backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

เชื้อราบนหนังศีรษะ สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

เชื้อราบนหนังศีรษะ สาเหตุ อาการ และการรักษา

เชื้อราบนหนังศีรษะ เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบบริเวณหนังศีรษะ อาจมีสาเหตุจากเชื้อรา โรคเชื้อราบนหนังศีรษะมักทำให้มีอาการคัน หนังศีรษะแดง ตกสะเก็ด เป็นขุย ผมร่วง และอาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจทำให้อาการคันรุนแรงขึ้น เกิดแผลบนหนังศีรษะ และติดเชื้อได้ง่าย

คำจำกัดความ

เชื้อราบนหนังศีรษะ คืออะไร

เชื้อราบนหนังศีรษะ คือ โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งอาจมีสาเหตุจากเชื้อราก่อโรค โรคกลาก ทำให้หนังศีรษะตกสะเก็ดเป็นหย่อม ๆ เป็นขุย ผิวหนังแดง คันและเจ็บ นอกจากนี้ เชื้อราบนหนังศีรษะยังอาจเกิดจากการรับเชื้อผ่านการสัมผัสผิวหนัง สิ่งของ หรือสัตว์ที่ติดเชื้อ โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่เกิดในเด็กอายุ 3-14 ปี  อาจมีอาการซ้ำ ๆ ไม่หายขาด จนอาจส่งผลต่อบุคคลิกภาพและการใช้ชีวิตได้

อาการ

เชื้อราบนหนังศีรษะ อาการ เป็นอย่างไร

เชื้อราบนหนังศีรษะอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • ผิวหนังตกสะเก็ดสีเทาหรือแดงเป็นหย่อม ๆ
  • ผมเปราะบาง หลุดร่วงง่าย
  • เจ็บปวดบริเวณที่เป็นเชื้อรา

สาเหตุ

สาเหตุของโรคเชื้อราบนหนังศีรษะ

เชื้อราบนหนังศีรษะอาจเกิดจากการติดเชื้อราบนผิวหนังหรือสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้

เชื้อราบนหนังศีรษะจากกลาก

โรคกลากบนหนังศีรษะเกิดจากเชื้อราหลายชนิด โดยเชื้อราจะทำลายเส้นผมและหนังศีรษะ โรคกลากบนหนังศีรษะยังแบ่งออกตามการเจริญของเชื้อรา 3 ชนิด คือ

  1. เชื้อราเจริญเฉพาะบริเวณภายนอก เชื้อราก่อโรคที่พบบ่อยคือ M. canis M. audouinii M. distortum M. ferrugineum และ M. gypseum
  2. เชื้อราเจริญภายในเส้นผม ทำลายเส้นผม ทำให้ผมแตกหัก เชื้อราก่อโรคที่พบบ่อยคือ T. tonsurans T. violaceum และ T. soudanense
  3. โรคกลากบนหนังศีรษะชนิดรุนแรง มักทำลายเส้นผมและหนังศีรษะ มีลักษณะคล้ายรังผึ้ง เชื้อราก่อโรคคือ T. schoenleinii

โรคกลากเป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน สิ่งของสู่คน และสัตว์สู่คนได้ โดยมักแพร่กระจายผ่านการสัมผัสผิวหนัง วัตถุ หรือสัตว์ที่ติดเชื้อรา

เชื้อราบนหนังศีรษะจากโรคเซ็บเดิร์ม

โรคเซ็บเดิร์มอาจยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากโรคผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมันใต้ผิวหนัง ภูมิคุ้มกันตอบสนองผิดปกติ หรืออาจเกี่ยวข้องกับเชื้อราประเภทยีสต์กลุ่มมาลาสซีเซีย (Malassezia) ซึ่งอาศัยอยู่บนหนังศีรษะ

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงเชื้อราบนหนังศีรษะ

ปัจจัยเสี่ยงเชื้อราบนหนังศีรษะอาจมีดังนี้

  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ผู้ป่วยโรคมะเร็งบางชนิด
  • โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (Autoimmune Diseases)
  • การสัมผัสผิวหนัง สิ่งของ หรือสัตว์ที่ติดเชื้อ
  • ความเครียดและการฟื้นตัวจากภาวะสุขภาพ เช่น ภาวะหัวใจวาย
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาโรคมาลาเรีย
  • ภาวะทางระบบประสาทและจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคพาร์กินสัน
  • ภาวะผิวหนังอุดตันจากเครื่องสำอาง หรือขนคุด
  • อาการระคายเคืองจากการกำจัดขนด้วยมีดโกนหรือการถอน เป็นต้น
  • สุขอนามัยที่ไม่ดี
  • สภาพอากาศร้อนชื้นจนทำให้หนังศีรษะอับชื้นได้ง่าย
  • หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีเหงื่อออกมาก ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์หรือเป็นโรคอ้วน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเชื้อราบนหนังศีรษะได้

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยเชื้อราบนหนังศีรษะ

การวินิจฉัยเชื้อราบนหนังศีรษะแต่ละสาเหตุจะใช้วิธีที่คล้ายคลึงกัน โดยคุณหมอจะตรวจดูลักษณะของเชื้อราบนหนังศีรษะ หรืออาจเก็บตัวอย่างผิวหนังไปทดสอบเพื่อประกอบการวินิจฉัย และแยกแยะชนิดของเชื้อราที่เป็นสาเหตุหลักของเชื้อราบนหนังศีรษะ

การรักษาเชื้อราบนหนังศีรษะ

การรักษา เชื้อรา บนหนังศีรษะ ใช้ยาอะไร เชื้อราบนหนังศีรษะสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาต้านเชื้อรา ได้แก่ ยากริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) และยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) เป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์

คุณหมออาจให้ใช้ยาเฉพาะที่เพื่อรักษาโรคผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมัน และกำจัดเชื้อราบนผิวหนัง ดังนี้

  • ครีม แชมพู หรือขี้ผึ้งที่ช่วยบรรเทาการอักเสบ เช่น ยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ฟลูออซิโนโลน (Fluocinolone) โคลเบตาซอล (Clobetasol) และดีโซไนด์ (Desonide) หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจมีผลข้างเคียง เช่น ผิวหนังบางลง หรือผิวหนังมีริ้วหรือเส้น
  • เจล ครีม หรือแชมพูต้านเชื้อรา เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) หรือซีโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) อาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หรือคุณหมออาจสั่งยาทั้งสองชนิดให้ใช้สลับกัน

สำหรับการรักษาโรคสะเก็ดเงินบนหนังศีรษะอาจมีวิธีและชนิดของยาเพิ่มเติม ดังนี้

  • โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะอย่างรุนแรง คุณหมออาจสั่งยารับประทานหรือยาฉีด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) เมโธเทรกเซต (Methotrexate) อาจมีผลข้างเคียงที่ส่งผลต่อตับ จึงต้องให้คุณหมอสั่งจ่ายยาให้เท่านั้น
  • คุณหมออาจฉีดยาเข้าทางเส้นเลือดดำ เช่น อะดาลิมูแมบ (Adalimumab) โบรดาลูแมบ (Brodalumab) กูเซลคูแมบ (Guselkumab) อิเซคิซซูแมบ (Ixekizumab) เพื่อป้องกันไม่ให้สร้างเซลล์ผิวหนังมากเกินไป

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับเชื้อราบนหนังศีรษะ

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงเกิดโรคเชื้อราบนหนังศีรษะ สามารทำได้ดังนี้

  • หากมีคนในครอบครัว บุคคลใกล้ชิด หรือสัตว์เป็นโรคผิวหนัง ควรเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหนังโดยตรง และควรทำความสะอาดสิ่งของต่าง ๆ อยู่เสมอ เพื่อกำจัดเชื้อราที่อาจปนเปื้อน และไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • อาบน้ำและสระผมให้สะอาดจากนั้นซับผิวหนังและเป่าผมให้แห้ง อย่าปล่อยให้ผมและหนังศีรษะเปียก เพื่อกำจัดเชื้อราหรือเชื้อก่อโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะหลังตัดผม
  • ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร ก่อนและหลังใช้ห้องน้ำ เพื่อขจัดเชื้อที่อาจปนเปื้อนอยู่ที่มือ
  • กำจัดสะเก็ดบนหนังศีรษะและทำให้ผมนุ่มขึ้นด้วยการใช้น้ำมันมะกอกหมักผมทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นหวีผมให้สะเก็ดหลุดออกแล้วสระผมให้สะอาด
  • ใช้ยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การรักษาเป็นไปตามแผนและได้ผล

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา