backup og meta

ผู้หญิงช่วยตัวเอง ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 23/08/2022

    ผู้หญิงช่วยตัวเอง ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร

    ผู้หญิงช่วยตัวเอง หรือสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง เป็นกิจกรรมกระตุ้นอารมณ์ทางเพศที่กระทำกันโดยทั่วไป กิจกรรมนี้อาจส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น ช่วยปรับปรุงเรื่องทางเพศ ช่วยผ่อนคลาย อย่างไรก็ตาม หากผู้หญิงช่วยตัวเองบ่อยเกินไปหรือช่วยตัวเองผิดวิธีก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพบางประการได้เช่นกัน

    ผู้หญิงช่วยตัวเอง กับผลต่อสุขภาพ

    เมื่อผู้หญิงช่วยตัวเอง อาจส่งผลต่อสุขภาพดังนี้

    1. ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและการหลั่งฮอร์โมน

    การช่วยตัวเองทำให้การไหลเวียนเลือดในร่างกายดีขึ้น เลือดจึงลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้อย่างพอเพียง ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ทำงานได้อย่างเป็นปกติ นอกจากนี้ การช่วยตัวเองยังช่วยกระตุ้นกระตุ้นสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจ ทั้งยังกระตุ้นการหลั่งสารเคมีในสมองที่มีชื่อว่า เอนดอร์ฟิน (Endorphins) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความสุข ช่วยคลายเครียด และบรรเทาความเจ็บปวด อีกทั้งเอนดอร์ฟินยังส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนเพศ และอาจช่วยชะลอวัยได้ด้วย

    2. อาจช่วยให้กิจกรรมทางเพศดีขึ้น

    การช่วยตัวเองอาจช่วยเพิ่มความมั่นใจในตัวเองและช่วยคลายความวิตกกังวลหรือความรู้สึกอึดอัดเวลามีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากเวลาที่ผู้หญิงช่วยตัวเอง จะทำให้รู้จักร่างกายตัวเองดีมากขึ้น รู้ว่าการสัมผัสหรือกิจกรรมเล้าโลมแบบไหนที่ทำให้ตัวเองพึงพอใจ นอกจากนี้ การทดลองทำในสิ่งที่ทำให้ตัวเองรู้สึกดี ยังอาจช่วยให้มีประสบการณ์ทางเพศที่ดีขึ้นทั้งต่อตัวเองและคนรัก

    3. อาจช่วยแก้ปัญหาเรื่องทางเพศในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

    วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน ส่งผลให้ร่างกายของผู้หญิงเปลี่ยนแปลงไป และหนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยคือ การเปลี่ยนแปลงของช่องคลอด โดยเมื่ออายุมากขึ้น ช่องคลอดอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงดังนี้

    • ช่องคลอดสั้นและแคบลง
    • ผนังช่องคลอดหนาและแข็งขึ้น
    • ช่องคลอดแห้ง หรือไม่มีน้ำหล่อลื่น

    การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์ จนอาจทำให้ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หรือรู้สึกไม่มีความสุขเวลามีเพศสัมพันธ์ได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนช่วยตัวเอง อาจช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เนื่องจากการช่วยตัวเองจะลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะช่องคลอดแคบ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด และช่วยบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับเนื้อเยื่อและความชุ่มชื้นของช่องคลอด รวมถึงอาจช่วยเพิ่มความปรารถนาทางเพศให้ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้ด้วย

    4. อาจช่วยให้ถึงจุดสุดยอดได้

    การไม่ถึงจุดสุดยอด เป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพทางเพศที่อาจพบได้ทั่วไป โดยเฉพาะในผู้หญิง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความกังวลขณะมีเพศสัมพันธ์ ประสบการณ์ฝังใจเรื่องเพศ ปัญหาความสัมพันธ์ ปัญหาสุขภาพจิต การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อย่างไรก็ตาม การช่วยตัวเองอาจช่วยกระตุ้นให้ผู้หญิงถึงจุดสุดยอดได้มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น ช่วยให้ผนังช่องคลอดแข็งแรงขึ้น ช่วยคลายเครียด ช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจน

    อย่งไรก็ตาม ร่างกายทุกคนแตกต่างกัน การช่วยตัวเองหรือการทำกิจกรรมทางเพศจนถึงจุดสุดยอดจึงอาจใช้ระยะเวลาแตกต่างกันตามไปด้วย โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการที่อาจเป็นสัญญาณว่าผู้หญิงถึงจุดสุดยอด อาจมีดังนี้

    • มดลูกและช่องคลอดหดตัวอย่างรวดเร็ว
    • มีอาการหดเกร็งกล้ามเนื้อในส่วนอื่นโดยอัตโนมัติ เช่น หน้าท้อง เท้า
    • อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น และหายใจถี่ขึ้น
    • ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น
    • รู้สึกผ่อนคลายอย่างฉับพลัน หรือเกิดการหลั่งของเหลว (Ejaculate)

    ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นเมื่อผู้หญิงช่วยตัวเอง

    แม้การช่วยตัวเองจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้หญิง การช่วยตัวเองบ่อยเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ทำให้ระดับฮอร์โมนเสียสมดุล ทำให้ปวดหรือชาบริเวณหลังและอุ้งเชิงกรานหรือท้องน้อย ซึ่งหากเป็นผู้หญิงที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ อาการปวดเกร็งบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือท้องน้อยอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ หรือหากผู้หญิงช่วยตัวเองด้วยของเล่นทางเพศหรือเซ็กส์ทอยที่ไม่สะอาด หรือใช้ผิดวิธี ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในช่องคลอด ทวารหนัก หรือช่องปากได้

    ผู้หญิงช่วยตัวเอง เป็นเรื่องปกติหรือไม่

    ผู้หญิงช่วยตัวเองถือเป็นเรื่องปกติ ผู้หญิงบางคนอาจช่วยตัวเองแล้วถึงจุดสุดยอดได้เร็ว บางคนอาจถึงจุดสุดยอดได้ช้า หรือบางคนอาจไม่ถึงจุดสุดยอด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป อย่างไรก็ตาม หากกังวลเกี่ยวกับการช่วยตัวเอง การถึงจุดสุดยอด หรือปัญหาสุขภาพทางเพศอื่น ๆ ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำ และการดูแลรักษาที่ตรงจุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 23/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา