backup og meta

ทำจมูก ระยะเวลาฟื้นตัว และการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 31/07/2023

    ทำจมูก ระยะเวลาฟื้นตัว และการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด

    การ ทำจมูก เป็นการผ่าตัดทำศัลยกรรมซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน ผู้สนใจทำจมูกควรศึกษาข้อดี ข้อเสีย ความน่าเชื่อถือของสถานบริการและศัลยแพทย์ที่จะผ่าตัด ตลอดจนอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการทำจมูก ควรปรึกษาศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียดเพื่อให้ได้รูปทรงจมูกที่เหมาะสม และวิธีการเสริมจมูกที่เหมาะกับลักษณะจมูกของแต่ละคนมากที่สุด โดยทั่วไปจะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 7-14 วัน นอกจากนี้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของศัลยแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้อย่างรวดเร็ว

    ทำจมูก คืออะไร

    การทำจมูกเป็นการศัลยกรรมตกแต่งรูปแบบหนึ่งเพื่อเปลี่ยนรูปร่างและขนาดจมูก โดยส่วนใหญ่หลายคนเลือกทำจมูกเพื่อจุดประสงค์ในการเสริมความงาม ในขณะที่บางคนอาจทำจมูกเพื่อปรับโครงสร้างของจมูกตามคำแนะนำของศัลยแพทย์เพื่อช่วยให้มีช่องลมในการหายใจให้สะดวกยิ่งขึ้น โดยศัลยแพทย์จะใช้ซิลิโคนหรือวัสดุอื่น ๆ เช่น เนื้อเยื่อเทียม นอกจากนี้ยังมีการใช้เนื้อเยื่อไขมันหรือส่วนของร่างกาย เช่น กระดูกอ่อนหลังหู กระดูกอ่อนซี่โครง กระดูกอ่อนในโพรงจมูก ในการเสริมให้จมูกมีรูปทรงตามที่ต้องการ

    ประเภทของการทำจมูก

    การทำจมูกอาจแบ่งประเภทหลัก ๆ ได้ 2 รูปแบบ ดังนี้

    • การทำจมูกแบบปิด ถือเป็นการผ่าตัดเล็ก ศัลแพทย์จะกรีดแผลเพื่อแยกผิวหนังออกจากกระดูกอ่อนแล้วปรับแต่งรูปร่างของจมูกใหม่โดยไม่ปรับโครงสร้างของกระดูกอ่อน มีความซับซ้อนน้อยกว่าการทำจมูกแบบเปิด แผลมีขนาดเล็กทำให้ฟื้นตัวได้เร็วกว่า แต่จะได้ทรงจมูกที่ไม่พุ่งเท่ากับอีกแบบหนึ่ง
    • การทำจมูกแบบเปิด ถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ ศัลยแพทย์ทำการเปิดแผลบริเวณใต้ฐานจมูกเพื่อแยกผิวจมูกออกจากกระดูกและกระดูกอ่อนไปจนถึงแกนจมูก ซึ่งจะช่วยให้ศัลยแพทย์เห็นลักษณะทางกายวิภาคของจมูกได้อย่างชัดเจน สะดวกต่อการแก้ไขความผิดปกติและปรับแต่งโครงสร้างให้เข้ารูปอย่างได้สัดส่วน วิธีนี้ใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าแบบแรก

    ระยะการพักฟื้นหลังทำจมูก

    ระยะการพักฟื้นหลังทำจมูก อาจใช้เวลานานถึง 2 สัปดาห์ และอาจใช้เวลาหลายเดือนก่อนที่จะเห็นผลลัพธ์หลังผ่าตัด โดยอาจใช้เวลานานถึง 6 เดือนกว่าทรงจมูกจะเข้าที่อย่างสมบูรณ์ 

    • สัปดาห์แรกหลังทำจมูก เป็นช่วงที่คุณหมอจะนัดหมายไปตัดไหมออก โดยช่วงนี้สามารถนำเฝือกอ่อนตรงจมูกออกได้แล้ว ช่วงนี้จมูกจะบวมกว่าปกติแต่จะค่อย ๆ ยุบตัวลง
    • 3 สัปดาห์หลังทำจมูก รอยฟกช้ำและอาการบวมแดงบริวเณใบหน้าอาจจางลง และสามารถว่ายน้ำได้ตามปกติ
    • 4-6 สัปดาห์หลังทำจมูก สามารถทำกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายหนัก ๆ ได้แล้ว

    อาการข้างเคียงของการทำจมูก

    หลังการทำจมูกอาจมีอาการข้างเคียงบางประการ เช่น

    ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย

    • จมูกตัน ซึ่งอาจทำให้ต้องหายใจทางปากประมาณ 1 สัปดาห์
    • จมูกแข็งและชา
    • อาการบวม ปวด รอยช้ำแดงบริเวณรอบดวงตา ประมาณ 3 สัปดาห์
    • เลือดกำเดาไหลทางจมูกในช่วง 2-3 วันแรก

    ในบางกรณี อาจพบอาการผิดปกติ เช่น

  • ภาวะเลือดออกผิดปกติ
  • ลิ่มเลือด
  • การติดเชื้อ
  • อาการแพ้ยาชา เช่น ลิ้นบวม ปวดหัว หูอื้อ ชาต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • การดูแลตัวเองหลังทำจมูก

    หลังการทำจมูกควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ ซึ่งอาจช่วยให้ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้ดียิ่งขึ้น

    • ประคบเย็นบริเวณจมูกด้วยเจลเย็น ผ้าขนหนูเปียกแช่ช่องฟรีซ อาจช่วยลดอาการบวมแดงของจมูกได้ โดยควรประคบต่อเนื่องไป 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด
    • หลีกเลี่ยงการไปพื้นที่ที่ฝุ่นละอองหรือควันบุหรี่ การเป็นหวัด การสั่งน้ำมูก การจาม และหลีกเลี่ยงเข้าใกล้ผู้ที่กำลังป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อบริเวณจมูก
    • ดูแลแผลผ่าตัดด้วยการใช้สำลีชุบน้ำเกลือเช็ดทำความสะอาด
    • หลีกเลี่ยงการกินยาแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนและ 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด เพราะอาจทำให้เลือดไม่จับตัวกันจนไหลไม่หยุดในช่วงผ่าตัด
    • หลังผ่าตัดควรนอนหมอนสูง ๆ เพื่อให้ศีรษะยกสูงกว่าหน้าอก ซึ่งจะช่วยให้เลือดออกน้อยลงและลดอาการบวม
    • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก เช่น การเต้นแอโรบิก การวิ่งจ็อกกิ้ง การเล่นแบดมินตัน ประมาณ 4-6 สัปดาห์
    • งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลบริเวณจมูกสัมผัสน้ำอย่างน้อย 1 สัปดาห์
    • หากต้องไอหรือจามควรอ้าปากให้กว้าง ๆ เพื่อลดการกระทบกระเทือนบริเวณจมูก
    • ไม่ควรขยับใบหน้ามากเกินไป หลีกเลี่ยงการยิ้มหรือหัวเราะ
    • แปรงฟันเบา ๆ เพื่อไม่ให้ริมฝีปากบนขยับมากเกินไป
    • สวมเสื้อผ้าที่มีกระดุมมด้านบน หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อยืดหรือเสื้อผ้าที่ต้องถอดออกทางศีรษะที่อาจสัมผัสจมูก
    • กินอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ธัญพืชเต็มเมล็ด ถั่วชนิดต่าง ๆ เพื่อป้องกันการท้องผูก ซึ่งจะทำให้ต้องออกแรงเบ่งมากจนไปเพิ่มแรงดันบริเวณจมูก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 31/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา