backup og meta

ฝีมะม่วง โรคร้ายจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

ฝีมะม่วง โรคร้ายจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

ฝีมะม่วง (Lymphogranuloma Venereum : LGV) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง โดยติดต่อผ่านทางผิวหนังจนเกิดเป็นแผลที่อวัยวะเพศ มักเกิดในคู่ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เมื่อเป็นแล้วหากไม่ทำการรักษา อาจเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคฝีคัณฑสูตรหรือฝีเรื้อรัง  และอาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

ฝีมะม่วงคืออะไร

ฝีมะม่วง เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) แบคทีเรียนี้แพร่เชื้อ ผ่านเข้าสู่ผิวหนังทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ     บวมโตติดกันเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่ หรืออาจทำให้เกิดแผลหรือเป็นตุ่มนูนที่อวัยวะเพศ โดยอาจมีเลือดไหลออกจากแผล หรือเป็นฝีมีหนองไหลออกมา เมื่อเป็นแล้วจะรู้สึกเจ็บปวดมาก โรคนี้ส่วนใหญ่มักเป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีเชื้อ HIV รวมทั้งกลุ่มรักร่วมเพศระหว่างชายกับชาย ผู้ป่วยสามารถส่งเชื้อผ่านได้แม้ไม่แสดงอาการ ผ่านการร่วมเพศปกติ การร่วมเพศทางทวารหนัก การทำออรัลเซ็กซ์ การสัมผัสอวัยวะเพศ การใช้เซ็กส์ทอยร่วมกัน

อาการของฝีมะม่วง

 อาการของฝีมะม่วงแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 (ระยะแผล) หลังได้รับเชื้ออาจเป็นแผลหรือตุ่มฝีบริเวณอวัยวะ โดยไม่รู้สึกเจ็บหรือปวด แผลอาจหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน ทำให้ผู้ป่วยมักไม่ทันสังเกตเห็น และไม่ได้เข้ารับการรักษา
  • ระยะที่ 2 (ระยะฝี) ต่อมาหลังจากแผลในระยะแรกหายประมาณ 2-6 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะกลับมามีตุ่มนูน ตุ่มใส หรือแผลขนาดเล็ก ตื้น ๆ เกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ หรืออาจเกิดขึ้นที่อัณฑะหรือทวารหนัก โดยที่ยังไม่มีอาการเจ็บหรือปวด แต่ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะบวมโตติดกันเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่และเจ็บมากจนอาจเดินไม่ได้ ตรงกลางของตุ่มฝีจะเป็นร่องของพังผืดคล้ายร่องของมะม่วงอกร่อง จึงเรียกโรคนี้ว่า “ฝีมะม่วง” ซึ่งต่อมน้ำเหลืองระหว่างขาหนีบอาจโต     เพียงข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ และผิวหนังบริเวณที่เป็นฝีจะมีอาการอักเสบ มีลักษณะบวม แดง แสบร้อนร่วมด้วย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดฝีมากจนเดินไม่ไหว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตาอักเสบ ปวดข้อ ผื่นขึ้นตามตัว ฝีอาจยุบหายไปได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือเป็นเดือน แต่บางรายฝีอาจแตกเป็นรูหลายรูและมีหนองไหลจนกลายเป็นแผลเรื้อรังได้ โดยผู้ป่วยบางรายในระยะนี้อาจเข้าใจผิดว่าตนเองป่วยเป็นลำไส้อักเสบ
  • ระยะที่ 3 ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาให้หายขาดในระยะที่ 2 ทำให้สามารถเกิดเป็นฝีมะม่วงในระยะที่ 3 ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อมานานถึง 20 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการของลำไส้อักเสบ อวัยวะเพศบวมอย่างรุนแรง อุ้งเชิงกรานอักเสบ มีอาการคันก้น มีหนองและเลือดออกจากทวารหนัก ปวดเบ่ง อุจจาระลำเล็กลง น้ำหนักตัวลด และอาจมีการตีบตันของทวารหนักหรือทวารหนักมีก้อนเหมือนริดสีดวง

วิธีรักษาฝีมะม่วง

การรักษาฝีมะม่วง แพทย์จะทำการรักษาตั้งแต่ระยะที่ 1 หรือระยะที่ 2  โดยวิธีการรักษามีด้วยกัน 2 วิธี ดังนี้

การรักษาด้วยการกินยา  

  • แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะ Doxycycline 100 มก. รับประทานวันละสองครั้งนาน 21 วันซึ่งจะได้ผลดีที่สุดแต่ถ้าแห้หรือมีข้อห้ามสามารถใช้ อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) 1 กรัม สัปดาห์ละครั้งนานสามสัปดาห์ หรือ รับประทานอะริโธรมัยซิน 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 21 วัน  และระหว่างการรักษาควรหมั่นสังเกตคู่นอนของตนเองว่ามีอาการของฝีมะม่วงเช่นกันหรือไม่ เพื่อจะได้หาทางรักษา และลดความเสี่ยงในการกลับไปเป็นฝีมะม่วงอีกหลังจากรักษาหายแล้ว ที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการรักษา เพื่อจะได้ไม่แพร่เชื้อไปสู่คู่นอนหรือผู้อื่น

การผ่าตัด

  • ผู้ป่วยที่ก้อนฝีหรือต่อมน้ำเหลืองบวมโตอาจจำเป็นต้องเจาะผิวเอาของเหลวในฝีออกมา เพื่อบรรเทาอาการของโรคให้ทุเลาลง ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายที่ลำไส้ตรงตีบหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างรุนแรง อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

การรักษาฝีมะม่วงในหญิงตั้งครรภ์

ในหญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอิริโธรมัยซิน (Erythromycin) สำหรับยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) อาจใช้ได้เพียงแต่ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์รับรองอย่างเป็นทางการ ควรปรึกษาแพทย์ให้วินิจฉัยและทำการรักษา ไม่ควรซื้อยากินเอง

ทั้งนี้ หากผู้ที่เป็นฝีมะม่วงแล้วไม่เข้ารับการรักษา หรือรักษาไม่หายขาด อาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ การติดเชื้อทางทวารหนัก โรคฝีคัณฑสูตรหรือฝีเรื้อรัง โรคเท้าช้าง โรคปอดอักเสบ โรคไวรัสตับอักเสบ

วิธีป้องกันฝีมะม่วง

เนื่องจากปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันแบคทีเรีย ไมเดีย ทราโคมาติส  ของฝีมะม่วง จึงจำเป็นต้องหาวิธีป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดนี้

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรค ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดฝีมะม่วงได้ดีที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพื่อลดโอกาสในการเกิดโรค
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพราะการสวมถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีมีส่วนช่วยลด การเป็นฝีมะม่วงและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ  อีกด้วย
  • ควรรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศ หลังการร่วมเพศทันที การดื่มน้ำก่อนร่วมเพศและถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ หรือการฟอกสบู่ทันทีหลังร่วมเพศ อาจช่วยลดการติดเชื้อลง
  • หมั่นออกกำลังกายและรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
  • เข้ารับการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำทุกปี อาจทำด้วยการตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือด การทดสอบการปนเปื้อน (Swab Test) เป็นต้น

[embed-health-tool-ovulation]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Lymphogranuloma Venereum (LGV). https://emedicine.medscape.com/article/220869-overview. Accessed December 27, 2021.

Lymphogranuloma Venereum (LGV). http://www.bccdc.ca/health-info/diseases-conditions/lymphogranuloma-venereum-lgv. Accessed December 27, 2021.

Lymphogranuloma Venereum (LGV). https://www.cdc.gov/std/tg2015/lgv.htm. Accessed December 27, 2021.

Lymphogranuloma venereum. https://www.britannica.com/science/lymphogranuloma-venereum. Accessed December 27, 2021.

Lymphogranuloma Venereum (LGV). https://stanfordhealthcare.org/medical-conditions/sexual-and-reproductive-health/lgv.html. Accessed December 27, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/06/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เช็กอาการ! เริมกับHPV 2 โรคนี้ ต่างกันยังไง

โรคซิฟิลิส โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ป้องกันได้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 06/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา