backup og meta

ยาทาหูด มีอะไรบ้างและใช้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/09/2023

    ยาทาหูด มีอะไรบ้างและใช้อย่างไร

    ยาทาหูด สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป อาจมีทั้งรูปแบบเจล ครีมหรือขี้ผึ้ง ส่วนใหญ่เป็นยาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยละลายหูด ผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและช่วยให้ผิวอ่อนนุ่มขึ้น เมื่อทาแล้วไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือแสบร้อน แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาหลายสัปดาห์ในการรักษาถึงจะหายขาด อย่างไรก็ตาม ควรใช้ยาทาหูดตามคำแนะนำของคุณหมอ เพื่อกำจัดเชื้อไวรัสที่ตกค้างและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

    ยาทาหูด มีอะไรบ้าง

    ในบางครั้งหูดอาจสามารถหายได้เองภายใน 6 เดือน หรือภายใน 2-3 ปีโดยไม่ต้องรักษา แต่หากหูดไม่หายไปเองหรืออาจทำให้มีอาการไม่สบายตัว เช่น คัน เจ็บปวด แสบร้อน จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อาจจำเป็นต้องใช้ ยารักษาหูด เพื่อช่วยบรรเทาอาการและทำให้หูดหายเร็วขึ้น

    ยาทาหูดส่วนใหญ่อาจหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ซึ่งมีทั้งรูปแบบเจล ครีมหรือขี้ผึ้ง โดยมีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก กรดแลคติก (Lactic Acid) กรดไตรคลอโรอะซิติก (Trichloroacetic Acid หรือ TCA) กรดฟีนอล (phenol) และ 5-FU ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยผลัดเซลล์ผิว ทำให้ผิวอ่อนนุ่มขึ้นและละลายหูดออก และกลุ่มยาทาหูดบริเวณอวัยวะเพศ ได้แก่

  • ทิงเจอร์โพโดฟิลลิน 25% (Tincture Podophyllin 25%) ใช้ทาบริเวณที่เป็นหูด จากนั้นใช้น้ำและสบู่ล้างยาออกหลังจากทายาประมาณ 4 ชั่วโมง โดยควรใช้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และควรได้รับการรักษาโดยแพทย์ผิวหนัง
  • อิมิควิโมด 5% (Imiquimod 5%) ใช้ทาก่อนนอน ควรทาทิ้งไว้ประมาณ 6-10 ชั่วโมงแล้วล้างออก ทาวันเว้นวันสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ซึ่งอาจใช้ต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 16 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับอาการ โดยห้ามใช้ทาบริเวณปากมดลูก ภายในช่องคลอด และผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เพราะอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์
  • การรักษาด้วยยาทาหูดอาจใช้ระยะเวลาหลายสัปดาห์ แต่เป็นวิธีการรักษาที่สามารถทำได้เองที่บ้าน แต่ควรระวังไม่ให้ยาทาหูดโดนผิวหนังบริเวณรอบข้าง เพราะอาจทำให้ผิวหนังลอกหรือบางลงได้

    การรักษาหูดด้วยวิธีอื่น ๆ

    สำหรับหูดที่มีอาการรุนแรงและไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาทาหูด คุณหมออาจแนะนำวิธีการรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

  • การจี้ด้วยความเย็น โดยใช้ไนโตรเจนเหลวที่มีความเย็น –195.8 องศาเซลเซียส จี้บริเวณหูดเพื่อทำลายหูด ซึ่งอาจต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้งจึงจะหายขาด
  • การจี้ด้วยไฟฟ้า เป็นการกำจัดหูดด้วยกระแสไฟฟ้า ซึ่งได้ผลค่อนข้างดี แต่อาจสร้างความเจ็บปวดและอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้
  • เลเซอร์ ช่วยทำลายหลอดเลือดขนาดเล็กภายในหูด ทำให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงหูดได้ อาจเหมาะสำหรับการรักษาหูดในบริเวณที่แคบ เช่น ซอกเล็บ
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด คุณหมออาจแนะนำในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ
  • การป้องกันการเกิดหูด

    สำหรับวิธีการป้องกันการเกิดหูดบนผิวหนังอาจทำได้ ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่เป็นหูด รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสหูดของผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อและการเกิดซ้ำ
    • ควรแยกของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว หินที่ใช้ขัดหูด กรรไกรตัดเล็บที่ใช้ตัดหูดออกจากผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
    • ไม่ควรกัดเล็บ เนื่องจากหูดสามารถพัฒนาขึ้นได้จากผิวหนังที่เป็นแผลและอาจทำให้เชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่ผิวหนังได้ง่ายขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/09/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา