ยาแก้ปวดท้องเมนส์ คือกลุ่มยาสำหรับรับประทานเพื่อระงับอาการปวดท้องประจำเดือน ประกอบไปด้วยยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti Inflammatory Drugs) อาทิ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) คีโตโปรเฟน (Ketoprofen) นาพรอกเซน (Naproxen) ซึ่งควรรับประทานตามความจำเป็น ไม่เหมาะสำหรับการรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานเกิน 3-7 วัน
[embed-health-tool-ovulation]
เมนส์ คืออะไร
เมนส์ ย่อมาจาก เมนสทรูเอชัน (Menstruation) หรือประจำเดือน เป็นภาวะสุขภาพของเพศหญิงเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
โดยทั่วไป เพศหญิงจะเป็นเมนส์ครั้งแรกก่อนอายุ 16 ปี เมื่อเป็นเมนส์ เพศหญิงจะมีเลือดออกทางช่องคลอดติดต่อกัน 5-7 วัน และระยะเวลาอาการแต่ละรอบมักจะห่างกันราว 21-35 วัน ทั้งนี้ เลือดที่ไหลออกจากช่องคลอด เกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก เมื่อไข่ ที่ร่างกายผลิตออกมาทุกเดือนไม่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศชาย
เพศหญิงจะหยุดเป็นเมนส์ตอนอายุประมาณ 48-52 ปี หรือเมื่อร่างกายเข้าสู่วัยทอง โดยในช่วงดังกล่าว รังไข่จะเริ่มหยุดทำงาน ฮอร์โมนเพศอย่างเอสโทรเจน (Estrogen) กับโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ จะค่อย ๆ ลดปริมาณลงจนหมดไปทำให้ไม่เป็นเมนส์อีกต่อไป
ปวดท้องเมนส์ เกิดจากอะไร
ปวดท้องเมนส์ เป็นอาการปวดบริเวณหน้าท้องส่วนล่าง ช่วงก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือน เกิดจากการสลายตัวของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกที่ส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารพรอสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ออกมา โดยสารนี้จะออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดและชั้นกล้ามเนื้อบริเวณมดลูกหดตัว ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องเมนส์
ทั้งนี้ พรอสตาแกลนดินส์อาจแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด และเป็นสาเหตุของอาการอื่น ๆ ระหว่างเป็นเมนส์ได้ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
นอกจากนี้ ทางการแพทย์ยังพบว่า ปริมาณพรอสตาแกลนดินส์ที่หลั่งออกมาในแต่ละเดือน ส่งผลต่อความรุนแรงของอาการปวดท้องเมนส์
ยาแก้ปวดท้องเมนส์ มีอะไรบ้าง
เมื่อปวดท้องเมนส์ ควรรับประทานยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) เพื่อบรรเทาอาการปวด โดยยากลุ่มนี้ประกอบด้วย
- ไอบูโพรเฟน ควรรับประทานครั้งละ 400-600 มิลลิกรัม และไม่ควรรับประทานเกินวันละ 3,200 มิลลิกรัม หรือไม่เกิน 4 โดสต่อวัน และไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 3 วัน การรับประทานยามากเกินกว่านี้อาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ง่วงซึม หายใจลำบาก หรือเป็นลมได้
- คีโตโปรเฟน มักจำหน่ายในรูปแบบแคปซูล และรับประทานทุก 4-6 ชั่วโมงเพื่อระงับความเจ็บปวดตามจำเป็น การรับประทานคีโตโปรเฟนมากเกินไป อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆคล้ายกับอาการที่เกิดจากการรับประทานไอบูโพรเฟนมากเกินไป
- นาพรอกเซน มีขายในท้องตลาดในรูปแบบยาเม็ด แคปซูล และแคปซูลเจล รับประทานได้ทุก ๆ 8-10 ชั่วโมงตามความจำเป็น นอกจากนี้ เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ที่เป็นผลข้างเคียงหนึ่งของนาพรอกเซน ควรรับประทานนาพรอกเซนพร้อมนมหรืออาหาร
ทั้งนี้ ควรรับประทานยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ก่อนเป็นเมนส์หรือก่อนวันที่คาดว่าจะมีอาการปวดท้องเมนส์ ควรรับประทานเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และอาจรับประทานต่อเนื่องติดต่อกันไม่เกิน 3-7 วัน นอกจากนี้ หากรับประทานยาชนิดหนึ่งแล้วไม่ได้ผล อาจเปลี่ยนไปรับประทานยาอีกชนิดได้ แต่ไม่ควรเป็นยาในกลุ่มยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์เหมือนกัน หากรับประทานยาแก้ปวดชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์แล้วไม่หายปวด ควรไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุของการปวดประจำเดือน
อย่างไรก็ตาม ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ มีผลข้างเคียงต่อลำไส้ ผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหารหรือเป็นกรดไหลย้อน รวมถึงมีความผิดปกติเกี่ยวกับไต ควรแจ้งอาการป่วยให้คุณหมอหรือเภสัชกรทราบก่อนซื้อยา
ยาคุมกำเนิด สำหรับบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์
นอกจากยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ เพศหญิงอาจใช้ยาคุมกำเนิดทั้งแบบเม็ด แบบฉีด แผ่นแปะ และห่วงคุมกำเนิด เพื่อบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์ได้ เพราะฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ใช้คุมกำเนิด มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการปวดท้องเมนส์ได้ ด้วยการลดปริมาณพรอสตาแกลนดินส์ที่ร่างกายหลั่งออกมา
ทั้งนี้ การรับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อใช้บรรเทาอาการปวดท้องเมนส์ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงดังนี้
- ประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาไม่ปกติ ในกรณีที่ใช้ยาฉีดคุมกำเนิดแบบ 3 เดือน หรือห่วงคุมกำเนิด
- อาเจียน คลื่นไส้
- วิงเวียนศีรษะ
- เจ็บเต้านม
- อารมณ์แปรปรวน
- ลิ่มเลือด พบได้ในผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 35 ปี โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่ แต่เป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อยนัก
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลง