backup og meta

วิธีแก้ผื่นคัน สาเหตุของผื่นคัน และการป้องกัน

วิธีแก้ผื่นคัน สาเหตุของผื่นคัน และการป้องกัน

ผื่นคัน คือ ตุ่มเม็ดเล็ก ๆ หรือปื้นแดงบนผิวหนังซึ่งอาจขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มและทำให้เกิดอาการคัน เกิดจากสาเหตุได้หลายประการ เช่น โรคผิวหนัง ความร้อน วิธีแก้ผื่นคัน ประกอบด้วยการทายาปฏิชีวนะ หรือยากลุ่มสเตียรอยด์ ขึ้นกับสาเหตุของผื่น เพื่อลดอาการอักเสบของผิวหนัง รวมถึงหลีกเลี่ยงสัมผัสกับวัตถุสิ่งของหรือสารเคมีบางอย่างซึ่งทำให้ผิวหนังระคายเคือง เช่น สบู่ที่มีฤทธิ์แรง เครื่องสำอาง สารบำรุงผิว โลหะ

[embed-health-tool-bmi]

ผื่นคันคืออะไร

ผื่นคัน หมายถึง ปัญหาผิวหนังชนิดหนึ่ง เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยผื่นคันสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า และมีอาการดังนี้

  • เป็นตุ่มเล็ก ๆ บนผิวหนัง
  • ผิวลอกและอาจเป็นขุยเล็ก ๆ สีขาว
  • ผิวหนังเป็นรอยปื้นแดง
  • มีอาการคัน
  • หากเกาอาจกลายเป็นแผลพุพองได้

สาเหตุของผื่นคัน

ผื่นคันมักเป็นอาการของโรคผิวหนัง อาทิ

  • โรคผิวหนังอักเสบ เป็นโรคที่พบได้ทั่วไป หรืออาจพบผู้ป่วยผิวหนังอักเสบ 1 คนในผู้ใหญ่ 50 คน เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการติดเชื้อแบคทีเรีย การสัมผัสกับสิ่งของหรือสารเคมีซึ่งทำให้ผิวหนังแพ้หรือระคายเคืองจนเกิดเป็นผื่นคัน เช่น เครื่องสำอาง สบู่ฤทธิ์แรง เกสรดอกไม้ รวมทั้งการแพ้มลภาวะ ฝุ่นละอองต่าง ๆ นอกจากนี้ภาวะผิวแห้ง หรือมีโรคประจำตัว เช่น ตับ หรือไต ทำให้มีผิวหนังอักเสบ แดง ลอก คันได้
  • โรคลมพิษ เป็นโรคผิวหนังที่พบในคนไทยร้อยละ 15-20 เกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ การแพ้อาหาร พิษจากแมลง ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ผื่นคันเนื่องจากโรคลมพิษอาจเป็นไม่เกิน 28 ชั่วโมงแล้วหายไป หรือเป็นแบบเรื้อรังเกิน 6 สัปดาห์ ควรได้รับการตรวจโดยคุณหมอเพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้อง
  • โรคสังคัง เกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) โดยผู้ป่วยจะมีอาการคันพร้อมผื่นแดงบริเวณขาหนีบ อวัยวะเพศ หรือบั้นท้าย ทั้งนี้ โรคสังคังมักพบในผู้ที่มีเหงื่อออกมาก นักกีฬา รวมถึงบุคคลที่สวมกางเกงชั้นในรัดแน่นและอับชื้นซึ่งทำให้เชื้อราเติบโตได้ดี
  • โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุแน่ชัด เจอในอัตราร้อยละ 1-2 ของคนไทย ผู้ป่วยจะมีผิวหนังที่เพิ่มจำนวนและหนาอย่างผิดปกติและตกสะเก็ดเป็นสีขาวหรือเหลือง เกิดร่วมกับผื่นแดง ผื่นคัน ผิวลอก อาจเจ็บบริเวณผื่นได้

นอกจากผื่นคันจะเป็นอาการหนึ่งของโรคผิวหนังชนิดต่าง ๆ ผื่นคันยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้

  • ความร้อน เนื่องจากความร้อนทำให้เหงื่อออกมาก กระทั่งต่อมเหงื่ออาจอุดตัน ส่งผลให้เกิดผดผื่นหรือผื่นคัน ทั้งนี้ ผื่นจากความร้อนมักพบในผู้ที่อาจแต่งกายมิดชิดหรือสวมเสื้อผ้าเนื้อหนาเกินไป รวมถึงผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนักหรือใช้แรงงานกลางแจ้งจนทำให้เหงื่อออกมากและไม่เปลี่ยนเสื้อผ้าในทันที
  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นยาต้านการอักเสบ การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือใช้เกินคำแนะนำของคุณหมอ สามารถทำให้ผิวหนังบาง หลอดเลือดฝอยขยาย และเกิดผื่นคันขึ้นได้
  • โรคอื่น ๆ ผื่นคันอาจเป็นอาการของโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรคผิวหนัง อาทิ โรคหัด โรคมือเท้าปาก โรคไข้อีดำอีแดง

วิธีแก้ผื่นคัน

วิธีแก้ผื่นคัน ทั้งที่เป็นอาการของโรคผิวหนังและเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ สามารถรักษาได้ ดังนี้

  • ลดการคันหรืออักเสบ ด้วยการทาครีมหรือยาใช้ภายนอก ซึ่งมียาสเตียรอยด์หรือยาคาลาไมน์ (Calamine) เป็นส่วนประกอบ
  • กำจัดเชื้อโรค ในกรณีผื่นคันเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา คุณหมอจะจ่ายาต้านเชื้อให้คนไข้ ในรูปแบบของครีมหรือยาสำหรับรับประทาน
  • บรรเทาอาการปวด บางครั้ง ผื่นคันอาจเกิดพร้อมกับอาการปวด อย่างในกรณีของโรคสะเก็ดเงิน โดยวิธีแก้ผื่นคัน คือรับประทานยาแก้ปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ตามคำแนะนำของคุณหมอ และไม่ควรรับประทานเกินระยะเวลาที่แนะนำ เพื่อหลีกเลี่ยงผลค้างเคียงไม่พึงประสงค์ อย่างอาการปวดหัวหรือคลื่นไส้
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี เพื่อป้องกันการเกิดต่อมเหงื่ออุดตันและผื่นคันลุกลามรวมทั้งเพื่อช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคสังคังเพราะความอับชื้นของชั้นใน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสวัตถุหรือสารที่ทำให้เกิดผื่นคัน เพื่อป้องกันผื่นคันเกิดซ้ำ หรือผื่นคันลุกลามเพราะอาจทำให้กลายเป็นปัญหาผิวหนังที่รุนแรงกว่าเดิม
  • อาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ และหลีกเลี่ยงการอาบน้ำด้วยน้ำร้อนหรือเย็นเกินไป เนื่องจากเป็นสาเหตุให้ผิวแห้งจนผิวหนังอักเสบหรือระคายเคืองจนเกิดผื่นคันได้
  • หลีกเลี่ยงการเกา เพราะจะทำให้ผื่นคันระคายเคืองมากขึ้น และอาจนำไปสู่การติดเชื้อได้

วิธีป้องกันผื่นคัน

ผื่นคันสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • ทาครีม โลชั่น หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของมอยเจอร์ไรเซอร์หลังอาบน้ำ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิว
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน หรือการแช่อยู่ในอ่างอาบน้ำนานเกิน 10 นาที เพราะอาจทำให้ผิวแห้งจนเกิดผื่นคันได้
  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ และรักษาความชุ่มชื้นของผิว
  • เลือกใช้สบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่อ่อนโยนต่อผิวหนัง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Itchy skin (pruritus). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/itchy-skin/diagnosis-treatment/drc-20355010. Accessed March 11, 2022

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis). https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=967. Accessed March 11, 2022

ลมพิษ (URTICARIA).
https://www.rama.mahidol.ac.th/med/sites/default/files/public/pdf/medicinebook1/URTICARIA.pdf. Accessed March 11, 2022

Atopic dermatitis (eczema). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/atopic-dermatitis-eczema/diagnosis-treatment/drc-20353279. Accessed March 11, 2022

Side effects of ibuprofen. https://www.nhs.uk/medicines/ibuprofen-for-adults/side-effects-of-ibuprofen/. Accessed March 11, 2022

Dermatitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dermatitis-eczema/diagnosis-treatment/drc-20352386. Accessed March 11, 2022

Heat rash. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heat-rash/diagnosis-treatment/drc-20373282. Accessed March 11, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/06/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผื่นกุหลาบ อาการ สาเหตุ และการรักษา

ผื่นลมพิษในขณะตั้งครรภ์


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 23/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา