แผลอักเสบ เป็นแผลที่เกิดขึ้นเมื่อผิวหนังได้รับบาดเจ็บการขีดข่วน การเจาะ การบาดหรือรอยถลอก โดยอาจมีการติดเชื้อร่วมด้วย จนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานเพื่อต้านเชื้อโรคและช่วยสมานแผล จึงอาจส่งผลให้แผลมีอาการบวม แดง มีหนอง เจ็บปวดมาก รวมถึงอาจมีอาการอ่อนล้า อ่อนเพลีย และมีไข้ ซึ่งหากไม่รักษาอย่างเหมาะสมแผลอักเสบที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานอาจกลายเป็นแผลเรื้อรัง การอักเสบกระจายลงลึกกว่าชั้นผิวหนังตอนแผลหาย อาจเกิดแผลเป็นขนาดใหญ่หรือเป็นคีลอยด์ได้
[embed-health-tool-bmi]
แผลอักเสบ เป็นอย่างไร
แผลอักเสบ คือ แผลเปิดที่มีอาการบวมแดง เจ็บปวด แสบร้อน แผลมีสีเปลี่ยนไป มีปื้นบวมแดงเกิดขึ้นรอบแผล มีหนอง และอาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ ไม่สบายตัวร่วมด้วย ซึ่งแผลอักเสบมักเกิดขึ้นเมื่อผิวหนังภายนอกมีการบาดเจ็บ เช่น มีดบาด รอยถลอก การเจาะผิวหนัง ร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรียส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานเพื่อต้านการติดเชื้อจนเกิดการอักเสบขึ้น
โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวจะปล่อยสารเคมีหลายชนิด เช่น ฮอร์โมนแบรดีไคนิน (Bradykinin) ฮีสตามีน (Histamine) ที่ช่วยให้หลอดเลือดขนาดเล็กขยายตัว และทำให้เลือดไปถึงเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บได้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้บริเวณแผลอักเสบจึงเปลี่ยนเป็นสีแดง เจ็บปวด และแสบร้อนมากขึ้น จนเกิดเป็นกระบวนการสมานแผล เมื่อเวลาผ่านไปแผลอักเสบจะเริ่มบวมขึ้นเนื่องจากเซลล์ภูมิคุ้มกันเข้าสู่เนื้อเยื่อที่อักเสบมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นหนองไหลออกมาจากแผล ซึ่งมีประโยชน์ในการช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว
แผลอักเสบส่งผลต่อสภาพผิวหนังอย่างไร
แผลอักเสบที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานหรือมากกว่า 4 สัปดาห์ และเป็นแผลที่มีขนาดใหญ่ ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม หรือเป็นแผลที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพซึ่งทำให้แผลหายช้า เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน อาจทำให้แผลมีการติดเชื้อมากขึ้นจนกลายเป็นแผลเรื้อรังลามลงลึกรวมถึงอาจทำให้เกิดแผลเป็นขนาดใหญ่หรือเป็นคีลอยด์ได้
การดูแลรักษาเมื่อเป็นแผลอักเสบ
เมื่อเป็นแผลอักเสบควรดูแลรักษาแผลเป็นประจำทุกวันจนกว่าแผลจะหายสนิท ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
- เมื่อเป็นแผลควรล้างแผลทันทีเพื่อป้องกันการอักเสบและติดเชื้อ โดยควรกำจัดเอาสิ่งสกปรกต่าง ๆ ออกจากแผลให้หมด จากนั้นเปิดน้ำสะอาดไหลผ่านแผล เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์หรือโพวิโดนไอโอดีน แล้วล้างผิวรอบ ๆ แผลด้วยสบู่เพื่อล้างเชื้อแบคทีเรีย
- หากแผลอักเสบมีขนาดเล็กให้ทำความสะอาดแผลเป็นประจำทุกวันด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียในแผล จากนั้นปิดแผลด้วยผ้าพันแผลเพื่อป้องกันเชื้อเข้าแผล
- ควรเปลี่ยนผ้าพันแผลเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หรือเมื่อผ้าพันแผลสกปรก โดยทำตามขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้น
- หากแผลอักเสบมีขนาดใหญ่หรือมีอาการอื่น ๆ เช่น บวม แดง มีหนองมาก ปวดมาก ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการระบายหนอง และคุณหมออาจจำเป็นต้องกำจัดเนื้อเยื่อตายบางส่วนออก จากนั้นใส่ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียในแผล หรือจ่ายยากิน และอาจจำเป็นต้องไปล้างแผลที่โรงพยาบาลทุกวันจนกว่าแผลจะหายสนิท
- ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาหากไม่เคยฉีดวัคซีนกันบาดทะยัก ควรเข้ารับการฉีดเพื่อป้องกันบาดทะยัก ถ้าหากเป็นแผลสกปรกปนเปื้อนจากภายนอก