backup og meta

ยาเหน็บริดสีดวง ใช้อย่างไร มีผลข้างเคียงหรือไม่

ยาเหน็บริดสีดวง ใช้อย่างไร มีผลข้างเคียงหรือไม่

ยาเหน็บริดสีดวง เป็นยาเหน็บชนิดออกฤทธิ์เฉพาะที่ ช่วยบรรเทาอาการปวด บวม แดง ระคายเคืองของบริเวณทวารหนักที่เกิดจากโรคริดสีดวงทวาร ปริมาณการใช้ยาที่แนะนำทั่วไป คือ ใช้ยา 1-2 ครั้ง/วัน ติดต่อกันประมาณ 7 วัน หรือตามที่คุณหมอหรือเภสัชกรแนะนำ ยาชนิดนี้เป็นยาใช้ภายนอก ไม่ควรนำเข้าปากหรือรับประทาน หากใช้ยาเหน็บริดสีดวงแล้วอาการไม่ทุเลาลงหรือมีอาการข้างเคียง เช่น วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง หายใจไม่ออก ควรหยุดใช้ยาทันทีและไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด

[embed-health-tool-ovulation]

ริดสีดวงทวาร คืออะไร

ริดสีดวงทวาร คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบของเส้นเลือดรอบ ๆ ทวารหนักหรือส่วนล่างของทวารหนัก มีทั้งชนิดภานนอกที่เกิดใต้ผิวหนังรอบทวารหนัก และชนิดภายในที่ก่อตัวในเยื่อบุทวารหนักและทวารหนักส่วนล่าง อาจเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น การนั่งอุจจาระนาน การเบ่งอุจจาระ ปัญหาท้องเสียหรือท้องผูกเรื้อรัง การรับประทานใยอาหารไม่เพียงพอ ดื่มน้ำน้อย การก้มยกของบ่อย จนส่งผลให้เส้นเลือดในทวารหนักบวม โป่งพอง และอาจทำให้รู้สึกเจ็บหรือมีเลือดออกขณะขับถ่าย นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากเนื้อเยื่อที่รองรับทวารหนักอ่อนแอซึ่งพบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์

อาการของริดสีดวงทวาร

อาการทั่วไปของริดสีดวงทวาร มีดังนี้

  • อาการคันหรือระคายเคืองบริเวณทวารหนัก
  • อาการบวมบริเวณทวารหนัก
  • เลือดออกหรือมีหนองที่บริเวณทวารหนัก
  • มีก้อนเนื้อแข็งบริเวณทวารหนัก
  • เจ็บบริเวณทวารหนัก โดยเฉพาะขณะนั่ง
  • อาจมีก้อนริดสีดวงโผล่ออกมาจากทางช่องทวารหนัก

ลักษณะของ ยาเหน็บริดสีดวง

ยาเหน็บริดสีดวงเป็นยาออกฤทธิ์เฉพาะที่ ลักษณะเป็นแท่งยาขี้ผึ้งขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายกระสุนปืน ใช้สำหรับบรรเทาอาการบวม คัน แสบร้อน และอาการปวดของโรคริดสีดวงทวารทั้งชนิดภายในและภายนอก ยาเหน็บริดสีดวงมีส่วนประกอบของฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) ทำให้หลอดเลือดในบริเวณที่ใช้แคบลงชั่วคราว จึงช่วยลดอาการบวมได้

การใช้ยาเหน็บริดสีดวงอาจใช้ 1-2 ครั้ง/วัน ครั้งละ 1 แท่ง ตามปริมาณที่คุณหมอหรือเภสัชกรแนะนำ หากลืมเหน็บยาริดสีดวง ให้เหน็บยาตามปริมาณปกติโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณเมื่อถึงเวลาเหน็บครั้งต่อไป ปริมาณการใช้ยาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยาเหน็บริดสีดวงบ่อยหรือนานกว่าที่คุณหมอแนะนำ หากอาการไม่ทุเลาลงภายใน 7 วัน อาการแย่ลง หรือมีเลือดออกจากทวารหนัก ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด

วิธีการใช้ยาเหน็บริดสีดวง

วิธีใช้ยาเหน็บริดสีดวงอย่างถูกวิธี อาจทำได้ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำเปล่าและสบู่ แล้วเช็ดมือให้แห้ง
  • แกะยาเหน็บออกจากแผง โดยอาจเก็บยาไว้ในตู้เย็นหรืออาจนำยาไปแช่น้ำเย็นเพื่อให้สามารถสอดได้ง่ายขึ้น
  • นอนตะแคง เหยียดขาข้างที่แนบพื้นให้ตรง และงอขาด้านบนให้เข่าชิดอกให้มากที่สุด แยกขาออกเล็กน้อยให้มีช่องว่างพอสอดยาได้อย่างสะดวก
  • สอดยาโดยให้ด้านที่แหลมกว่าเข้าไปก่อน ใช้นิ้วมือดันยาเข้าไปในทวารหนักช้า ๆ จนสุดแท่ง แบ่งเล็กน้อยขณะดันยาเข้าจะช่วยให้ดันยาเข้าง่ายขึ้น
  • นอนค้างไว้ประมาณ 15 นาที เพื่อป้องกันยาไหลออกจากทวารหนัก ในระหว่างนี้ตัวยาจะละลายอย่างรวดเร็ว
  • เมื่อสอดยาเสร็จแล้ว ให้ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำเปล่าและสบู่ แล้วเช็ดมือให้แห้ง และควรงดขับถ่ายเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

ยาเหน็บริดสีดวง มีผลข้างเคียงหรือไม่

โดยทั่วไปยาเหน็บริดสีดวงไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม แต่อาจทำให้ปวดหรือแสบเล็กน้อยหากเนื้อเยื่อทวารหนักมีแผลหรือเลือดออก อย่างไรก็ตาม การใช้ยาชนิดนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการในผู้ป่วยบางราย เช่น

  • ปวดศีรษะแบบตุบ ๆ
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • ตัวสั่น
  • นอนไม่หลับ

หรือหากมีอาการแพ้ที่รุนแรง เช่น มีอาการบวมที่หน้า ลิ้น หรือลำคอ วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง หายใจไม่ออก ควรหยุดใช้ยาโดยทันทีและไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hemorrhoidal Suppository – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-61122/hemorrhoidal-suppository-rectal/details. Accessed June 13, 2022

มารู้จักยาเหน็บกันเถอะ. https://www.rama.mahidol.ac.th/th/knowledge_awareness_health/07feb2020-1613. Accessed June 13, 2022

Hemorrhoids. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hemorrhoids/diagnosis-treatment/drc-20360280. Accessed June 13, 2022

Hemorrhoids. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/hemorrhoids. Accessed June 13, 2022

Hemorrhoids. https://medlineplus.gov/hemorrhoids.html. Accessed June 13, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/02/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ริดสีดวงคนท้อง ปัญหาที่แก้ไขได้ระหว่างตั้งครรภ์

เป็นโรคริดสีดวง อาหารที่ควรกิน และหลีกเลี่ยง มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา