ผดร้อน เป็นผื่นผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กทารกจนถึงผู้ใหญ่ ผดร้อนอาจขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่มีการสะสมของเหงื่อ เช่น รักแร้ ข้อพับ หลัง ใต้หน้าอก ข้อศอก เอว ขาหนีบ
คำจำกัดความ
ผดร้อน คืออะไร
ผดร้อน คือ ตุ่มสีแดงหรือสีชมพูที่ขึ้นบนผิวหนังเกิดจากท่อเหงื่ออุดตัน พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด แต่ผู้ใหญ่ก็อาจเกิดผดร้อนได้เช่นกันเมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ต่อมเหงื่อผลิตเหงื่อมากเกินไป ผดร้อนเป็นภาวะที่ไม่อันตราย แต่อาจทำให้ใช้ชีวิตประจำวันไม่สะดวก เนื่องจาก ผดร้อนอาจทำให้เกิดการระคายเคืองไปจนถึงอาการคันขั้นรุนแรง
ประเภทของผดร้อนที่เกิดขึ้นบนผิวหนังอาจมีลักษณะแตกต่างกัน ดังนี้
- ผดร้อนชนิดตุ่มแดง (Miliaria Rubra) สังเกตได้จากอาการคันและมีตุ่มสีแดงขึ้นตามผิวหนัง
- ผดร้อนชนิดตุ่มใส (Miliaria Crystallina) เกิดขึ้นจากต่อมท่อเหงื่อของผิวหนังชั้นบนสุดอุดตัน ก่อให้เกิดตุ่มที่มีของเหลวใสที่แตกออกง่าย บางคนอาจมีเลือดออกร่วมด้วย
- ผดร้อนชนิดตุ่มหนอง (Miliaria Pustulosa) หากผดร้อนชนิดตุ่มแดงอักเสบเนื่องจากผิวหนังชั้นลึกอุดตันอาจพัฒนาไปเป็นผดร้อนชนิดตุ่มหนอง
- มิเลียเรีย โพรฟันดา (Miliaria Profunda) เป็นผดร้อนเกิดจากเหงื่อที่อุดตันภายในผิวหนังชั้นหนังแท้ ส่งผลให้เกิดตุ่มผิวหนังนูนคล้ายเวลาเกิดอาการขนลุก
อาการ
อาการผดร้อน
อาการของผดร้อนสามารถสังเกตได้จาก
- ตุ่มสีแดง หรือตุ่มใสขึ้นบริเวณผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย
- อาการคัน
- ผิวหนังบวม
- ผดร้อนอาจปรากฏบนผิวหนังประมาณ 2-3 วัน
หากผดร้อนเกิดขึ้นบนผิวหนังนานกว่า 3-4 วัน มีไข้ มีตุ่มหนอง ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบบวม มีผื่นสีแดงและม่วงเหมือนรอยฟกช้ำ ควรเข้ารับการรักษาท่วงที เพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรงที่ผิวหนัง
สาเหตุ
สาเหตุผดร้อน
สาเหตุที่ทำให้เกิดผดร้อนอาจมาจากต่อมเหงื่อบางส่วนอุดตัน จนไม่สามารถระบายเหงื่อออกจากชั้นผิวหนังได้ โดยปัจจัยที่อาจส่งผลให้ต่อมเหงื่ออุดตัน อาจมีดังนี้
- อากาศร้อน อากาศที่ร้อนอาจทำให้เหงื่อออกง่าย บางคนอาจมีเหงื่อออกมากจนนำไปสู่การอุดตันและเกิดผดร้อน
- ท่อเหงื่อยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กทารกแรกเกิดช่วงสัปดาห์แรก หรือทารกที่อยู่ในตู้อบเป็นเวลานาน เนื่องจาก ท่อเหงื่อยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ จึงอาจทำให้ไม่สามารถระบายเหงื่อออกมาบนผิวหนังได้
- การออกกำลังกาย การออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างหนัก อาจทำให้เหงื่อออกมากจนนำไปสู่การเกิดผดร้อน
- การนอนพักผ่อนเป็นเวลานาน ผดร้อนอาจเกิดขึ้นกับบุคคลที่นอนบนเตียงเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียง
- พฤติกรรมที่เพิ่มอุณหภูมิในร่างกาย หากสวมใส่เสื้อผ้าหนาหลายชั้น อาจทำให้ร่างกายอบอุ่นหรือร้อน จนกระตุ้นการสร้างเหงื่อที่นำไปสู่การเกิดผดผื่น และอาการคัน
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดผดร้อน
ปัจจัยเสี่ยงทำให้ผดร้อนขึ้นบนผิวหนัง ได้แก่
- อายุ โดยเฉพาะทารกแรกเกิด เนื่องจากต่อมเหงื่อยังพัฒนาไม่เต็มที่
- ภูมิอากาศ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในสภาพอากาศร้อน อาจมีแนวโน้มเกิดผดร้อนบนผิวหนังมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในสภาพอากาศอบอุ่นหรือหนาวเย็น
- การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างหนัก เช่น การออกกำลังกาย การทำงาน หากใช้พลังงานในการเคลื่อนไหวมากอาจทำให้ร่างกายผลิตเหงื่อเพิ่มขึ้น ยิ่งหากสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อหนาหรือรัดตัว ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผดร้อน เพราะร่างกายไม่สามารถระบายเหงื่อได้
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยผดร้อน
หากมีอาการคันและมีผดร้อนมากขึ้น ควรเข้ารับการวินิจฉัยหาสาเหตุจากคุณหมอด้านผิวหนังทันที คุณหมออาจวินิจฉัยอาการที่เกิดขึ้นโดยการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์เก็บตัวอย่างของเหลวในตุ่มไปตรวจ
การรักษาผดร้อน
ปกติผดร้อนสามารถหายไปเองได้ภายในไม่กี่วัน แต่หากมีอาการคันที่ส่งผลให้ไม่สบายตัว คุณหมออาจสั่งจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการของผดร้อน ดังนี้
- ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone ) เพื่อช่วยบรรเทาอาการอักเสบ ที่อาจเหมาะกับผู้ที่มีอาการคันรุนแรง คาลาไมน์โลชั่น อาจช่วยบรรเทาอาการคันของผดร้อน
- ลาโนลิน แอนไฮดรัส (Anhydrous lanolin) เป็นน้ำมันที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ และอาจช่วยป้องกันการอุดตันของต่อมเหงื่อ ป้องกันการเกิดผดผื่นใหม่
นอกจากนี้ หากเกิดอาการคัน ไม่ควรเกาบริเวณที่ผดร้อนขึ้น ควรแตะหรือตบเบา ๆ และใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำ หรือห่อน้ำแข็งประคบบริเวณผดร้อนประมาณ 20 นาที เพื่อบรรเทาอาการคัน
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันผดร้อน
วิธีป้องกันผดร้อนขึ้นบนผิวหนังจนส่งผลให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง มีดังนี้
- อาบน้ำเย็น และไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้ารัดรูป หรือสวมเสื้อผ้าหลายชั้น เพราะอาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง ระบายเหงื่อได้ยาก ควรเลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย มีน้ำหนักเบา
- อยู่ในห้องที่มีอากาศหมุนเวียนดี และถ่ายเทสะดวก ไม่อบอ้าวหรือร้อน เช่น ในห้องปรับอากาศ ในห้องที่มีพัดลม
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ
[embed-health-tool-heart-rate]