backup og meta

ฉีดฟิลเลอร์ ประโยชน์และข้อควรระวัง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/08/2022

    ฉีดฟิลเลอร์ ประโยชน์และข้อควรระวัง

    ฉีดฟิลเลอร์ เป็นการเสริมความงามประเภทหนึ่ง โดยคุณหมอจะฉีดสารบางชนิดเข้าสู่ใต้ชั้นผิวหนัง เพื่อช่วยเติมเต็มร่องลึก ริ้วรอย ช่วยเติมเต็มตามจุดต่าง ๆ เช่น ใต้ตา คาง ริมฝีปาก เพื่อให้ดูอวบอิ่มรับกับใบหน้า หรืออาจช่วยเติมให้ใบหน้าดูสมมาตรมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยทำให้ใบหน้าแลดูอ่อนเยาว์

    ฉีดฟิลเลอร์ คืออะไร

    ฉีดฟิลเลอร์ คือ การเสริมความงามที่มีการใช้สารบางชนิดฉีดเข้าไปใต้ผิวหนัง เช่น กรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) แคลเซียมไฮดรอกซีอะพาไทต์ (Calcium Hydroxyapatite) โพลีอัลคิลลิไมด์ (Polyalkylimide) กรดโพลิแลกติก (Polylactic Acid) โพลีเมทิลเมทาคริเลต ไมโครสเฟียร์ (Polymethyl Methacrylate Microspheres หรือ PMMA) เพื่อเติมเต็มร่องลึก ร่องริ้วรอยและฟื้นฟูใบหน้าให้ดูอิ่มเอิบมากขึ้น

    ประโยชน์ของการฉีดฟิลเลอร์

    เมื่ออายุมากขึ้นไขมันใต้ผิวหนังจะเริ่มสูญเสียไปตามธรรมชาติ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าทำงานใกล้กับผิวมากขึ้น ส่งผลให้เกิดร่องลึก รอยตีนกาหรือรอยเหี่ยวย่นที่มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น การฉีดฟิลเลอร์จึงอาจมีประโยชน์มากกับผู้ที่ต้องการลดเลือนริ้วรอย เติมเต็มร่องลึกบนใบหน้าและต้องการฟื้นฟูใบหน้าให้ดูอิ่มฟูมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยทำให้ใบหน้าแลดูอ่อนเยาว์สามารถใช้ฉีดผิวหนังบริเวณต่าง ๆ ได้ เช่น

    • ริมฝีปาก เพื่อช่วยให้ริมฝีปากดูอวบอิ่มมากขึ้น
    • ใต้ตา เพื่อช่วยให้ร่องใต้ตาที่ลึกดูตื้นขึ้น
    • คาง เพื่อช่วยเสริมให้คางที่สั้นดูยาวขึ้น
    • แผลเป็น เพื่อช่วยปรับปรุงลักษณะของแผลเป็นให้ดูตื้นขึ้น
    • กรอบหน้า เพื่อช่วยเติมรูปหน้าเพื่อปรับให้ดูสมมาตรมากขึ้น

    ประเภทของฟิลเลอร์

    ฟิลเลอร์ อาจเป็นสารที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติในร่างกายของมนุษย์หรืออาจเป็นสารสังเคราะห์ที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยฟิลเลอร์มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ดังนี้

    • กรดไฮยาลูโรนิก เป็นกรดที่เกิดขึ้นในผิวตามธรรมชาติ ช่วยเติมเต็มให้ผิวดูอิ่มเอิบและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ซึ่งผลลัพธ์หลังฉีดฟิลเลอร์ประเภทนี้อาจคงอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี
    • แคลเซียมไฮดรอกซีอะพาไทต์ เป็นสารประกอบที่มีลักษณะคล้ายกับแร่ธาตุที่พบในกระดูก ช่วยเติมเต็มร่องลึกและริ้วรอย โดยผลลัพธ์หลังการฉีดฟิลเลอร์ประเภทนี้อาจคงอยู่ได้ประมาณ 1 ปี
    • กรดโพลิแลกติก เป็นสารที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างคอลลาเจน เพื่อช่วยลดเลือนริ้วรอยและร่องลึกบนใบหน้า ซึ่งผลลัพธ์หลังการฉีดฟิลเลอร์ประเภทนี้อาจคงอยู่ประมาณ 2 ปี หรือมากกว่า
    • โพลีเมทิลเมทาคริเลต ไมโครสเฟียร์ เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้น ประกอบด้วยคอลลาเจนโมเลกุลขนาดเล็กมาก โดยการฉีดฟิลเลอร์ประเภทนี้อาจช่วยเติมเต็มให้ผิวดูอวบอิ่มและคงความเต่งตึง ผลลัพธ์หลังการฉีดอาจคงอยู่ประมาณ 2 ปี หรือมากกว่า

    อย่างไรก็ตาม การเลือกประเภทของฟิลเลอร์ที่ใช้ในการฉีดอาจขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอที่จะเลือกตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน

    ฉีดฟิลเลอร์ อยู่ได้นานแค่ไหน

    ระยะเวลาของผลลัพธ์หลังการฉีดฟิลเลอร์จะอยู่ได้นานแค่ไหนอาจขึ้นอยู่กับประเภทของฟิลเลอร์ บริเวณที่ทำการรักษาและปัจจัยทางสภาพร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งผลลัพธ์อาจคงอยู่ได้ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น นอกจากนี้ หากคุณหมอมีความชำนาญและฟิลเลอร์ที่ใช้ฉีดมีคุณภาพ ก็อาจยิ่งช่วยให้ผลลัพธ์หลังฉีดคงอยู่เป็นเวลานานขึ้น

    ข้อควรระวังในการฉีดฟิลเลอร์

    การฉีดฟิลเลอร์ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรง แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในบางคนได้ ดังนี้

    • ผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้หญิงที่ให้นมลูกไม่ควรฉีดฟิลเลอร์ หากต้องการฉีดฟิลเลอร์ควรรอจนกว่าจะสิ้นสุดการให้นมลูก
    • อาการชา ก่อนทำการฉีดฟิลเลอร์ คุณหมอจะฉีดยาชาเพื่อลดอาการเจ็บปวด ดังนั้น หลังการฉีดฟิลเลอร์ผู้ป่วยอาจมีอาการชาบริเวณที่ทำประมาณ 2-3 ชั่วโมง
    • ผิวบวม นูน เป็นก้อนขรุขระ เป็นผลข้างเคียงหลังฉีดที่จะหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป
    • รอยฟกช้ำ อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างใช้เข็มฉีดผ่านเส้นเลือดจนเกิดเป็นรอยฟกช้ำขึ้น ซึ่งมักจะหายไปเองภายใน 5-7 วัน
    • เส้นเลือดอุดตัน การฉีดฟิลเลอร์ที่ผิดพลาดอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อตาย และสารฟิลเลอร์อาจเข้าสู่เส้นเลือดดำที่เลี้ยงดวงตาจนอาจทำให้ตาบอดได้ จึงควรเข้ารับการฉีดฟิลเลอร์โดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญในคลินิกหรือสถานพยาบาลที่เชื่อถือได้
    • อาการแพ้ เช่น ผิวแดง บวม เจ็บปวด คัน ผื่น ระคายเคืองง่าย
    • การติดเชื้อ อาจเกิดขึ้นได้หากอุปกรณ์ที่ใช้ในการฉีดไม่สะอาดและมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค
    • ตุ่ม ก้อนบวมบนผิวหนัง มีหนองหรือน้ำเหลือง อาจเกิดขึ้นได้หลังจากผู้ป่วยมีอาการแพ้หรือติดเชื้อ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา