backup og meta

ตาตุ่มด้าน เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร

ตาตุ่มด้าน เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร

ตาตุ่มด้าน เป็นปัญหาผิวหนังที่แข็งและด้าน ซึ่งอาจเกิดจากร่างกายสร้างเซลล์ผิวเพิ่มมากขึ้น เพื่อปกป้องผิวชั้นในจากแรงเสียดสี แรงกดทับ หรือความระคายเคืองที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนอาจส่งผลให้ผิวบริเวณตาตุ่มมีสีเปลี่ยนไป แห้งเป็นขุย แข็งกระด้าง แต่ในบางกรณี อาจมีอาการเจ็บปวดหรือไวต่อการสัมผัสมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ อย่างไรก็ตาม การรักษาและป้องกันที่เหมาะสมอาจช่วยลดปัญหาตาตุ่มด้านได้

[embed-health-tool-heart-rate]

คำจำกัดความ

ตาตุ่มด้าน คืออะไร

ตาตุ่มด้าน คือ ภาวะที่ผิวหนังบริเวณตาตุ่มมีลักษณะหนาและแข็งขึ้น เนื่องจากแรงกดทับ แรงเสียดสี หรือความระคายเคือง มักไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด หรือทำให้ไวต่อการสัมผัสน้อยลง แต่ในบางคน ผิวบริเวณตาตุ่มอาจไวต่อความรู้สึกหรือเจ็บปวดมากขึ้นได้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุของอาการ จะได้รักษาได้ตรงจุดขึ้น

อาการ

อาการตาตุ่มด้าน

อาการตาตุ่มด้าน อาจมีดังนี้

  • ผิวหนังบริเวณตาตุ่มแห้งเป็นขุย หยาบกร้าน หนา และแข็งขึ้น
  • อาจไวต่อความรู้สึกมากขึ้นหรือน้อยลง และอาจเจ็บปวดที่ผิวหนัง
  • ผิวหนังบริเวณตาตุ่มอาจเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล สีแดง หรือหมองคล้ำลง
  • อาจมีแผลพุพอง

สาเหตุ

สาเหตุตาตุ่มด้าน

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดปัญหาตาตุ่มด้าน คือ แรงกดทับ แรงเสียดสี และความระคายเคืองที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่งผลให้ร่างกายปกป้องผิวชั้นในด้วยการสร้างผิวหนังให้แข็งและหนาขึ้น เพื่อรองรับแรงเสียดสีที่กระทบผิวหนัง นอกจากผิวหนังแข็งและหน้าขึ้นแล้ว ยังอาจหยาบกร้านมากขึ้นด้วย ซึ่งแรงกดทับ แรงเสียดสี และการระคายเคืองที่ทำให้ตาตุ่มด้าน อาจเกิดจากพฤติกรรมดังต่อไปนี้

  • การใส่รองเท้าไม่พอดี หลวมหรือคับแน่นเกินไป ไม่ใส่ถุงเท้าป้องกัน จนสร้างอาจแรงกดและแรงเสียดสีบริเวณตาตุ่ม
  • การทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่สร้างแรงกดหรือแรงเสียดสี โดยเฉพาะบริเวณตาตุ่ม
  • การนั่งขัดสมาธิบนพื้นที่หนาและแข็ง อาจเพิ่มแรงกดและเสียดสีได้

นอกจากนี้ อายุที่เพิ่มขึ้น ปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน หรือปัญหาเลือดไหลเวียนไปที่เท้าไม่ดี และพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง เช่น การสุบบุหรี่ ก็อาจส่งผลต่อความผิดปกติของการพัฒนาเซลล์ผิว หรืออาจเกิดจากความเสื่อมสภาพของเซลล์ผิวได้เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงตาตุ่มด้าน

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดตาตุ่มด้าน มีดังนี้

  • ตาตุ่มได้รับแรงกดหรือแรงเสียดสีบ่อยครั้ง
  • อายุที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ผิวหนังเสื่อมสภาพลงได้
  • โรคเบาหวาน การไหลเวียนเลือดไม่ดี
  • การสูบบุหรี่

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยตาตุ่มด้าน

การวินิจฉัยตาตุ่มด้าน คุณหมออาจซักประวัติสุขภาพของผู้ป่วย และตรวจสอบเท้าเพื่อหาสาเหตุของผิวหนังด้านและแข็ง และอาจเอ็กซเรย์เพิ่มเติม หากเป็นความผิดปกติทางกายภาพ

การรักษาตาตุ่มด้าน

การรักษาผิวตาตุ่มด้านและแข็งโดยคุณหมอ

วิธีที่คุณหมอใช้รักษาผิวตาตุ่มด้านและแข็ง อาจมีดังนี้

  • รักษาด้วยกรดไซลิก (Salicylic Acid)

เป็นการรักษาเพื่อสลายโปรตีนและเคราตินที่ทำให้ผิวหนังแข็งและด้าน เมื่อกรดทำปฏิกิริยา อาจทำให้ผิวหนังอ่อนนุ่มขึ้นและสามารถขัดหรือตัดผิวหนังที่ตายแล้วออกได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ การรักษาด้วยกรดไซลิกควรอยู่ในความดูแลของคุณหมอ เพราะบางคนอาจมีอาการแพ้รุนแรง เช่น ปวดหัวรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย หน้ามืด หายใจลำบาก ผิวหนังระคายเคือง นอกจากนี้ อาจส่งผลเสียต่อผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจทำให้เกิดปัญหาผิวที่รักษายากตามมาได้

การดูแลรักษาตาตุ่มด้านด้วยตนเอง

วิธีรักษาปัญหาตาตุ่มด้านด้วยตัวเอง อาจมีดังนี้

  • ใช้เกลือเอปซอม (Epsom Salts) อาจทำให้ผิวหนังแข็งที่ตาตุ่มนุ่มลงได้ และง่ายต่อการขัดหรือตะไบออก โดนใช้เกลือเอปซอม 1 กำมือ ผสมลงในน้ำอุ่น จากนั้นแช่ตาตุ่ม 10 นาที ผิวหนังจะอ่อนนุ่มลง
  • หินภูเขาไฟและตะไบ หลังจากการแช่ตาตุ่มด้วยน้ำเกลือ สามารถใช้หินภูเขาไฟหรือตะไบ ขัดวนบริเวณตาตุ่มเบา ๆ เพื่อขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออก และควรใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
  • ป้องกันการเสียดสี ใช้อุปกรณ์ป้องกันแรงเสียดสีที่บริเวณตาตุ่ม เมื่อตาตุ่มไม่เกิดการเสียดสีจะทำให้ผิวหนังด้านและแข็งค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ
  • ครีมปรับสภาพผิว ใช้ครีมสูตรเข้มข้น หรือปิโตรเลียมเจลที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิว โดยทาบริเวณตาตุ่มทิ้งไว้ข้ามคืนหรืออาจใส่ถุงเท้าเพื่อกักเก็บความชุ่มชื้นร่วมด้วย
  • ครีมขัดผิว เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก ยูเรีย (Urea) หรือแอมโมเนียมแลคเตต (Ammonium Lactate) เพื่อกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวเก่า เมื่อเกิดเซลล์ผิวใหม่ ผิวหนังจะค่อย ๆ นุ่มขึ้น

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับตาตุ่มด้าน

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันและจัดการกับปัญหาตาตุ่มด้าน อาจทำได้ดังนี้

  • สวมรองเท้าที่ใส่สบาย ไม่คับจนเกินไป หลีกเลี่ยงรองเท้าที่แข็งและหนา เพราะอาจเพิ่มแรงเสียดสีที่ตาตุ่ม ทำให้ผิวบริเวณตาตุ่มด้านและแข็งได้
  • สวมถุงเท้าทุกครั้งก่อนใส่รองเท้าที่มีลักษณะปิดตาตุ่ม เพื่อป้องกันผิวบริเวณตาตุ่มเสียดสีกับรองเท้า
  • หลีกเลี่ยงการนั่งกับพื้นที่แข็งและหนา เพราะอาจทำให้เกิดแรงเสียดสีบริเวณตาตุ่มอย่างต่อเนื่อง
  • ทำความสะอาดเท้าทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณตาตุ่ม เพื่อฆ่าเชื้อโรค หรือแช่เท้าในน้ำอุ่นประมาณ 5-10 นาที และขัดผิวเพื่อผลัดเซลล์ผิวเก่าออก
  • เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวบริเวณตาตุ่มด้วยครีมบำรุงเท้า จะช่วยให้ผิวนุ่มขึ้น
  • ไม่ควรใช้มีดหรือกรรไกรตัดเล็บตัดผิวหนังแข็งออกเอง เพราะอาจทำให้เกิดแผลติดเชื้อได้
  • หากผิวบริเวณตาตุ่มแข็งและหนาขึ้น หรือมีอาการเจ็บปวด ปรึกษาคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุและวิธีรักษาที่เหมาะสม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Callosity of ankles among people with the habit of sitting with crossed legs: a cosmetic problem. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4211519/. Accessed April 25, 2023.

All about corns and calluses. https://www.medicalnewstoday.com/articles/172459. Accessed April 25, 2023.

Corns and calluses. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/corns-and-calluses/symptoms-causes/syc-20355946. Accessed April 25, 2023.

Corns and calluses. Diagnosis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/corns-and-calluses/diagnosis-treatment/drc-20355951. Accessed April 25, 2023.

HOW TO TREAT CORNS AND CALLUSES. https://www.aad.org/public/everyday-care/injured-skin/burns/treat-corns-calluses. Accessed April 25, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/04/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ล้างหน้าด้วยน้ำเย็น มีประโยชน์ต่อผิวหน้า อย่างไร

ผิวลอก ผิวแห้ง สาเหตุ และวิธีการป้องกัน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 25/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา