backup og meta

ครีมกันแดด ประเภท วิธีการใช้ และสารที่ควรเลี่ยง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ศศวัต จันทนะ · แก้ไขล่าสุด 05/11/2021

    ครีมกันแดด ประเภท วิธีการใช้ และสารที่ควรเลี่ยง

    ครีมกันแดด เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการปกป้องผิวจากแสงแดด รังสีอัลตราไวโอเลตเอ (UVA) และรังสีอัลตราไวโอเลตบี (UVB) ที่อาจเป็นอันตรายต่อผิว ส่งผลให้ผิวไหม้แดด ทำลายเซลล์ผิว ส่งผลให้เกิดริ้วรอย จุดด่างดำ ฝ้า กระ และปัญหาผิวอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม สารเคมีบางอย่างในครีมกันแดด เช่น พาราเบน ออกซีเบนโซน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพผิวได้ และควรพยายามหลีกเลี่ยง

    ครีมกันแดด คืออะไร

    เครีมกันแดด คือครีมที่ใช้ทาบนผิวหนัง เพื่อช่วยปกป้องผิวจากอันตรายที่แฝงมากับแสงแดดอย่าง รังสีอัลตราไวโอเลตเอ (UVA) อัลตราไวโอเลตบี (UVB) ซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพผิว เช่น

    • ผิวไหม้แดด
    • ริ้วรอยก่อนวัยอันควร รอยตีนกา
    • จุดด่างดำ ฝ้า กระ
    • มะเร็งผิวหนัง

    ครีมกันแดดจะมีทั้งแบบที่ป้องกันแสงแดดโดยการเคลือบผิวและสะท้อนแสงแดด หรือแบบที่ซึมเข้าสู่ผิวและช่วยกรองรังสียูวีจากในภายในชั้นเซลล์ผิว

    ประสิทธิภาพของครีมกันแดดจะสามารถดูได้จากค่า SPF (Sun Protection Factor) ยิ่งมีค่า SPF ที่สูงก็จะยิ่งสามารถช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดได้ โดยปกติแล้ว ค่า SPF ที่แนะนำสำหรับการป้องกันแดด จะอยู่ที่อย่างน้อย 30 SPF ขึ้นไป

    ประเภทของครีมกันแดด

    ครีมกันแดดแบบกายภาพ หรือ Physical Sunscreen

    ครีมกันแดดแบบกายภาพ เป็นครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของแร่ธาตุธรรมชาติ อย่างเช่น ไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium dioxide) ซิงก์ออกไซด์ (Zinc oxide) ซึ่งเป็นส่วนผสมที่จะเคลือบอยู่บนผิว เพื่อสะท้อนรังสียูวีออกไป ส่วนใหญ่มักจะทิ้งคราบขาวบนผิวที่ล้างออกได้ยาก และอาจมีโอกาสอุดตันรูขุมขนได้

    ครีมกันแดดแบบเคมี หรือ Chemical Sunscreen

    ครีมกันแดดแบบเคมี มีส่วนผสมของสารเคมี เช่น ออกซีเบนโซน (Oxzbenzone) ออกติโนเซต (Octinoxate) สารเคมีเหล่านี้จะดูดซึมลงไปในผิว และทำหน้าที่ในการกรองรังสียูวี ทำให้มีประสิทธิภาพในการปกป้องเซลล์ผิวที่อยู่ในชั้นลึกได้ดีกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีโอกาสทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้

    วิธีการใช้ครีมกันแดด

    วิธีการใช้ครีมกันแดดที่ถูกต้องเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด มีดังนี้

  • ครีมกันแดดเป็นครีมใช้สำหรับทาภายนอกเท่านั้น
  • ควรทาครีมกันแดดในปริมาณที่พอเหมาะ พอดีสำหรับทาทั่วผิวบริเวณที่ต้องการ ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป
  • ควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดอย่างน้อย 30 นาทีขึ้นไป และควรทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง หากยังคงต้องออกแดดอย่างต่อเนื่อง
  • ระวังอย่างให้ครีมกันแดดเข้าตาและเข้าปาก เนื่องจากอาจทำให้ระคายเคืองได้
  • หากมีอาการระคายเคือง อาการคัน หรือรอยแดง ควรหยุดใช้ครีมกันแดดนั้นโดยทันที
  • สารในครีมกันแดดที่ควรเลี่ยง

    ออกซีเบนโซน (Oxzbenzone)

    ออกซีเบนโซน เป็นสารกันแดดที่ค่อนข้างมีความเสถียร แต่ประสิทธิภาพในป้องกันแสงแดดไม่ดีนัก ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารนี้จึงต้องใช้ความเข้มข้นมาก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปกป้องแสงแดด แต่ปัญหาของสารชนิดนี้คือสามารถซึมซาบเข้าสู่ผิวได้ดี ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวได้

    นอกจากนี้ สำหรับผลข้างเคียงในระยะยาวนักวิทยาศาสตร์คาดว่า การสะสมของออกซีเบนโซน อาจส่งผลต่อการยับยั้งฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย รวมไปถึงส่งผลเสียต่อระบบต่อมไร้ท่อได้

    เรตินิน ปาลมิเตท (Retinyl Palmitate)

    เรตินิน ปาลมิเตท คืออนุพันธ์ของวิตามินเอ เป็นสารเคมีที่นำมาใช้ในครีมกันแดดเพื่อช่วยในการลดเลือนริ้วรอยไม่ใช่สารที่มีคุณสมบัติในการกันแดดจึงไม่ใช่ส่วนประกอบที่สำคัญ ผลข้างเคียงของการใช้สารเรตินิน ปาลมิเตท คือความเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เนื่องจากการทดลองใช้สารนี้ในหนูพบว่าสารเนตินิน ปาลมิเตท มีความเชื่อมโยงกับการเกิดมะเร็งในสิ่งมีชีวิต

    โฮโมซาเลต (Homosalate)

    โฮโมซาเลต เป็นส่วนผสมที่ทำให้ครีมกันแดดซึมซาบลงสู่ผิวได้ดี อย่างไรก็ตาม ร่างกายอาจไม่สามารถกำจัดสารเคมีนี้ออกไปได้จนหมด เมื่อใช้ในระยะยาว จึงอาจมีความเสี่ยงที่สารเคมีนี้อาจสะสมจนกลายเป้นสารพิษ และส่งผลเสียต่อร่างกาย

    ออคโตไคลีน (Octocrylene)

    ออคโตไคลีน เป็นส่วนประกอบที่ทำหน้าที่ดูดซับรังสียูวีได้ดี จึงนิยมนำมาใช้ในครีมกันแดด แต่ผลข้างเคียงคืออาจส่งผลให้มีการผลิตอนุมูลอิสระที่ทำร้ายเซลล์ผิว หากร่างกายได้รับสารออคโตไคลีนในปริมาณมาก อาจส่งผลให้ให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธุ์

    พาราเบน (Paraben)

    พาราเบน เป็นสารกันเสียที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหลายชนิด รวมไปถึงครีมกันแดด เนื่องจากมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ อย่างแบคทีเรียและเชื้อราได้ดี ทั้งยังได้รับการรับรองถึงความปลอดภัย หากใช้ในปริมาณเหมาะสม อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางส่วนยังคงมีข้อสงสัยว่าสารพาราเบนอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ และเป็นสารพิษที่สะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งมีผลรบกวนฮอร์โมนในร่างกายได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ศศวัต จันทนะ · แก้ไขล่าสุด 05/11/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา