กระ คือจุดเล็ก ๆ สีออกน้ำตาลบนผิวหนัง ตามลำคอ อก แผ่นหลัง แขน ขา และมักพบมากบริเวณใบหน้า รวมถึงตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกายซึ่งไม่เป็นอันตราย เกิดจากการที่ร่างกายผลิตเมลานิน (Melanin) หรือเม็ดสีผิวที่มากเกินไป โดยเฉพาะจากการกระตุ้นของแสงแดด เพื่อป้องกันการเป็นกระ ควรเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดด และเลือกทาครีมกันแดดซึ่งมีค่า SPF 50 ขึ้นไป เมื่อต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง
[embed-health-tool-bmr]
กระคืออะไร
กระ เป็นจุดเล็ก ๆ สีออกน้ำตาลบนผิวหนัง มักพบบริเวณใบหน้า แขน หลังมือ ลำคอ หรือหน้าอก เกิดจากการที่ร่างกายผลิตเมลานินหรือเม็ดสีผิวที่มากเกินไป ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเมื่อผิวหนังบริเวณนั้น ๆ เผชิญกับแสงแดดเป็นเวลานาน โดยปราศจากการป้องกัน
ทั้งนี้ กระไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ได้เป็นสัญญาณของความผิดปกติใด ๆ เกี่ยวกับโรคผิวหนัง
กระมีกี่ชนิด
กระ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังต่อไปนี้
- กระทั่วไป (Ephelides) เป็นกระชนิดที่พบบ่อย อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุ 2-3 ปี และมีสีแดงหรือน้ำตาล ทั้งนี้ กระทั่วไป จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรขึ้นไป เส้นขอบไม่ชัดเจน
- กระแดด (Solar Lentigines) มักพบในคนตะวันตก เมื่ออายุประมาณ 50 ปี ขึ้นไป โดยจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตรหรือใหญ่กว่า เส้นขอบชัดเจน และมีสีหลากหลายตั้งแต่เหลืองไปจนน้ำตาล ดำ นอกจากนี้ กระแดดจะไม่จางลงหรือหายไปเมื่อเวลาผ่านไป
กระ แตกต่างจากไฝอย่างไร
บางครั้ง กระอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นไฝ เนื่องจากบริเวณที่เป็นกระมักมีสีเข้มกว่าผิวหนังส่วนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ไฝแตกต่างกับกระอย่างชัดเจน โดยไฝจะเป็นตุ่มนูน ผิวขรุขระ รูปร่างเป็นทั้งวงกลมและวงรี และอาจมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่เกินกว่า 5 มิลลิเมตร
นอกจากนี้ ไฝยังเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ไม่ว่าตามใบหน้า หนังศีรษะลำตัว แขน รักแร้ ขา หรือนิ้วมือและนิ้วเท้า แตกต่างจากกระซึ่งมักจะเกิดขึ้นบริเวณที่โดนแสงแดดมากกว่าบริเวณอื่น ๆ
แม้กระและไฝจะไม่เป็นอันตราย แต่ลักษณะของกระและไฝ อาจคล้ายคลึงกับอาการของผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma) อันเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดอันตราย ควรสังเกตลักษณะของกระและไฝว่าผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อพบกระหรือไฝลักษณะดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ
- มีรูปร่างไม่ชัดเจน ลักษณะไม่เป็นวงกลมหรือวงรี
- เกิดขึ้นพร้อมกันหลายจุดและมีหลายสี
- บางครั้งมีเลือดออก ทำให้คันหรือเจ็บปวด
- มีการเปลี่ยนแปลงของสี ขนาด หรือรูปร่าง อย่างชัดเจน
การรักษากระ ทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง
โดยปกติ กระมักไม่เป็นอันตรายจึงไม่จำเป็นต้องต้องรักษา และอาจหายไปหรือจางลงเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม หากไม่พอใจกับกระที่ขึ้นอยู่ตามผิวหนังบนร่างกาย อาจเลือกกำจัดกระด้วยวิธีการต่อไปนี้
- ทาครีม ซึ่งมีส่วนผสมของสารเรตินอล (Retinol) อันเป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอ โดยเรตินอล จะช่วยให้กระดูจางลง เหมาะกับผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายหรือผิวหนังอ่อนไหวต่อสารเคมี
- ใช้เลเซอร์ ฉายไปยังบริเวณที่เป็นกระ เพื่อทำลายเซลล์เม็ดสีของกระซึ่งมักเข้มกว่าผิวหนังส่วนอื่น ๆ
- การลอกผิว หรือการทาสารเคมีลงบนใบหน้า หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เพื่อลอกผิวหนังออก และทำให้เกิดการสร้างผิวหนังใหม่ ซึ่งจะเห็นรอยด่างหรือกระที่จางลง ทั้งนี้ การลอกผิวอาจต้องทำซ้ำทุก ๆ 2-5 สัปดาห์ เพื่อให้เห็นผลชัดเจน
กระ มีวิธีป้องกันอย่างไรได้บ้าง
เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดกระบนผิวหนัง อาจป้องกันตนเองได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- หากเป็นไปได้ ควรเลือกอยู่ในที่ร่มในช่วงที่แดดแรง หรือระหว่าง 10.00 น. ถึง 16.00 น.
- แต่งกายมิดชิดเมื่อต้องอยู่กลางแจ้ง หรือเลือกใส่หมวกปีกกว้าง แว่นตาดำ เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว เพื่อป้องกันตัวเองจากแสงแดด
- ทาครีมกันแดด ซึ่งมีค่า SPF ตั้งแต่ 50 ขึ้นไป เมื่อต้องออกแดด และควรทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่าผิวหนังจะได้รับการป้องกันตลอดเวลา