HPV คือ ไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human papillomavirus) เป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และการสัมผัสผิวหนัง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น หูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งองคชาต มะเร็งทวารหนัก
[embed-health-tool-ovulation]
HPV คืออะไร
HPV คือ เชื้อไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา ที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ บางชนิดอาจทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือลำคอ และบางชนิดอาจทำให้เกิดมะเร็ง เช่น HPV16, HPV18, HPV31, HPV33, HPV35 เป็นต้น โดยกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส HPV คือผู้ที่มีระบบมิคุ้มกันอ่อนแอ มีคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และผู้ที่มีแผลเปิดที่อาจทำให้ได้รับเชื้อเมื่อถูกสัมผัส
HPV แพร่กระจายอย่างไร
เชื้อไวรัส HPV สามารถแพร่กระจายผ่านทางสารคัดหลั่งเมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันทางช่องคลอด ทางปาก และทวารหนัก หรืออาจแพร่กระจายผ่านทางรอยถลอกหรือแผลเปิดบนผิวหนัง รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น กางเกงชั้นใน เซ็กทอยส์ ผ้าขนหนู
สำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ HPV และหูดขึ้นในบริเวณอวัยวะเพศ อาจแพร่กระจายเชื้อไปสู่ทารกขณะคลอด และอาจส่งผลให้ทารกมีหูดขึ้นในกล่องเสียง
อาการของการติดเชื้อ HPV
การติดเชื้อ HPV อาจส่งผลให้เกิดหูดในบริเวณต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ดังนี้
- หูดที่อวัยวะเพศ อาจปรากฏเป็นแผลหรือตุ่มเล็ก ๆ คล้ายดอกกะหล่ำ บริเวณปากช่องคลอด ในช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก องคชาต หรือถุงอัณฑะ และอาจมีอาการคันทำให้รู้สึกไม่สบายตัว
- หูดที่มือและนิ้ว มีลักษณะเป็นตุ่มนูนและหยาบกร้าน พบได้บ่อยบริเวณนิ้วมือและฝ่ามือ บางคนอาจรู้สึกเจ็บปวดเมื่อสัมผัส และอาจมีเลือดออก
- หูดที่ฝ่าเท้า มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ และแข็ง ในบริเวณส้นเท้า และฝ่าเท้า ที่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายเท้าขณะเดิน
- หูดแบน มีลักษณะเป็นแผลแบนราบกับผิว และมีขอบนูนเล็กน้อย สามารถปรากฏได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า
นอกจากนี้ การติดเชื้อ HPV ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด แต่อาจใช้ระยะเวลานานกว่า 20 ปี ขึ้นไปในการพัฒนาเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งอาจไม่มีอาการที่ปรากฏออกมาชัดเจน ดังนั้น จึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองทุก ๆ 3-5 ปี
โรคมะเร็งที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการติดเชื้อ HPV มีดังนี้
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งช่องคลอด
- มะเร็งทวารหนัก
- มะเร็งอัณฑะ
- มะเร็งศีรษะและคอ
HPV รักษาหายไหม
สำหรับเชื้อไวรัส HPV อาจไม่สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งจะยังคงเหลือไวรัสภายในร่างกายที่อาจปรากฏขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สามารถบรรเทาอาการหูดที่เกิดจากการติดเชื้อ HPV ได้ ดังนี้
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ออกฤทธิ์กระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว ใช้เพื่อช่วยขจัดหูดออกทีละชั้น เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นหูดทั่วไป กรดซาลิไซลิกอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง จึงไม่ควรใช้กับใบหน้า
- ยาอิมิควิโมด (Imiquimod) เป็นยาในรูปแบบครีมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับการติดเชื้อ HPV ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ รอยแดงและอาการบวมบริเวณที่ใช้
- กรดไตรคลอโรอะซิติก (Trichloroacetic acid) เป็นยาใช้รักษาภายนอกที่มีในรูปแบบครีม เจล ที่ช่วยกระตุ้นให้ผิวหนังหลุดลอกจนหูดหลุดออก เหมาะสำหรับใช้กำจัดหูดที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอวัยวะเพศ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองเฉพาะที่
- ยาโพโดฟิลอกซ์ (Podofilox) ใช้เพื่อช่วยทำลายเนื้อเยื่อหูดที่อวัยวะเพศ แต่อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อน หรือคันบริเวณที่ทา
การผ่าตัดและหัตถการอื่น ๆ
หากใช้ยารักษาหูดไม่ได้ผล คุณหมออาจแนะนำให้กำจัดหูดออกด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การเลเซอร์ที่ใช้ลำแสงที่มีความเข้มข้นสูงจี้เอาหูดออก
- การผ่าตัดหูดออกโดยตรง
- การจี้ด้วยกระแสไฟฟ้า เพื่อให้เซลล์หูดตายและหลุดออก
- การแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลว เพื่อทำให้หูดแข็งตัวและหลุดลอกออกหรืออาจผ่าตัดออก
การป้องกัน HPV
วิธีการป้องกันไวรัส HPV มีดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนหลายคน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับหูดของตัวเองหรือผู้อื่น และล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสหูดทุกครั้ง อีกทั้งยังไม่ควรกัดเล็บเพราะเชื้อไวรัสอาจอยู่ในซอกเล็บ
- สวมรองเท้าทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องอาบน้ำ ห้องน้ำสาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ HPV
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ HPV และหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
- ฉีดวัคซีน HPV เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อที่นำไปสู่การเกิดหูดที่อวัยวะเพศและอาจช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก โดยแนะนำให้ฉีดตั้งแต่อายุ 11-12 ปี ขึ้นไป ให้ครบทั้ง 2 โดส แต่ละโดสห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน สำหรับวัยรุ่นที่มีอายุ 15-26 ปี ขึ้นไป ไม่เกิน 45 ปี ควรได้รับวัคซีน 3 โดส โดยฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน และเว้นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ก่อนจะฉีดเข็มที่ 3 ซึ่งเป็นเข็มสุดท้าย