เมนไม่มากี่วันถึงท้อง เป็นคำถามยอดฮิตของผู้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันหรือเกิดความผิดพลาดในการคุมกำเนิด เช่น ถุงยางอนามัยขาด ลืมกินยาคุม โดยปกติหากมีเพศสัมพันธ์แล้วเมนหรือประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนดประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาจเป็นไปได้ว่ากำลังตั้งครรภ์ ซึ่งวิธีนี้อาจใช้ได้สำหรับผู้หญิงที่ประจำเดือนมาตรงกำหนดทุกเดือน
แต่สำหรับผู้หญิงที่เมนมาไม่ปกติอาจต้องสังเกตสัญญาณการตั้งครรภ์อื่น ๆ และใช้ชุดตรวจครรภ์ร่วมด้วยเพื่อยืนยันผล อย่างไรก็ตาม เมนไม่มาอาจเกิดสาเหตุอื่น ๆ ได้ เช่น การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ความเครียด วัยหมดประจำเดือน ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
[embed-health-tool-ovulation]
เมนไม่มากี่วันถึงท้อง
ผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์และมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันหรือการป้องกันเกิดความผิดพลาด เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 1-2 สัปดาห์ โดยนับจากวันที่คาดว่าจะมีประจำเดือนแต่ประจำเดือนไม่มาตามกำหนด เป็นไปได้ว่ากำลังตั้งครรภ์ ทั้งนี้ อาจตรวจเช็คสัญญาณการตั้งครรภ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน คัดหน้าอก และซื้อชุดตรวจการตั้งครรภ์มาตรวจเพื่อยืนยัน หากตรวจแล้วไม่พบการตั้งครรภ์ให้เว้นไปอีก 1 สัปดาห์ และหากเมนยังไม่มาให้ตรวจอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากตรวจทั้ง 2 ครั้งแล้วยังไม่พบการตั้งครรภ์และเมนยังไม่มา อาจเป็นไปได้ว่าฮอร์โมน HCG ที่พบในหญิงตั้งครรภ์ยังไม่มากพอ จึงควรเข้ารับการตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาลอีกครั้ง นอกจากนี้ เมนไม่มาอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การลดน้ำหนักมากเกินไป การเพิ่มน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ใช้ยาคุมกำเนิด ความเครียด กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ
สัญญาณคนท้อง
หากเมนไม่มาแล้วมีอาการเหล่านี้อาจเป็นไปได้ว่ากำลังตั้งครรภ์
- คัดตึงเต้านม หน้าอกบวม อาจรู้สึกเจ็บเต้านมและรู้สึกไม่สบายเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และรอบ ๆ หัวนมอาจมีสีเข้มขึ้น
- คลื่นไส้และอาเจียน เป็นอาการแพ้ท้องที่พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์
- เหนื่อยล้า ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงของหญิงตั้งครรภ์อาจทำให้พลังงานลดลงและรู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้น
- อารมณ์แปรปรวน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจส่งผลต่ออารมณ์ได้
- วิงเวียนศีรษะ อาจเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือด ความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำลง
- ปวดปัสสาวะบ่อย ร่างกายสร้างเลือดเพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย
สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เมนไม่มา
นอกจากการตั้งครรภ์อาจมีหลายสาเหตุที่ส่งผลทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือเมนไม่มาได้ สาเหตุที่อาจพบได้บ่อยมีดังนี้
- ความเครียด อาจส่งผลให้ประจำเดือนมานานขึ้นหรือสั้นลง และอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือขาดหายไป เนื่องจากความเครียดส่งผลต่อการสั่งการของสมองที่ทำหน้าที่กระตุ้นรังไข่ให้ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่กระตุ้นการมีประจำเดือน
- การออกกำลังกายมากเกินไป อาจทำให้ร่างกายอ่อนล้าและเกิดความเครียด ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่ผิดปกติทำให้หยุดการตกไข่ และส่งผลต่อการมีประจำเดือน
- การลดหรือการเพิ่มน้ำหนักอย่างรวดเร็ว การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว เช่น การอดอาหาร การรับประทานยาลดน้ำหนัก อาจยับยั้งการผลิตฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับการตกไข่ และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมากเกินไปอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนในปริมาณที่มากเกินไป ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนขาดได้
- การรับประทานยาคุมกำเนิดบางชนิด อาจส่งผลให้ประจำเดือนหยุด เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดียว ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม การฉีดยาคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด อย่างไรก็ตาม หากหยุดรับประทานยาคุมกำเนิด ประจำเดือนก็จะกลับมาเป็นปกติ
- กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ เป็นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อหรือระบบฮอร์โมนมีลักษณะถุงน้ำหลายใบภายในรังไข่ อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ส่งผลให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ทำให้ไม่สามารถปล่อยไข่ได้ ส่งผลให้ผู้ที่เป็นโรคนี้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนขาด
- วัยหมดประจำเดือน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้หญิงที่มีอายุ 40-55 ปี เนื่องจากระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงส่งผลให้การตกไข่น้อยลงและหยุดลงในที่สุด ทำให้ไม่มีประจำเดือน
เมื่อไหร่ควรพบคุณหมอ
หากประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนขาดร่วมกับปัจจัยเหล่านี้ควรเข้าพบคุณหมอ
- ประจำเดือนมานานถึง 7 วัน หรือมากกว่านั้น
- ประจำเดือนมาบ่อยในทุก ๆ 21 วัน หรือมาน้อยในทุก ๆ 35 วัน นับจากประจำเดือนวันสุดท้าย
- บางเดือนประจำเดือนมาน้อยมากหรือบางเดือนประจำเดือนมามากกว่าปกติสลับกันไป
- ประจำเดือนมาไม่ปกติและทำให้ตั้งครรภ์ได้ยาก
- ประจำเดือนมาไม่ปกติในขณะที่คุณผู้หญิงอายุ 45 ปี