backup og meta

คีลอยด์ คืออะไร สาเหตุ วิธีรักษา และวิธีป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 22/06/2022

    คีลอยด์ คืออะไร สาเหตุ วิธีรักษา และวิธีป้องกัน

    คีลอยด์ (Keloid) หรือแผลเป็นนูน คือ รอยแผลเป็นลักษณะเป็นก้อนนูน แข็ง สีแดง สีชมพู หรือมีสีเข้มกว่าสีผิวส่วนอื่น มักเกิดขึ้นทับรอยแผลเป็นเดิมที่หายดีแล้ว และมีขนาดใหญ่กว่ารอยแผลเป็นเดิม พบมากในคนอายุ 10-30 ปี คีลอยด์เกิดจากความผิดปกติในกระบวนการสมานแผล โดยปกติ หลังเกิดแผลบนร่างกาย ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นแทนเนื้อเยื่อเดิมที่เสียหาย แต่หากเนื้อเยื่อบริเวณแผลเป็นเจริญเติบโตผิดปกติ ไม่ว่าแผลจะมีขนาดเล็กแค่ไหน ก็อาจกลายเป็นคีลอยด์ได้ คีลอยด์ไม่สามารถรักษาให้หายถาวรได้ แต่สามารถไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาให้คีลอยด์มีขนาดเล็กและจางลงกว่าเดิมได้

    คีลอยด์ เกิดจากอะไร

    คีลอยด์ เกิดจากความผิดปกติในกระบวนการสมานแผลของร่างกาย โดยปกติแล้ว เมื่อเกิดแผล ร่างกายจะสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อผิวหนังใหม่ขึ้นมาทดแทนส่วนที่เสียหาย แต่หากร่างกายผลิตคอลลาเจนเพื่อสมานแผลมากเกินไป อาจส่งผลให้เซลล์และเนื้อเยื่อผิวหนังเจริญเติบโตผิดปกติ จนแผลที่หายแล้วกลายเป็นแผลนูนขึ้นมา และรอยแผลอาจขยายใหญ่ขึ้น สามารถพบได้บนผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย เช่น ติ่งหู หน้าอก แขน ไหล่ หลัง ขา มักเกิดจากการเจาะหู เป็นสิว เป็นอีสุกอีใส เป็นต้น คีลอยด์มักมีลักษณะเป็นแผ่นเรียบนูน มันเงา ไม่มีขน อาจมีสีเข้มกว่าผิวหนังโดยรอบ หรือเป็นสีแดง ชมพูอ่อน ในช่วงแรกอาจมีสีแดง สีม่วงเข้ม และอาจกลายเป็นสีน้ำตาลหรือสีซีดลงเมื่อเวลาผ่านไป และอาจเกิดขึ้นซ้ำได้แม้จะผ่าหรือจี้ออกไปแล้ว และขนาดอาจใหญ่ขึ้นหรือมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย โดยทั่วไปไม่เป็นอันตราย แต่อาจสร้างความรำคาญใจหรือทำให้รู้สึกเจ็บได้บ้างเมื่อเกิดการเสียดสี ในบางกรณี คีลอยด์อาจทำให้รู้สึกเจ็บและระคายเคืองผิวได้

    วิธีการรักษาแผลคีลอยด์

    คีลอยด์อาจไม่สามารถหายไปอย่างถาวร แต่วิธีเหล่านี้อาจช่วยให้คีลอยด์ดูจางลงได้

    • แผ่นซิลิโคนเจลและผ้าพันแผล สำหรับผู้ที่มีเพิ่งมีคีลอยด์บนผิวหนังจากการผ่าตัดหรือบาดเจ็บทั่วไป ให้นำแผ่นผ้ายืดมาพันรอบบริเวณแผล เพื่อกดกระชับแผลที่กำลังหาย อาจช่วยให้แผลเป็นนิ่มและเรียบ และป้องกันไม่ให้แผลนูนหนา โดยควรพันเอาไว้เป็นเวลาประมาณ 12-24 ชั่วโมง หรืออาจใช้แผ่นซิลิโคนเจลปิดบริเวณคีลอยด์เพื่อช่วยลดรอยนูน ทำให้แผลราบลงและนุ่มขึ้น
    • ยาฉีดสเตียรอยด์ หากคีลอยด์มีขนาดเล็ก คุณหมออาจแนะนำให้รักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์ เช่น คอร์ติโซน (Cortisone) เพื่อลดความนูนของแผล อาจต้องฉีดติดต่อกันทุกเดือนอย่างน้อย 6 เดือน ถึงจะทำให้คีลอยด์ยุบลง ทั้งนี้ การฉีดยาสเตียรอยด์อาจทำให้ผิวบางลงได้
    • การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นวิธีที่ปลอดภัยและนิยมใช้ในการรักษาโรคทางผิวหนัง เหมาะสำหรับคีลอยด์ขนาดเล็ก คุณหมออาจรักษาด้วยการจี้เย็นด้วยไนโตรเจนเหลว ทำให้คีลอยด์มีขนาดเล็กลงและเรียบไปกับผิวหนังมากขึ้น วิธีนี้อาจต้องทำหลายครั้งจนกว่าคีลอยด์จะจางลง
    • การรักษาด้วยเลเซอร์ เป็นการยิงแสงเลเซอร์ที่คีลอยด์เพื่อช่วยให้คีลอยด์เรียบเนียนไปกับผิว ช่วยลดอาการคัน และปรับสภาพผิวให้รอยจางลง วิธีนี้อาจต้องทำหลายครั้ง อาจใช้เวลาอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ คีลอยด์จึงจะเริ่มจางลงจนสังเกตได้ชัด คุณหมออาจแนะนำให้รักษาด้วยเลเซอร์ควบคู่กับการฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
    • การรักษาด้วยรังสี การฉายรังสีเพื่อรักษาคีลอยด์และการฉายรังสีหลังผ่าตัดนำคีลอยด์ออก อาจช่วยให้รอยและเนื้อเยื่อส่วนเกินยุบตัว วิธีนี้อาจต้องทำหลายครั้งกว่าคีลอยด์จะจางลงจนสังเกตเห็นได้
    • การผ่าตัด หากรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล คุณหมออาจแนะนำให้รักษาคีลอยด์ด้วยการผ่าตัด ทั้งนี้ อาจเกิดคีลอยด์ซ้ำได้อีกบริเวณแผลที่ผ่าตัดใหม่

    วิธีป้องกันไม่ให้เกิด คีลอยด์

    วิธีป้องกันไม่ให้เกิดคีลอยด์ อาจมีดังนี้

    • หลังเกิดบาดแผลควรล้างแผลด้วยสบู่และน้ำเปล่าโดยเร็วที่สุด เพื่อชำระลิ่มเลือด สิ่งแปลกปลอม เป็นต้น ที่อาจอยู่ในแผล การทำให้แผลสะอาดช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลเป็นได้ ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) และไอโอดีนในการล้างแผล เพราะอาจทำให้แผลแห้งเกินไป
    • เมื่อเกิดบาดแผล ร่างกายเข้าสู่กระบวนการสมานแผล โดยการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ซ่อมแซมและประสานเนื้อเยื่อผิวหนังเข้าด้วยกัน กระบวนการนี้อาจทำให้เกิดอาการคันได้ การใช้ครีมคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) อาจช่วยลดอาการคัน และช่วยลดปริมาณเนื้อเยื่อแผลเป็นใต้ผิวหนังได้
    • ไม่ควรให้แผลโดนแสงแดด และทาครีมกันแดดทุกวันหลังแผลหายแล้ว เนื่องจากรังสียูวีเอ (UVA) ในแสงแดดอาจทำให้รอยแผลเป็นที่ปิดสนิทแล้วคล้ำและหนานูนขึ้นได้
    • หลังเจาะหู หากพบอาการผิดปกติ เช่น ผิวหนังบริเวณที่เจาะหูนูนแข็งขึ้น ควรถอดต่างหูออกก่อน และใช้ต่างหูแบบหนีบแทน อย่างน้อย 12-20 ชั่วโมง/วัน เป็นเวลา 4-6 เดือน วิธีนี้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดแผลนูนบริเวณที่เจาะหูได้ สำหรับผู้ที่เคยเจาะหูแล้วเกิดคีลอยด์ อาจต้องหลีกเลี่ยงการเจาะหูเพิ่ม เพราะมีความเสี่ยงในการเกิดคีลอยด์มากกว่าปกติ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 22/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา