backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

หูดหงอนไก่ สาเหตุ อาการ การรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/02/2022

หูดหงอนไก่ สาเหตุ อาการ การรักษา

หูดหงอนไก่ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากไวรัสเอชพีวี (HPV) พบได้ในบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก และอาจพบได้ในบริเวณช่องปาก สามารถเป็นได้ทั้งชายและหญิง หากสังเกตว่ารอบ ๆ อวัยวะเพศมีก้อนนูน รวมถึงมีอาการคัน หรือสัมผัสโดนเเล้วเจ็บ ควรเข้ารับการวินิจฉัยจากคุณหมอในทันที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

คำจำกัดความ

หูดหงอนไก่ คืออะไร

หูดหงอนไก่ คือ หูดที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papillomavirus: HPV) ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้เกิดกลุ่มก้อนเล็ก ๆ จนถึงขนาดใหญ่ที่อาจมีมากกว่า 1 ก้อนขึ้นไป กระจายในบริเวณที่ได้รับเชื้อ และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย สำหรับผู้หญิง หูดหงอนไก่อาจปรากฏรอบ ๆ ทวารหนัก อวัยวะเพศด้านนอก ช่องคลอด หรือปากมดลูก ส่วนผู้ชายหูดหงอนไก่อาจขึ้นบริเวณองคชาต ถุงอัณฑะ และรอบทวารหนัก

อาการ

อาการหูดหงอนไก่

อาการหูดหงอนไก่ สามารถสังเกตได้จาก

  • อาการคัน เจ็บปวดบริเวณอวัยวะเพศ และทวารหนัก
  • มีเลือดออกจากการมีเพศสัมพันธ์
  • อาการตกขาว และอวัยวะเพศมีกลิ่นเหม็น
  • กลุ่มก้อนหูดขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งอาจมีสีเนื้อ สีชมพู หรือสีน้ำตาล
  • ในบางกรณี หูดอาจปรากฏภายในช่องปาก ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอได้ หากมีการร่วมเพศทางปาก

สาเหตุ

สาเหตุหูดหงอนไก่

สาเหตุที่ทำให้หูดหงอนไก่ปรากฏรอบ ๆ อวัยวะเพศ คือการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ผ่านการสัมผัสกับหูดโดยตรงจากการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งทางช่องคลอด ทางทวารหนัก และทางปาก ที่อาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนเสี่ยงเป็นมะเร็งบริเวณปากมดลูก ทวารหนัก องคชาต ปากและลำคอได้ อีกทั้งหูดยังสามารถแพร่กระจายผ่านคนที่สัมผัสหูดโดยไม่ได้ล้างมือ เช่น การจับแขน จับมือ

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงหูดหงอนไก่

ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลทำให้เป็นหูดหงอนไก่ ได้แก่

  • มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนโดยไม่ป้องกัน
  • มีคู่นอนและมีเพศสัมพันธ์หลายคน
  • มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่ทราบประวัติสุขภาพทางเพศ
  • ภูมิคุ้มกันบกพร่อง จากผลข้างเคียงของยา การปลูกถ่ายอวัยวะ และโรคเอชไอวี (HIV)
  • มีแผลบนผิวหนังหรือผิวหนังถลอก เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อผ่านทางแผลได้ง่าย
  • การติดเชื้อต่อจากการสัมผัสหูดของผู้อื่นหรือสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อ HPV โดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ที่อาบน้ำสาธารณะ สระว่ายน้ำ

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยหูดหงอนไก่

การวินิจฉัยหูดหงอนไก่ส่วนใหญ่มักทำได้ด้วยการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อของหูดนำไปตรวจ หรือในบางรายลักษณะของก้อนชัดเจน จนสามารถวินิจฉัยได้โดยที่ไม่ต้องตัดชิ้นเนื้อ สำหรับผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นหูดหงอนไก่ คุณหมอมักจะแนะนำให้ตรวจคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกร่วมด้วย โดย 2 วิธี ดังนี้

  • การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) คุณหมออาจใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เรียกว่าสเปคคูลั่ม (Speculum) หรือคีมขยายช่องคลอด เพื่อตรวจเช็กภายในช่องคลอดและปากมดลูก จากนั้นจะเก็บตัวอย่างเซลล์มาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาความผิดปกติ
  • การทดสอบหาเชื้อเอชพีวี เป็นการการทดสอบคัดกรองมะเร็งปากมดลูก บางครั้งอาจมีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อปากมดลูกนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อไวรัส HPV การวินิจฉัยนี้อาจเหมาะสำหรับผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป เพราะการวินิจฉัยหาเชื้อเอชพีวีอาจไม่มีประโยชน์ในผู้ผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 30 เนื่องจากเชื้อเอชพีวีสามารถหายไปได้เอง

การรักษาหูดหงอนไก่

การรักษาหูดหงอนไก่จะเน้นรักษาตามอาการที่ผู้ป่วยเป็น โดยอาจแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

ยาทาผิวหนังโดยตรง

  • กรดไตรคลอโรอะเซติก (Trichloroacetic Acid) คือยาที่ช่วยกำจัดหูดหงอนไก่ภายใน แต่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองเล็กน้อย หรือเกิดแผลบนผิวหนังได้
  • ยาอิมิควิโมด (Imiquimod) เป็นยาที่อาจช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ขณะเดียวกันก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงขึ้นกับผิวหนัง เช่น ผิวหนังอวัยวะเพศแดง
  • โพโดฟิลอก (Podofilox) หรือโพโดฟิโลทอกซิน (Podophyllotoxin) มีสารออกฤทธิ์ช่วยทำลายเนื้อเยื่อของหูด ควรหลีกเลี่ยงการใช้ทาบริเวณภายใน สำหรับสตรีตั้งครรภ์อาจจำเป็นต้องปรึกษาคุณหมอผิวหนังก่อนใช้งาน เพราะอาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง
  • ไซนีคาเทชิน (Sinecatechins) เป็นครีมที่ใช้สำหรับรักษาหูดหงอนไก่ และหูดที่ขึ้นอยู่โดยรอบอวัยวะเพศภายนอก และภายในได้

การผ่าตัด

  • จี้ด้วยไฟฟ้า เป็นใช้กระแสไฟฟ้ากำจัดหูดหงอนไก่ โดยอาจส่งผลให้บริเวณที่ได้รับผลกระทบมีอาการปวดบวม
  • ผ่าตัดกำจัดหูด คุณหมออาจใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ตัดหูดออก ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีการตอบสนองจากการรักษาด้วยยา
  • เลเซอร์ เป็นการใช้แสงที่มีความเข้มข้นสูงกำจัดหูดหงอนไก่ในปริมาณมาก มีหลายตำแหน่ง รอยโรคกินบริเวณกว้าง และยากต่อการรักษา 
  • บำบัดด้วยความเย็นไนโตรเจนเหลว เป็นการใช้ความเย็นเพื่อให้หูดหงอนไก่หลุดออกมา แต่อาจจำเป็นต้องทำการรักษาซ้ำหลายครั้งต่อเนื่อง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันหูดหงอนไก่

การป้องกันหูดหงอนไก่ที่ดีที่สุดคือควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเอชพีวีที่ครอบคลุมเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ก่อโรคหูดหงอนไก่ โดยอาจเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี จนถึง 45 ปี เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกและหูดหงอนไก่ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย และควรสวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/02/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา