล้เคียง เช่น ผนังช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ลำไส้ รวมถึงลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม หลังเข้ารับการผ่าตัดอาจเกิดปัญหามดลูกหย่อนได้อีก หากต้นเหตุของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขหรือรักษาให้หายขาด เช่น อาการไอเรื้อรัง โรคอ้วน
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันมดลูกหย่อน
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันมดลูกหย่อน สามารถทำได้ดังนี้
- สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์และผู้ที่คลอดธรรมชาติ สามารถออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับอุ้งเชิงกรานได้ทั้งในขณะที่กำลังตั้งครรภ์และหลังคลอด เพื่อป้องกันภาวะมดลูกหย่อน
- สำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน อาจใช้ยาปรับฮอร์โมน เช่น ครีมเอสโตรเจนเพื่อปรับสมดุลของฮอร์โมน ร่วมกับการออกกำลังกายอุ้งเชิงกราน
- สำหรับผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน อาจออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนอาหารเพื่อลดไขมันหน้าท้อง และลดแรงกดทับบริเวณอุ้งเชิงกราน
- รักษาอาการท้องผูกเรื้อรังและอาการไอเรื้อรัง เพื่อลดแรงกดต่อเนื่องบริเวณอุ้งเชิงกรานที่อาจทำให้เกิดมดลูกหย่อน
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก เช่น อุ้มเด็ก ยกกล่องน้ำหนักเยอะขึ้นบันได เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะมดลูกหย่อน