backup og meta

หูดหงอนไก่ อาการเป็นอย่างไร สาเหตุและการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/09/2023

    หูดหงอนไก่ อาการเป็นอย่างไร สาเหตุและการรักษา

    หูดหงอนไก่ คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papillomavirus: HPV) ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน โดยหูดหงอนไก่อาจมีอาการต่าง ๆ เช่น อาการคัน แสบร้อน และมีเลือดออกบริเวณอวัยวะเพศ รวมถึงตุ่มหูดที่ปรากฏบริเวณอวัยวะเพศ ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก องคชาต ถุงอัณฑะ ในช่องปาก และลำคอ หากพบว่าตนเองมีอาการดังกล่าว ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาทันที

    สาเหตุของหูดหงอนไก่ และอาการที่เกิดขึ้น

    อาการของหูดหงอนไก่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนพัพพิลโลมาไวรัส หรือเอชพีวี ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่พบบ่อย คือ HPV 6, 11, 42, 43, 44 ที่อาจก่อให้เกิดหูดบริเวณอวัยวะเพศ ช่องปาก ตา โพรงจมูก ปากช่องคลอด คลิตอริส ท่อปัสสาวะ และทวารหนัก แต่หากติดเชื้อ HPV 16, 18, 31, 33, 39, 41-45, 51, 52, 56 และ 59 อาจมีความเสี่ยงสูงที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้

    เชื้อเอชพีวมักแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน โดยอาจมีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ดังนี้

    • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งอาจเกิดจากการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน การปลูกถ่ายอวัยวะ การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือควบคุมอาการเบาหวานไม่ดี
    • การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่รู้ประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • การมีคู่นอนหลายคน
    • การคลอดบุตรทางช่องคลอดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชพีวี
    • การสัมผัสที่บริเวณอวัยวะเพศของผู้ติดเชื้อ
    • การสูบบุหรี่

    หูดหงอนไก่ มีอาการอะไรบ้าง

    อาการของหูดหงอนไก่ อาจปรากฏขึ้นหลังจากติดเชื้อได้ 1 สัปดาห์จนถึงสามเดือนหรือนานกว่านั้นในบางราย โดยสามารถสังเกตได้ดังนี้

    อาการหูดหงอนไก่ในผู้หญิง

    • มีหูดสีแดงหรือสีขาวคล้ายดอกกะหล่ำ ที่อาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ พบได้ในบริเวณรอบช่องคลอด ปากมดลูก ขาหนีบ ทวารหนัก
    • มีอาการคันและระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ
    • ตกขาวผิดปกติ เช่น สีเปลี่ยนไป มีกลิ่นเหม็น
    • เจ็บแสบอวัยวะเพศ และอาจมีเลือดออกขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์

    อาการหูดหงอนไก่ในผู้ชาย

  • หูดสีแดงหรือสีขาวขึ้นที่องคชาต ถุงอัณฑะ และรอบทวารหนัก
  • สารคัดหลั่งจากองคชาตมีสีผิดปกติ เช่น สีเขียว สีเหลือง หรือสีขาวปนเลือด
  • เจ็บแสบอวัยวะเพศขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • หากสังเกตว่ามีตุ่มหูดบริเวณอวัยวะเพศ หรือสังเกตเห็นสารคัดหลั่งมีสีผิดปกติ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา โดยเฉพาะหากติดเชื้อ HPV ซึ่งมักติดพร้อมกันได้หลายชนิด จึงทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งในบริเวณนี้สูงขึ้นหรือก่อให้เกิดปัญหาระหว่างตั้งครรภ์ที่กระทบต่อสุขภาพของทารก เช่น ทางเดินหายใจอุดกั้น มีหูดในลำคอทารกหรือกล่องเสียง

    หูดหงอนไก่ และอาการ หายเองได้ไหม

    อาการหูดหงอนไก่ อาจสามารถหายเองได้ภายในระยะเวลา 1 ปี แต่ยังคงเหลือเชื้อไวรัสเอชพีวีอยู่ในร่างกาย ที่อาจถูกกระตุ้นและก่อให้เกิดหูดได้ซ้ำ ๆ และอาจแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น อย่างไรก็ตาม หากยังคงมีอาการหูดหงอนไก่อยู่ หรือรู้สึกไม่สบายตัวจากตุ่มหูดหงอนไก่ ระคายเคืองอวัยวะเพศ สามารถเข้ารับการรักษาจากคุณหมอได้ทันที

    การรักษาหูดหงอนไก่ และอาการ

    การรักษาอาการหูดหงอนไก่ อาจทำได้ดังนี้

    ยาในรูปแบบทา

    • กรดไตรคลอโรอะซิติก (Trichloroacetic acid) เป็นยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวหนังบริเวณที่มีอาการหูดหงอนไก่ ทำให้หูดค่อย ๆ หลุดออก ควรใช้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6-10 สัปดาห์ โดยทาบริเวณหูดและปิดแผลเอาไว้ 5-6 วัน ยานี้อาจส่งผลให้มีอาการระคายเคืองผิวหนังเล็กน้อย มีแผล และแสบร้อนในบริเวณที่ทา
    • โพโดฟิลอกซ์ (Podofilox) เป็นยาที่ช่วยทำลายเนื้อเยื่อหูดหงอนไก่ ที่อวัยวะเพศ โดยหูดจะค่อย ๆ หลุดเองภายใน 2-3 วัน ยานี้อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนหรืออาการคันในบริเวณที่ทา และอาจซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เส้นประสาทอักเสบ อีกทั้งยังไม่แนะนำให้ใช้ในระหว่างตั้งครรภ์
    • ซิเนคาเทชิน (Sinecatechins) เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการหูดหงอนไก่รอบ ๆ อวัยวะเพศ ควรทาวันละ 3 ครั้ง โดยไม่ต้องล้างออก แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน 16 สัปดาห์ ยานี้มีผลข้างเคียงคืออาจทำให้ผิวแดง แสบร้อน คัน และผื่นขึ้น
    • อิมิควิโมด (Imiquimod) คือยาที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับการติดเชื้อ HPV เป็นยาในรูปแบบครีม ควรทาก่อนนอนทิ้งไว้ 6-10 ชั่วโมง แล้วล้างออก3 ครั้ง/สัปดาห์ (วันเว้นวัน) แต่ไม่เกิน 16 สัปดาห์ติดต่อกัน ไม่ควรใช้ยานี้ระหว่างมีเพศสัมพันธ์เพราะอาจส่งผลข้างเคียงทำให้คู่นอนมีผื่นแดง ระคายเคือง และไม่แนะนำให้ใช้ในสตรีตั้งครรภ์
    • ทิงเจอร์พอโดฟิลลิน (Tincture podophyllin) คือยาที่ออกฤทธิ์ช่วยทำลายเนื้อเยื่อหูดหงอนไก่ ทำให้หูดหลุดออก โดยควรทาในปริมาณน้อย ๆ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และล้างออกหลังจากทายา 4 ชั่วโมง

    การผ่าตัด 

    • การผ่าตัด เพื่อกำจัดหูดหงอนไก่ออก โดยมีผลข้างเคียงคืออาจทำให้เกิดบาดแผลและอาการปวดเล็กน้อยหลังการผ่าตัด
    • ไนโตรเจนเหลว (Cryotherapy) เป็นการรักษาโดยการแช่แข็งหูดหงอนไก่ ทำให้เนื้อเยื่อของหูดถูกทำลายจนหลุดออกเอง วิธีนี้จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาซ้ำ ๆ หลายครั้ง ผลข้างเคียงของการใช้ไนโตรเจนเหลวคืออาจทำให้ผิวรอบข้างตาย รู้สึกปวด และมีอาการผิวพองจากความเย็นได้
    • การเลเซอร์ เป็นการใช้ลำแสงที่มีความเข้มข้นสูงฉายในบริเวณที่มีอาการหูดหงอนไก่ เพื่อทำให้เซลล์เนื้อเยื่อของหูดตายและหลุดออก ซึ่งอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้ง ผลข้างเคียงของการเลเซอร์หูดหงอนไก่ อาจทำให้มี อาการ เจ็บปวดและทิ้งรอยแผลเป็นไว้
    • การจี้ด้วยไฟฟ้า เป็นการใช้ไฟฟ้าจี้ในบริเวณที่มีอาการหูดหงอนไก่ ทำให้เนื้อเยื่อหูดตายและหลุดออก เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการหูดหงอนไก่ขนาดใหญ่และยากต่อการรักษา แต่อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการปวด และผิวบวมหลังกำจัดหูด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/09/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา