backup og meta

มดลูกอักเสบ สาเหตุ อาการ การรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/06/2022

    มดลูกอักเสบ สาเหตุ อาการ การรักษา

    มดลูกอักเสบ หรือ ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ เป็นภาวะการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์เพศหญิงส่วนบน ทำให้เกิดการอักเสบในบริเวณอุ้งเชิงกราน ได้แก่ มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หากติดเชื้อรุนแรงจะทำให้เกิดอาการป่วยและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก การมีบุตรยาก การเกิดฝีหนอง จึงควรไปพบคุณหมอเพื่อรักษาให้เร็วที่สุด

    ประเภทของภาวะมดลูกอับเสบ

    ภาวะมดลูกอักเสบ หรือภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease หรือ PID) เป็นการอักเสบของอวัยวะที่อยู่ในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง โดยอาจแบ่งประเภทออกตามตำแหน่งที่มีการอักเสบได้ดังนี้

    • ภาวะปีกมดลูกอักเสบ (Salpingitis) เป็นภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณท่อรังไข่และรังไข่
    • เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ (Endometritis) เป็นภาวะอักเสบที่ขึ้นบริเวณเยื่อบุภายในโพรงมดลูก
    • ปากมดลูกอักเสบ (Cervicitis) เป็นภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณปากมดลูก ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมกับช่องคลอด

    สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมดลูกอักเสบ

    ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดภาวะ มดลูกอักเสบ มีดังนี้

    • ติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อคลาไมเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) เชื้อเนอิสซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria Gonorrhoeae) จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องมาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน โรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดมดลูกอักเสบ เช่น โรคหนองใน โรคหนองในเทียม เริมที่อวัยวะเพศ โรคพยาธิในช่องคลอด โรคติดเชื้อไมโคพลาสมา โรคติดเชื้อยูเรียพลาสมา
    • สาเหตุอื่น ๆ โดยปกติในช่องคลอดก็มีแบคทีเรียที่ไม่เป็นอันตรายอาศัยอยู่ แต่แบคทีเรียเหล่านี้ก็อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้หากเข้าไปในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น เคยเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบมาก่อน หรือเคยทำหัตถการเกี่ยวกับปากมดลูก เช่น การทำแท้ง การใช้อุปกรณ์คุมกำเนิด เป็นต้น

    อาการของภาวะมดลูกอักเสบ

    อาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะมดลูกอักเสบ อาจมีดังนี้

    • วิงเวียนศีรษะ อาเจียน
    • เป็นไข้ และอาจมีอาการหนาวสั่น
    • ปวดท้องส่วนล่าง
    • รู้สึกเจ็บหรือแสบขณะถ่ายปัสสาวะ
    • มีเลือดออกระหว่างและหลังมีเพศสัมพันธ์
    • รู้สึกไม่สบายหรือเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์
    • ประจำเดือนมามาก
    • ปวดประจำเดือนมากผิดปกติ
    • มีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงที่ไม่ได้มีประจำเดือน
    • มีตกขาวสีผิดปกติ และตกขาวมีกลิ่น

    ภาวะแทรกซ้อนของภาวะ มดลูกอักเสบ

    ภาวะแทรกซ้อนของภาวะมดลูกอักเสบ อาจมีดังนี้

    • การตั้งครรภ์นอกมดลูก หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ การอักเสบของมดลูกอาจทำให้เนื้อเยื่อภายในอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น ท่อนำไข่ เป็นแผล ทำให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วฝังตัวที่บริเวณท่อนำไข่แทนที่จะเข้าไปฝังตัวที่ผนังมดลูก
    • ภาวะมีบุตรยาก ความเสียหายของอวัยวะสืบพันธุ์ที่เกิดจากการอักเสบอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้
    • อาการปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง มดลูกอักเสบอาจทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรังเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี รวมไปถึงตอนที่มีเพศสัมพันธ์และตอนที่ไข่ตกในแต่ละเดือน
    • ฝีในอวัยวะสืบพันธุ์ มดลูกอักเสบอาจทำให้เกิดฝีหนองในบริเวณท่อนำไข่ รังไข่ และมดลูก ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจติดเชื้อจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

    การรักษาภาวะ มดลูกอักเสบ

    การรักษาภาวะมดลูกอักเสบ ต้องประเมินตามอาการของคนไข้ และดูว่ามีข้อบ่งชี้ในการนอนรักษาตัวให้ยาฆ่าเชื้อทางเส้นเลือดในโรงพยาบาลหรือไม่ ถ้าอาการไม่หนักมาก สามารถฉีดยาฆ่าเชื้อเข้ากล้ามเนื้อและรับประทานยาปฏิชีวนะต่อที่บ้านได้ โดยให้รับประทานยาต่อเนื่องกัน เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยควรรับประทานตามปริมาณที่คุณหมอสั่งจ่ายจนหมด และไม่หยุดยาด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการดื้อยาในอนาคต

    ทั้งนี้ หากอาการอักเสบของมดลูกรุนแรงและลุกลามจากบริเวณที่อักเสบไปยังอวัยวะสืบพันธุ์ใกล้เคียง มีการติดเชื้อรุนแรงและรู้สึกไม่สบายมาก มีฝีหนองเกิดขึ้นในบริเวณท่อนำไข่หรือรังไข่ หรือมีภาวะสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น กำลังตั้งครรภ์ อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เช่น การให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ การผ่าตัด โดยการผ่าตัดอาจเป็นการผ่าตัดนำฝีหนองออก หรือในกรณีที่มีอาการอักเสบรุนแรง อาจต้องผ่าตัดเพื่อนำท่อนำไข่ รังไข่ หรือมดลูกออกไปบางส่วนหรือทั้งหมด

    การรักษาภาวะมดลูกอักเสบให้ได้ผลดีที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับความเร็วในการรักษา หากเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะสามารถหายได้ภายในเวลาไม่นาน แต่หากเข้ารับการรักษาเมื่ออาการอักเสบลุกลามและรุนแรงมาก อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนและส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ จึงควรสังเกตอาการของตัวเองอยู่เสมอ ว่ามีอาการที่เป็นสัญญาณของมดลูกอักเสบหรือไม่ และควรสวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ หากพบว่าตัวเองและคู่นอนมีความเสี่ยงหรือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจภายใน หากพบว่าติดเชื้อ ควรรักษาให้หายสนิทเพื่อลดการแพร่เชื้อต่อไปยังผู้อื่น และลดความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้หญิงเป็นมดลูกอักเสบในอนาคต

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา