backup og meta

LGBTQ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/09/2023

    LGBTQ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    LGBTQ (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer) เป็นคำเรียกกลุ่มความหลากหลายทางเพศในสังคม ซึ่งกลุ่มหลัก ได้แก่ ชายรักชาย และหญิงรักหญิง สองกลุ่มนี้อาจเสี่ยงเป็น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ต่างจากกลุ่มคนอื่น ๆ ทั้งนี้ ควรศึกษาเกี่ยวกับชนิดของโรค เพื่อจะได้ระวังตนเอง รวมทั้งสังเกตอาการเบื้องต้นและหาทางป้องกัน

    กลุ่มชายรักชายและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    ความเสี่ยงด้านสุขภาพทางเพศหลักของ LGBTQ กลุ่มชายรักชาย คือโรคติดต่อทางเพศพันธ์สัมพันธ์ ซึ่งติดต่อได้ผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ รวมถึงเลือดและบาดแผล ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

    ชายรักชายเสี่ยงต่อโรคประเภทนี้เนื่องจากพฤติกรรมมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันในบางคู่ การมีคู่นอนหลายคน รวมถึงการร่วมเพศทางทวารหนักที่มีความบอบบาง อันเสี่ยงให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งมักพบในกลุ่มชายรักชาย มีดังนี้

    การติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์

    เชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus หรือ HIV) มักพบในน้ำอสุจิ สารคัดหลั่ง สามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน โดยเฉพาะผ่านทางทวารหนักหรือเนื้อเยื่ออ่อน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ และการได้รับเลือดจากผู้ติดเชื้อ

    เมื่อติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ เป็นไข้ ท้องเสีย หนาวสั่น ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองบวม

    ในกรณีติดเชื้อโดยไม่รีบรักษา การติดเชื้อเอชไอวีอาจทำให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอดส์ ผู้ป่วยเอดส์จะมีจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำ ทำให้ป่วยหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เชื้อราในหลอดลม รวมถึงการติดเชื้อที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย

    หนองในแท้และหนองในเทียม

    หนองในแท้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรียอี (Neisseria gonorrhoeae) ซึ่งพบการติดเชื้อสูงในระบบทางเดินปัสสาวะ ส่วนหนองในเทียมเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลามัยเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) ซึ่งมักอาศัยอยู่บริเวณอวัยวะเพศ และท่อปัสสาวะ

    LGBTQ กลุ่มชายรักชายมีโอกาสติดโรคหนองในทั้งสองชนิดผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน  ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้

  • หากติดเชื้อที่อวัยวะเพศ มักเกิดอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองที่อวัยวะเพศ อัณฑะปวดหรือบวม
  • หากติดเชื้อที่ลำไส้ตรง มักมีสารคัดหลั่งคล้ายหนองไหลออกมาจากทวารหนัก และอาการคันหากเป็นหนองใน หรืออาการเจ็บปวด บริเวณทวารหนักหากเป็นหนองในเทียม
  • ซิฟิลิส

    โรคซิฟิลิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) ผ่านการสัมผัสแผลเล็ก ๆ บนร่างกายผู้ป่วยระหว่างมีเพศสัมพันธ์

    อาการของโรค คือเกิดแผลบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น อวัยวะเพศ ปาก ทวารหนัก และผื่นตามลำตัว หากเริ่มติดเชื้อในระยะแรก ๆ อาจหายเองได้ แต่ถ้าทิ้งไว้นานโดยไม่รักษา อาจส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น การบาดเจ็บที่สมอง ระบบประสาทเสียหาย ตาบอด เป็นอัมพาต

    กลุ่มหญิงรักหญิงและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    ความเสี่ยงด้านสุขภาพทางเพศของ LGBTQ กลุ่มหญิงรักหญิง คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกับ LGBTQ กลุ่มชายรักชาย โดยโรคที่พบได้บ่อย มีดังนี้

    โรคหูดที่อวัยวะเพศ

    หูดที่อวัยวะเพศ เกิดจากติดเชื้อไวรัสฮิวแมน แพพพิลโลมา (Human Papillomavirus หรือ HPV) ซึ่งมักอาศัยอยู่ในเซลล์เยื่อบุผิว มักพบอยู่บนผิวหนังรวมทั้งบริเวณช่องคลอด ทวารหนัก รวมทั้งปากและช่องคอ การแพร่ของเชื้อเกิดจากการสัมผัสเชื้อไวรัสดังกล่าวระหว่างมีเพศสัมพันธ์

    อาการของโรคคือเกิดเป็นตุ่มนูนแข็งสีน้ำตาลเรียกว่าหูดขึ้นบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น อวัยวะเพศ ปาก  ทวารหนักและอาจเกิดตุ่มขึ้นพร้อมกันจำนวนมาก

    การติดเชื้อ HPV นอกจากทำให้เป็นหูดแล้ว ยังอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ยิ่งกว่านั้นเชื้อไวรัส HPV ยังเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกด้วย

    โรคพยาธิในช่องคลอด

    โรคพยาธิในช่องคลอด เกิดจากการติดเชื้อจากปรสิตชื่อ ทริโคโมแนต วาจินาลิส (Trichomonas Vaginalis) ซึ่งแพร่กระจายระหว่างมีเพศสัมพันธ์ หรือผ่านการใช้เซ็กส์ทอยร่วมกัน พบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

    ทำให้ช่องคลอดและท่อปัสสาวะติดเชื้อ อาการของโรคคือ คันบริเวณช่องคลอด ช่องคลอดแสบขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ปากมดลูกบวมแดง มีสารคัดหลั่งไหลสีขาวหรือเขียวออกมาจากช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น

    อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคพยาธิในช่องคลอดบางรายอาจไม่มีอาการ แต่ยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้

    เริม

    เริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์รวมทั้งออรัลเซ็กส์ ผ่านแผลพุพอง น้ำลาย  และสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศของผู้ติดเชื้อ

    อาการของเริม คือเกิดตุ่มน้ำใสบริเวณปากหรืออวัยวะเพศ และมีอาการเจ็บหรือแสบบริเวณที่เกิดตุ่มร่วมด้วยรวมถึงปัสสาวะแสบขัด

    เริมไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่อาจรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยการใช้ยาต้านไวรัส ในบางกรณี หากเกิดเริมซ้ำอาจไม่ต้องรักษาเพราะแผลหายเองได้ ทั้งนี้ อาการที่เกิดซ้ำมักไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก ๆ

    โรคช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย

    มีสาเหตุจากจำนวนแลคโตบาซิลไล  (Lactobacilli)  ลดลง ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรคในช่องคลอด เมื่อแบคทีเรียก่อโรคมีจำนวนมากขึ้น จึงเกิดการอักเสบได้

    โรคช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย พบบ่อยในผู้หญิงที่เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

    อาการของโรคคือ มีตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็นบริเวณช่องคลอด โดยเฉพาะหลังมีเพศสัมพันธ์หรือหลังมีประจำเดือน นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการระคายเคืองหรือคันบริเวณช่องคลอดร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนอาจไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ

    หากไม่รีบรักษา โรคช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรียอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคอื่น ๆ อย่าง โรคหนองใน กระดูกเชิงกรานอักเสบ

    ซิฟิลิส

    หญิงรักหญิงสามารถเป็นซิฟิลิสได้เช่นเดียวกับกลุ่มชายรักชาย โดยอาการที่พบได้บ่อยคือ มีผื่นแดงตามลำตัว เป็นไข้ รู้สึกอ่อนเพลีย เกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ มีฝ้าขาวในปาก

    หากปล่อยไว้ไม่รักษา ผู้ป่วยโรคซิฟิลิสอาจเป็นโรคแทรกซ้อนที่หัวใจหรือระบบประสาทได้

    การป้องกันตัวจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    LGBTQ สามารถป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
    • ทำความสะอาดทวารหนักก่อนและหลังร่วมเพศด้วยการใช้อุปกรณ์สวนทวาร (Rectal Douche) และสบู่อ่อน ๆ ทั้งนี้ควรสวนทวารด้วยความระมัดระวัง
    • ทำความสะอาดเซ็กส์ทอยทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เมื่อมีการเปลี่ยนตำแหน่งใช้งาน เช่นจากทวารหนักเป็นช่องคลอด ในกรณีของหญิงรักหญิง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
    • ใช้เซ็กส์ทอยซึ่งทำจากวัสดุไม่มีรูพรุน เช่น ซิลิโคน เนื่องจากรูพรุนบนผิววัสดุเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค อาจเพิ่มโอกาสติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ได้
    • มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ปลอดภัย หรือมีผลตรวจโรคยืนยัน และไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพื่อลดโอกาสในการติดโรค
    • ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV อันเป็นสาเหตุของโรคหูดที่อวัยวะเพศ
    • กินยาเพร็พ (Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP) สม่ำเสมอ ในกรณีของ LGBTQ ที่ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีแต่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี และถึงแม้ว่าจะกินยาเพร็พแล้วก็ยังควรใส่ถุงยางอนามัยด้วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อชนิดอื่น ๆ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/09/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา