backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

เริม สาเหตุ อาการ การรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 17/07/2023

เริม สาเหตุ อาการ การรักษา

เริม เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Herpes Simplex Virus (HSV) มักพบบริเวณช่องปากและอวัยวะเพศ หรือผิวหนังที่มีแผลเปิดหรือรอยถลอก ผู้ติดเชื้อไวรัสเริมอาจรู้สึกเจ็บปวดบริเวณผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ หรือเป็นแผลที่มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส ส่วนใหญ่แล้ว อาการของเริมสามารถหายเองได้ แต่ก็ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีไข้ เป็นแผลภายในช่องปาก กระเพาะปัสสาวะและทวารหนักอักเสบ

คำจำกัดความ

เริม คืออะไร

เริม คือ การติดเชื้อไวรัส Herpes Simplex Virus (HSV) ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การจูบ การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ติดเชื้อไวรัส เป็นต้น จนนำไปสู่การเกิดแผลตุ่มน้ำใส มีอาการปวดแสบ ร้อนรอบบริเวณริมฝีปาก ในช่องปาก ผิวหนังบนอวัยวะเพศ ช่องคลอด ทวารหนัก หรือที่เรียกว่า เริมที่ปาก เริมที่อวัยวะเพศ เป็นต้น การติดเชื้อไวรัสเริมอาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็กอายุ 1-2 ปี ที่อาจพบแผลบริเวณริมฝีปากจากไวรัสเริมบ่อยที่สุด ส่วนมากเกิดจากการได้รับเชื้อจากคุณแม่ระหว่างคลอด หรือจากผู้เลี้ยงดู นอกจากนี้ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน   เช่น การไม่สวมใส่ถุงยางอนามัย ก็อาจติดเชื้อไวรัสเริมได้เช่นกัน

อาการ

อาการของเริม

อาการของเริมอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้

  • อาการเริมที่ปาก หลังจากรับเชื้อไวรัสเริม ไวรัสอาจใช้เวลาฟักตัว 2-12 วัน ก่อนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ อารมณ์แปรปรวน อาการคัน หรือปวดแสบบริเวณผิวหนัง ก่อนมีแผลตุ่มน้ำใส จะปรากฏบนริมฝีปาก เหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้ม และอาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม
  • อาการเริมที่อวัยวะเพศ อาจทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสเริมรู้สึกคัน เจ็บปวดและเป็นแผล หรืออาจมีตุ่มแดงหรือตุ่มสีขาวเล็ก ๆ ขึ้นบริเวณที่ได้รับผลกระทบ เช่น ก้น ต้นขา ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ หากแผลแตกอาจก่อให้เกิดสะเก็ดหรือมีผิวหนังลอก การติดเชื้อที่อวัยวะเพศในผู้หญิงมักมีแผลปรากฏภายในและภายนอกช่องคลอด อวัยวะเพศ ปากมดลูก ส่วนผู้ชายอาจมีแผลปรากฏบริเวณองคชาตและถุงอัณฑะ หรือรอบทวารหนักได้

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการขาดน้ำ รู้สึกแสบคัน ระคายเคือง และเจ็บปวดอวัยวะเพศ ควรเข้ารับการวินิจฉัยจากคุณหมอทันที เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะอวัยวะเพศและระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ และความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น

สาเหตุ

สาเหตุที่ทำให้เป็นเริม

สาเหตุที่ทำให้เป็นเริม คือ การติดเชื้อไวรัสเอชเอสวี หรือ Herpes Simplex Virus (HSV) ซึ่งมีด้วยกัน 2 ชนิด ดังนี้

  1. เอชเอสวี-1 (HSV1) ส่งผลให้เกิดแผลรอบริมฝีปากหรือในช่องปาก แพร่กระจายได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลให้ติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศได้ด้วย นอกจากนี้ การสัมผัสกับเชื้อไวรัสที่อยู่ในสารคัดหลั่งผ่านการจูบ การใช้ช้อนหรือส้อมคันเดียวกัน ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน เป็นต้น ก็อาจส่งผลให้ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้เช่นเดียวกัน
  2. เอชเอสวี-2 (HSV2) อาจพบได้บ่อยและแพร่กระจายได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ จนนำไปสู่การเกิดเริมบริเวณอวัยวะเพศ หรืออาจได้รับเชื้อผ่านการสัมผัสรอยโรคหรือแผลที่ผิวหนังของผู้ติดเชื้อได้ด้วย

ซึ่งปัจจุบัน HSV1 และ HSV2 อาจมีการติดเชื้อร่วมกัน หรือไม่จำเพาะต่อบริเวณริมฝีปากและอวัยวะเพศเพียงตำแหน่งเดียว เนื่องจากพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่หลากหลายเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของเริม

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส Herpes Simplex Virus (HSV) มีดังนี้

  • มีคู่นอนหลายคน
  • ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นโรคเริมมากกว่าผู้ชาย เพราะไวรัสแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์จากชายสู่หญิงได้ง่ายกว่าจากหญิงสู่ชาย
  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
  • สัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ผ่านการจูบ การใช้สิ่งของร่วมกัน เป็นต้น

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยเริม

การวินิจฉัยเริมอาจแตกต่างกันตามบริเวณที่ติดเชื้อ สำหรับเริมที่ปากและเริมที่อวัยวะเพศ คุณหมออาจทดสอบด้วยวิธีทางการแพทย์ ดังต่อไปนี้

  • การเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจหาแอนติบอดีต่อ Herpes Simplex Virus (HSV) หากพบอาจหมายถึงเคยติดเชื้อไวรัสชนิดนี้
  • การทดสอบด้วยเทคนิคแซ๊งสเมียร์ (Tzanck smear) ซึ่งเป็นการตรวจจากรอยโรค โดยการเจาะตุ่มแล้วขูดเซลล์บริเวณฐานก้นแผลไปตรวจ
  • การทดสอบปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (PCR) เป็นกระบวนการสังเคราะห์ดีเอ็นเอจากเลือด เนื้อเยื่อ หรือน้ำไขสันหลัง เพื่อหาเชื้อและวิเคราะห์ประเภทของ Herpe Simplex Virus (HSV)

การรักษาเริม

คุณหมออาจรักษาเริมที่ปากด้วยยาบรรเทาอาการปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) หรืออาจฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ วิธีรักษาด้วยการฉีดยานี้อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันปกติ แต่คุณหมอจะใช้กับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทารกอายุต่ำกว่า 6 สัปดาห์ และผู้ป่วยที่มีประวัติป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ร่วมกับการใช้ยาต้านเชื้อไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) 

สำหรับเริมที่อวัยวะเพศ คุณหมอจะให้ยาต้านเชื้อไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) แบบรับประทาน เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ลดอาการรุนแรง ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส หรือลดการกลับเป็นเริมซ้ำ

นอกจากนี้ สตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสเริมควรรักษาด้วยการใช้ยาต้านเชื้อไวรัสตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ทารกตอนคลอด บางกรณี คุณหมออาจจำเป็นต้องผ่าคลอดในรายที่ใกล้ระยะคลอด แต่ยังมีรอยโรคเริมอยู่ที่อวัยวะเพศ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปยังทารก

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันเริม

การป้องกันโรคเริม คือ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลและสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำเหลือง ของผู้ติดเชื้อ ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 17/07/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา