backup og meta

ยาแก้แพ้ ผื่นคัน มีอะไรบ้าง และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/09/2023

    ยาแก้แพ้ ผื่นคัน มีอะไรบ้าง และควรดูแลตัวเองอย่างไร

    ยาแก้แพ้ ผื่นคัน เป็นยาที่มีคุณสมบัติช่วยต้านการหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ของโรคภูมิแพ้ เช่น ผื่นคัน ผื่นแดง บวม จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน โดยตัวยาอาจมีทั้งรูปแบบยาเม็ด ยาน้ำ ยาพ่นจมูก และยาหยอดตา เพื่อช่วยบรรเทาและรักษาอาการแพ้ที่เกิดขึ้นตามร่างกายอย่างตรงจุด

    ยาแก้แพ้ ผื่นคัน มีอะไรบ้าง

    การรักษาอาการแพ้ด้วยยาแก้แพ้ ผื่นคัน อาจรักษาด้วยยาได้หลายชนิด ดังนี้

  • ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) เช่น ลอราทาดีน (Loratadine) เซทิริซีน (Cetirizine) ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) คลีมาสทีน (Clemastine) เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) เดสลอราทาดีน (Desloratadine) ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) เลโวเซทิริซีน(Levocetirizine) ที่อาจช่วยรักษาอาการแพ้ บรรเทาอาการคัน จาม คัดจมูกและลดน้ำมูก ซึ่งมีทั้งรูปแบบรับประทาน พ่นจมูก และหยอดตา
  • ยากดภูมิคุ้มกัน มักใช้เมื่อรักษาด้วยยาแก้แพ้ไม่ได้ผล โดยคุณหมอจะสั่งจ่ายยาเพื่อกดการทำงานของภูมิคุ้มกันและป้องกันไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้และผื่นคัน
  • ยาต้านการอักเสบ ใช้สำหรับรักษาอาการลมพิษรุนแรงหรือภาวะแองจิโออีดีมา โดยคุณหมออาจสั่งจ่ายยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ชนิดรับประทาน หรือฉีดยา เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เพื่อบรรเทาอาการบวม การอักเสบ และอาการคัน
  • การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการแพ้ ผื่นคัน

    การดูแลสุขภาพผิวเมื่อมีอาการแพ้ ผื่นคันอาจทำได้ ดังนี้

    • ควรสังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่าอาการแพ้เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งใดมากระตุ้น เช่น อาหาร ยา ฝุ่น ควัน มลภาวะ เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ แมลงกัดต่อย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งเหล่านั้นเพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้
    • หากเกิดอาการแพ้ ผื่นคัน อาจบรรเทาอาการคันและระคายเคืองผิวด้วยการประคบเย็น โดยใช้ผ้าเย็นหรือผ้าห่อก้อนน้ำแข็งประคบบนผิวบริเวณที่เกิดอาการแพ้ ผื่นคัน และระคายเคืองประมาณ 2-3 นาที
    • อาบน้ำเย็นเพื่อให้ผิวเย็นสบายมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการคันและระคายเคืองได้
    • สวมเสื้อผ้าฝ้ายที่โปร่งสบาย ระบายอากาศได้ดี และไม่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อให้ผิวได้ระบายความร้อนและความชื้น ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองผิวได้
    • ปกป้องผิวจากแสงแดดด้วยการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 รวมถึงใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวเมื่อต้องออกไปเผชิญกับแสงแดดทุกครั้ง เพื่อป้องกันแสงยูวีทำร้ายผิวที่อาจทำให้ผิวระคายเคือง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/09/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา