เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri) เป็นเนื้องอกที่พบได้บ่อยในผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ มีหลายลักษณะและหลายขนาดหากตรวจพบเนื้องอกขนาดใหญ่ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หลายคนจึงอาจกังวลและสงสัยว่า เนื้องอก มดลูก 5 ซม. อันตราย ไหม จำเป็นต้องผ่าตัดมดลูกเพื่อนำก้อนเนื้องอกออกทันทีหรือไม่
โดยทั่วไป หากเนื้องอกไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติ หรือไม่ได้ขยายตัวเร็วจนน่ากังวล คุณหมอจะแนะนำให้เฝ้าระวังอาการและขนาดของเนื้องอกแทนการการผ่าตัดเนื้องอกออกทันที แต่หากเนื้องอกมดลูกมีขนาดใหญ่มากและทำให้มีอาการผิดปกติ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดและการใช้ยา
[embed-health-tool-bmi]
เนื้องอก มดลูก คืออะไร
เนื้องอกมดลูก เป็นก้อนเนื้อชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งหรือเนื้อร้ายที่ก่อตัวขึ้นภายในมดลูกของผู้หญิง มีตั้งแต่ขนาดเล็กจนไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าไปจนถึงขนาดใหญ่ที่ทำให้มดลูกขยายตัวหรือมีรูปร่างบิดเบี้ยว ในกรณีรุนแรง เนื้องอกมดลูกอาจขยายตัวใหญ่และลามไปถึงกระดูกซี่โครง จนรบกวนการทำงานของอวัยวะส่วนอื่น ทั้งยังทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้
เนื้องอกมดลูกอาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อน อาจมีขนาดเท่าเดิมไปตลอด เจริญเติบโตอย่างช้า ๆ หรือโตเร็วมาก เนื้องอกมดลูกอาจหดเล็กลงหรือหายไปหลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง
เนื้องอก มดลูก อาจจำแนกเป็นประเภทตามตำแหน่งที่พบ ดังนี้
- เนื้องอกในกล้ามเนื้อ (Intramural fibroid) เป็นเนื้องอกที่อยู่ภายในกล้ามเนื้อมดลูก เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด
- เนื้องอกที่โพรงมดลูก (Submucosal fibroid) เป็นเนื้องอกที่ดันเข้าไปในโพรงมดลูก
- เนื้องอกที่ผิวด้านนอกมดลูก (Subserosal fibroid) เป็นเนื้องอกที่ยื่นออกมานอกมดลูก
อาการของเนื้องอก มดลูก
ส่วนใหญ่แล้ว เนื้องอกมดลูกจะไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ และจะตรวจพบได้เมื่ออัลตราซาวด์หรือตรวจภายในบริเวณอุ้งเชิงกรานเท่านั้น แต่บางครั้ง ตำแหน่ง ชนิด ขนาด และจำนวนของเนื้องอกมดลูกก็อาจทำให้ร่างกายรทำงานผิดปกติ เช่น
- ประจำเดือนมามากกว่าปกติ
- มีประจำเดือนนานเกิน 1 สัปดาห์
- รู้สึกถึงแรงกดหรือปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย
- ถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น
- รู้สึกว่าถ่ายปัสสาวะไม่สุด หรือยังมีปัสสาวะตกค้างหลังจากถ่ายไปแล้ว
- ท้องผูก
- ปวดหลังหรือปวดขา
- ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- คลำพบก้อนในท้อง หรือมีอาการท้องโต
เนื้องอก มดลูก เกิดจากอะไร
ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของเนื้องอกมดลูกได้อย่างแน่ชัด แต่ปัจจัยเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกมดลูกได้
- พันธุกรรม ผู้หญิงที่มีโครโมโซมผิดปกติ มียีนกลายพันธุ์และแตกต่างไปจากยีนในเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกทั่วไป อาจเสี่ยงเกิดเนื้องอกมดลูกได้ง่ายขึ้น
- ฮอร์โมน ฮอร์โมนเพศหญิงอย่างเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) อาจมีส่วนในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้องอกในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์
- โกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) หรือสารธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองในร่างกาย เช่น สารคล้ายอินซูลิน ที่ร่างกายสร้างขึ้น อาจกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูก
เนื้องอก มดลูก 5 ซม. อันตราย ไหม
เนื้องอกมดลูกอาจมีขนาดตั้งแต่ 1 มม. ไปจนถึงมากกว่า 20 ซม. หากพบเนื้องอก มดลูก 5 ซม. หลายคนอาจสงสัยว่า เนื้องอกมดลูก 5 ซม. อันตราย ไหม คำตอบ คือ แม้เนื้องอกจะใหญ่ถึง 5 ซม. แต่ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นก้อนเนื้อที่เป็นอันตราย เพราะก้อนเนื้อที่พบมีโอกาสพัฒนาไปเป็นก้อนมะเร็งได้น้อยมาก นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกิดจากเนื้องอกมดลูกก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้องอกเพียงเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น เช่น ตำแหน่งของเนื้องอก ซึ่งมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น อาการประจำเดือนมามากกว่าปกติ อาการปวดท้องหน่วง หากเนื้องอก มดลูก 5 ซม. ขยายตัวอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดอาการผิดปกติ คุณหมออาจปรับเปลี่ยนการรักษาจากการเฝ้าระวังขนาดและอาการเป็นระยะ ไปเป็นการรักษาด้วยวิธีการทางการแพทย์ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับผู้ที่ตรวจพบเนื้องอกมดลูกในช่วงวางแผนตั้งครรภ์ หากว่าเนื้องอกมีขนาดเล็กและไม่แสดงอาการ คุณหมออาจนัดหมายมาตรวจดูขนาดของเนื้องอกเป็นระยะ และสามารถตั้งครรภ์ตามปกติได้ แต่หากพบว่ามีเนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่เกิน 5 ซม. คุณหมออาจแนะนำให้ผ่าตัดนำเนื้องอกออกก่อน เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในตั้งครรภ์
วิธีรักษาเนื้องอก มดลูก 5 ซม.
การรักษาเนื้องอกมดลูกจะขึ้นอยู่กับอาการ ตำแหน่ง และขนาดของเนื้องอก โดยอาจรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้
- การรักษาด้วยฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนชนิดรับประทาน ฮอร์โมนแบบห่วง ซึ่งอาจช่วยลดขนาดของเนื้องอกมดลูกได้
- การอุดกั้นหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงเนื้องอกมดลูก (Uterine artery embolisation) โดยการปล่อยอนุภาคขนาดเล็กเข้าไปที่หลอดเลือดมดลูกผ่านสายสวน เพื่ออุดกั้นหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงเนื้องอกมดลูก เมื่อไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงจะส่งผลให้เนื้องอกมดลูกขาดเลือดและหดตัวลง
- การทำลายเนื้อเยื่อเนื้องอกมดลูกด้วยคลื่นความถี่สูงหรือคลื่นอัลตราซาวด์
- การผ่าตัดมดลูก (Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อมดลูกบางส่วนหรือทั้งหมดออกซึ่งอาจช่วยทำให้อาการหายขาดได้
- การผ่าตัดนำเนื้องอกมดลูกออก (Myomectomy) โดยเหลือมดลูกส่วนเดิมเอาไว้